หน้าแรก ‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน
‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน
27 ต.ค. 2565
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน

 

ขึ้นชื่อว่า ‘ทุเรียน’ ไม่ว่ารสชาติหวานมันกลมกล่อมแค่ไหน ไม่วายต้องส่ายหน้าเรื่องกลิ่นที่ฉุนรุนแรง แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ ‘ถ่านคาร์บอนกัมมันต์รูปทรงทุเรียนภูเขาไฟ’ นอกจากไม่มีกลิ่นกวนใจแล้ว ยังช่วย ‘ดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์และสารระเหยต่างๆ’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ของที่ระลึกรูปแบบใหม่ของชาวทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ไม่เพียงโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ของทุเรียนภูเขาไฟ ผลไม้ GI ของจังหวัด แต่ยังแฝงไปด้วย ‘เทคโนโลยีและนวัตกรรม’ ที่นำมาใช้แปรรูปของเหลือทิ้งในชุมชนให้กลับมามีมูลค่าและช่วยสร้างรายได้อีกครั้ง ผลงานการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือของระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน
ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน นาโนเทค สวทช.

 

ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน นาโนเทค สวทช.  เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์ถ่านคาร์บอนกัมมันต์ดูดซับกลิ่นที่พัฒนาเป็นรูปทรงทุเรียน’ มาจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษมีแนวคิดในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน และสนใจนำเศษชายผ้า และของเหลือทิ้งอื่นๆ มาแปรรูปเป็นของที่ระลึก โดยเน้นชูอัตลักษณ์เรื่องทุเรียนภูเขาไฟ เนื่องจากเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งในส่วนของ ‘ปูนปั้นรูปทรงเปลือกทุเรียน’ ออกแบบและพัฒนาโดยทีมนักศึกษาจากคณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผลิตจากพลาสติกเหลือทิ้งร่วมกับทราย ด้วย ‘เครื่องอัดรีดพลาสติกขนาดเล็ก’ สำหรับใช้ในชุมชน

ในส่วนของ ‘พูทุเรียน’ มีการออกแบบนำเศษผ้าทอศรีลำดวนที่เหลือใช้จากชุมชนมาตัดเย็บ ส่วนภายในบรรจุ ‘ถ่านคาร์บอนกัมมันต์เคลือบสารซิลเวอร์นาโน’ นวัตกรรมที่ผลิตจากไม้ไก่ย่างเหลือทิ้ง

 

‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน
ผลิตภัณฑ์ถ่านคาร์บอนกัมมันต์ดูดซับกลิ่นที่พัฒนาเป็นรูปทรงทุเรียน

 

ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เล่าว่า เริ่มแรกทางมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษมองหาวัสดุที่จะบรรจุภายในผ้าที่ตัดเย็บเป็นรูปทรงพูทุเรียน ทีมวิจัยจึงมองไปที่ถ่านคาร์บอนกัมมันต์ เพราะว่ามีต้นทุนพร้อมทั้งในเรื่อง ‘องค์ความรู้’ และ ‘วัตถุดิบ’ เนื่องจากนาโนเทคมีความเชี่ยวชาญและดำเนินการวิจัยพัฒนาวัสดุถ่านคาร์บอนกัมมันต์มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จังหวัดศรีสะเกษมีสินค้าขึ้นชื่อคือ ไก่ย่างกันทรารมย์และไก่ย่างไม้มะดัน ห้วยทับทัน ทำให้มีเศษไม้มะดันและไม่ไผ่เหลือทิ้งจำนวนมาก

 

‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน

 

‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน
ถ่านคาร์บอนกัมมันต์จากไม้ไก่ปิ้ง

 

“ทีมวิจัยนำไม้ไผ่และไม้มะดันมาผ่านกระบวนการเผาให้เป็นถ่านคาร์บอนกัมมันต์ ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม รวมทั้งเติมนาโนเทคโนโลยีด้วยการสังเคราะห์อนุภาคซิลเวอร์นาโน (เทคโนโลยีการสังเคราะห์เงินหรือซิลเวอร์ (Silver) ให้มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร) มาเทลงบนถ่านคาร์บอนกัมมันต์ ทำให้อนุภาคซิลเวอร์นาโนกระจายตัวไปยึดเกาะอยู่ตามรูพรุนบนผิวของถ่าน ช่วยเพิ่มสมบัติพิเศษของถ่านคาร์บอนกัมมันต์จากที่ดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้ดีแล้ว ยังกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และจุลินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ผู้ใช้สามารถนำผลิตภัณฑ์ถ่านคาร์บอนกัมมันต์เคลือบสารซิลเวอร์นาโนไปใส่ไว้ในรถยนต์ ห้องน้ำ หรือห้องทำงาน”

 

‘ทุเรียนดูดซับกลิ่น’ อัปไซเคิลจากไม้ไก่ปิ้งและเศษผ้าเหลือทิ้งจากชุมชน

 

ปัจจุบันทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. เริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีในเชิงสาธารณประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่สนใจ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขณะเดียวกันยังเตรียมขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถ่านคาร์บอนกัมมันต์สู่ระดับอุตสาหกรรม ภายใต้ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เล่าว่า ปัจจุบันทีมวิจัยได้รับทุนจาก บพข. ในการดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตถ่านคาร์บอนกัมมันต์รายใหญ่ของประเทศ เพื่อขยายผลเทคโนโลยีการผลิตถ่านคาร์บอนกัมมันต์จากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในโรงงานต้นแบบ (Pilot Scale) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ถ่านคาร์บอนกัมมันต์เชิงพาณิชย์ที่ผลิตได้เองในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากผลิตได้สำเร็จจะช่วยให้บริษัทเอกชนและภาคอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบถ่านคาร์บอนกัมมันต์สำหรับนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาสินค้าต่างๆ เช่น ไส้กรองน้ำ สารดักจับโลหะ การบำบัดน้ำเสีย การผลิตขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ซึ่งครอบคลุมทั้งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยา

“ส่วนชุมชนหรือหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจสามารถติดต่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ดังเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษร่วมกับนาโนเทคถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ผลิตทุเรียนถ่านคาร์บอนกัมมันต์ดูดซับกลิ่นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ซึ่งเทคโนโลยีการเผาถ่านคาร์บอนกัมมันต์ และการสังเคราะห์อนุภาคซิลเวอร์นาโน ทีมวิจัยสามารถออกแบบประยุกต์วิธีการผลิตให้ทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน”

นับได้ว่าเป็นการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาช่วยส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับอุตสาหกรรมและชุมชน ที่สำคัญยังเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งของชุมชนมาเพิ่มมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้และหนุนเสริมอัตลักษณ์อันเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น ตามแนวทางของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งหวังให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเอง ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

BCG Economy Model

 

แชร์หน้านี้: