หน้าแรก JAXA เลือก 2 ไอเดีย ของเยาวชนไทย เตรียมทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ
JAXA เลือก 2 ไอเดีย ของเยาวชนไทย เตรียมทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ
27 มิ.ย. 2565
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ประกาศผลการจัดแข่งขันโครงการ “Asian Try Zero-G 2022” โดย JAXA เลือกข้อเสนอแนวคิดการทดลองของเยาวชนไทย จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การทดลองเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Water sphere disturbance in zero gravity) เสนอโดย นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และการทดลองเรื่อง การศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Study of the height of water which is risen up in microgravity) เสนอโดย นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนักบินอวกาศญี่ปุ่น นายโคอิจิ วะกาตะ ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

 

กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.
กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

 

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ร่วมกับ JAXA ดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G 2022 เชิญชวนเหล่าเยาวชนไทยส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำร่วมกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดรับสมัครแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี มีผู้ส่งใบสมัคร จำนวน 154 เรื่อง ประกอบด้วยเยาวชน 378 คน และรุ่นอายุไม่เกิน 27 ปี มีผู้ส่งใบสมัคร จำนวน 18 เรื่อง ผู้สมัคร 51 คน รวมจำนวนใบสมัครทั้งสิ้น 172 เรื่อง และมีเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการจำนวน 429 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“คณะกรรมการ สวทช. ได้คัดเลือกแนวคิดการทดลองของเยาวชนไทยจำนวน 6 เรื่อง แบ่งเป็นรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 3 เรื่อง และรุ่นอายุไม่เกิน 27 ปี จำนวน 3 เรื่อง เพื่อส่งเข้าแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยทาง JAXA ได้เลือกข้อเสนอการทดลองจาก 5 ประเทศ จำนวน 6 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นการทดลองของเยาวชนไทยถึง 2 เรื่อง เพื่อนำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนายโคอิจิ วะกาตะ (Koichi Wakata) นักบินอวกาศญี่ปุ่น ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA สำหรับการทดลองอีก 4 เรื่องเป็นของญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ประเทศละ 1 เรื่อง”

 

คุณโคอิจิ วะกาตะ (Koichi Wakata)

 

นางกุลประภา กล่าวว่า “สำหรับแนวคิดการทดลองทั้ง 2 เรื่อง ที่ได้รับการคัดเลือกประกอบด้วย ไอเดียการทดลองของ นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เรื่องการศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Water sphere disturbance in zero gravity) มีไอเดียการทดลองว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าน้ำถูกแรงจากภายนอกกระทำ ซึ่งการทดลองแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาพฤติกรรมของน้ำเมื่อได้รับแรงดลจากการชนของลูกบอลที่มีมวลแตกต่างกัน คือบอลไม้และบอลเหล็ก โดยการออกแรงผลักลูกบอลให้เคลื่อนที่มาชนกัน และส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาการหมุนของลูกข่างกระดกบนผิวน้ำ ซึ่งลูกข่างกระดกเป็นลูกข่างที่ออกแบบให้จุดศูนย์กลางทางเรขาคณิตอยู่คนละจุดกับจุดศูนย์กลางมวลทำให้เมื่อหมุนไปสักระยะลูกข่างจะสามารถพลิกกลับด้านได้ จึงอยากรู้ว่าในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงผลจะเป็นอย่างไร”

 

นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

 

“ไอเดียการทดลองที่ 2 ของนางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Study of the height of water which is risen up in microgravity) เป็นการทดลองที่เกิดจากความสนใจเกี่ยวกับการขนส่งของเหลวผ่านท่อในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยตั้งสมมติฐานว่าเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ เช่น ในระดับความสูงของสถานีอวกาศนานาชาติ จะส่งผลให้ของเหลวที่อยู่ในท่อสามารถขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับระดับความสูงของของเหลวที่ทำการทดลองบนพื้นโลกอยู่ 1.11 เท่า นอกจากนี้ยังมีการทดลองเปรียบเทียบขนาดรัศมีของท่อที่แตกต่างกันด้วยว่าจะส่งผลให้ระดับความสูงของของเหลวขึ้นไปตามท่อได้แตกต่างกันหรือไม่”

 

นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ทั้งนี้เยาวชนเจ้าของการทดลองจะมีโอกาสสื่อสารกับนักบินอวกาศแบบเรียลไทม์และรับชมถ่ายทอดสดการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติจากศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคมนี้

สามารถติดตามการทดลองโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ได้ที่เพจ NSTDA Space Education Facebook: https://www.facebook.com/NSTDASpaceEducation

แชร์หน้านี้: