หน้าแรก อว. ผนึก พม. ชูต้นแบบ ‘บางแคโมเดล’ ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรม ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมรับ ‘สังคมสูงวัย’ โดยสมบูรณ์ ปี 2564
อว. ผนึก พม. ชูต้นแบบ ‘บางแคโมเดล’ ใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรม ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมรับ ‘สังคมสูงวัย’ โดยสมบูรณ์ ปี 2564
22 ก.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(22 กันยายน 2563) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ร่วมแถลงข่าวผลงานความร่วมมือ การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลและให้บริการผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ(ศพส.)  นำร่องใช้ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ “บ้านบางแค” เป็นแห่งแรก หรือ “บางแคโมเดล” ก่อนขยายผลให้ครบทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ รองรับปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือ การมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปี ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวอาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค และทีมวิจัย สวทช. ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ถนนเพชรเกษม กรุงเทพฯ

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและมีแผนงานบูรณาการ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. และกรมกิจการผู้สูงอายุ ดำเนินงานร่วมกันมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตสังคมสูงวัย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการยกระดับการดูแลผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรมบริการที่เหมาะสมและเอื้อต่อการดำรงชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่ง ผลงานเหล่านี้มาจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานแนวทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุมาเป็นเวลานาน  ทรงสนับสนุนให้เกิดภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย (Thailand Biomedical Engineering Consortium) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558   ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 17 แห่งเพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือทางด้านการแพทย์เพื่อช่วยยกระดับเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย  นอกจากนี้ทรงมีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ทรงพระราชทานงบประมาณให้นักวิจัยได้คิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อนำไปใช้งานได้จริง  ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (i-CREATe) มาเป็นเวลากว่า 13 ปี มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกว่า 10 ประเทศ  ในงานประชุม มีนิสิต นักศึกษาไทยได้รับการคัดเลือกให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลเกือบทุกปี เป็นที่ชื่นชมของกรรมการและผู้เข้าชมงาน  นิสิต นักศึกษาเหล่านั้นได้ต่อยอดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดตั้งบริษัท Start up ได้ ทั้งนี้ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวก็ได้รับการคัดเลือกมาร่วมในการนำมาใช้งานที่บ้านบางแคแห่งนี้ด้วย  นอกจากนี้ สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการเพื่อผู้สูงอายุ และมีความร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ในการดำเนินการพัฒนาศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เป็นโครงการระยะนำร่องตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช.

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า สำหรับผลงานที่พัฒนาจาก สวทช. โดย ทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคทค) และ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุ มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ เป็นการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มสมองเสื่อม ระบบส่งเสริมสุขภาพและการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์การบันทึกการเคลื่อนไหวแบบไร้สาย เป็นการติดตามการเคลื่อนไหวและส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ อุปกรณ์ชุดตรวจวัดสุขภาพแบบพกพา (Portable Health Check Up) อุปกรณ์เครื่องตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติสำหรับผู้สูงอายุ (Health Check Up Kiosk for Elderly Persons) และ อุปกรณ์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลงานจาก ศูนย์วิจัยเพื่อการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยจำนวน 2 รายการ ได้แก่ เครื่องฝึกเดินแบบเคลื่อนที่ได้ (Space walker) อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน และเครื่องออกกำลังกายและฟื้นฟู (Sit to Stand Trainer) นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายลุก – นั่ง ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายด้วยตัวเอง

  

“ปี 2563 ได้นำร่องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางแคเป็นแห่งแรก โดยหวังให้เป็น “บางแคโมเดล” ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร อาทิ การใช้เทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและระบบเครือข่ายสำหรับระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ และ ระบบส่งเสริมสุขภาพและการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์การบันทึกการเคลื่อนไหวแบบไร้สาย การติดตั้งและใช้งาน เครื่องฝึกเดินแบบเคลื่อนที่ได้ และเครื่องออกกำลังกายและฟื้นฟู  เป็นต้น และมีเป้าหมายจะดำเนินการให้ครบทั้ง 12 แห่งภายใน ปี 2565”

อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุมาขยายผลการใช้ประโยชน์ เป็นต้นแบบในรูปแบบ “บางแคโมเดล” เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนขยายให้ครบ 12 ศพส. ในสังกัดของกรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อใช้ดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ตลอดจนเพื่อต่อยอดและขยายผลนวัตกรรมสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่อไป

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. กล่าวว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลและให้บริการผู้สูงอายุในครั้งนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาด ของโควิด 19 ซึ่งทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวในเชิงรุกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เนื่องจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าปี 2564 สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชาการทั้งหมด และในปี 2575 ประเทศไทยจะเข้าสู่สถานการณ์สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการเริ่มต้นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ที่ดี และยังช่วยขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ จากเครือข่ายนักวิจัย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสังคมสูงวัยจากนวัตกรรมไทยในอนาคตด้วย

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

“กรมกิจการผู้สูงอายุ ต้องขอขอบคุณ สวทช. เป็นอย่างยิ่ง ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ มาขยายผลการใช้ประโยชน์ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ทั้ง 12 แห่ง โดยในปี 2563 ได้เริ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแคเป็นพื้นที่แรก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย”

ด้าน นางสาวอาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กล่าวว่า บ้านบางแค เป็นหน่วยงานหลักเพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง ไร้ผู้อุปการะดูแล ภายใต้สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีผู้รับบริการทั้งสิ้น 234 คน แบ่งเป็นชาย 75 คน หญิง 159 คน ดำเนินการตามนโยบายกรมกิจการผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้รับบริการ มุ่งให้ผู้สูงอายุได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างโอกาสของความเท่าเทียม ทั้งนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ประโยชน์ใน ศพส. บ้านบางแค ถือว่ามีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพการดูแล และให้บริการผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริม ป้องกันดูแล และฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุสามารถดำเนินไปได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางสาวอาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค

22 ก.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: