หน้าแรก สวทช. พัฒนาค่ายสะเต็มแนวใหม่ ผ่านกิจกรรม “อลิซในดินแดนวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์” เพื่อเสริมสมรรถนะและฝึกทักษะสำคัญในโลกอนาคตให้เยาวชน
สวทช. พัฒนาค่ายสะเต็มแนวใหม่ ผ่านกิจกรรม “อลิซในดินแดนวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์” เพื่อเสริมสมรรถนะและฝึกทักษะสำคัญในโลกอนาคตให้เยาวชน
26 พ.ค. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ ได้ออกแบบและพัฒนากิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะหลักของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และอธิบายแนวทางการออกแบบกิจกรรมค่ายอลิซในดินแดนวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ว่า สวทช. นำแนวคิดการเล่นเกมที่เด็กๆชื่นชอบมาพัฒนาเป็น 8 ฐานการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ เด็กจะได้พัฒนาความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ จากประสบการณ์จริงนอกเหนือจากห้องเรียน รวมถึงการสร้างความตระหนัก จุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ค่ายอลิซในดินแดนวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ (Alice in Science Wonderland) จัดให้กับเด็กและเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) จำนวน 56 คน ในวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ ห้องบรรยาย 2 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (อาคาร 18) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. จ.ปทุมธานี

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกเดินทางผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ของโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกันพิชิตภารกิจ STEM ทั้ง 4 กลุ่ม จาก 8 ฐานกิจกรรม เพื่อตามหาบัตรอักษร “S” “T” “E” และ “M” เพื่อใช้แลกข้อมูลของรหัสลับที่ใช้ไขประตูมิติเพื่อเดินทางกลับโลกปัจจุบัน จากฐานกิจกรรมต่อไปนี้

กลุ่มวิทยาศาสตร์ (Science : S) ฐานกิจกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้และการทดลองทดสอบทางวิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาในการทำกิจกรรม ประกอบด้วย

ฐานกิจกรรมนักสืบสารเรืองแสง เด็กๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนุกกับการได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยค้นหาคำตอบผ่านการสร้างอุปกรณ์ตรวจสารเรืองแสง และตรวจหาสารเรืองแสงต่างๆ เพื่อทำภารกิจตอบโจทย์

ฐานกิจกรรมชิงแชมป์…พัฒนาสายพันธุ์แมว เด็กๆ ร่วมมือกันทำงานเป็นทีมนักพัฒนาสายพันธุ์แมวประกวด เล่นเกมการ์ดเพื่อชิงแมวที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และผสมพันธุ์แมวเพื่อให้ได้แมวที่มีลักษณะตรงตามลักษณะที่กองประกวดต้องการมากที่สุด โดยอาศัยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อพิชิตภารกิจฐานกิจกรรมนี้

กลุ่มเทคโนโลยี (Technology : T) ฐานกิจกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีสำเร็จรูป แก้ปัญหาในการทำกิจกรรม ประกอบด้วย

ฐานกิจกรรมผจญภัยใน NSTDA Wonderland เด็กๆ สนุกไปกับบอร์ดเกมออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ ร่วมตอบคำถาม แข่งขันหาคำตอบมุ่งสู่เส้นชัยที่รออยู่

ฐานกิจกรรมแมงป่องน้อยท่องโลกกว้าง เด็กๆ สนุกสนานไปกับการควบคุมหุ่นยนต์แมงป่อง เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกจากถ้ำให้ได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด

กลุ่มวิศวกรรม (Engineering : E) ฐานกิจกรรมที่เน้นการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหาในการทำกิจกรรม ประกอบด้วย

ฐานกิจกรรม Who is the Fastest in the FabLab เด็กๆ ต้องพิชิตสองภารกิจภายในเวลาที่กำหนดจากการเลือกใช้อุปกรณ์และเครื่องมือช่างพื้นฐานเพื่อสร้างเส้นทางการเดินของแสง นำพาแสงเลเซอร์ไปยังจุดหมาย และสนุกสนานกับกระดานตัวต่อวันที่ปริศนา จากห้อง FabLab สวทช.

ฐานกิจกรรมล้อเดียวซิ่งทะลุโลก เด็กๆ สนุกกับการพัฒนายานยนต์ล้อเดียวเพื่อพิชิตภารกิจกลิ้งเร็วที่สุด

กลุ่มคณิตศาสตร์ (Mathematics : M) ฐานกิจกรรมที่เน้นการคิดคำนวณ และการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ ในการทำกิจกรรม ประกอบด้วย

ฐานกิจกรรมนักลงทุนเจ้าปัญญา เด็กๆ ได้รับประสบการณ์การเป็นนักวางแผนการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ฐานกิจกรรมพัสดุระยะสุดท้าย เด็กๆ วางแผนคิดวิเคราะห์ คำนวณ เพื่อบังคับรถหุ่นยนต์ให้สามารถส่งพัสดุได้มากที่สุดโดยใช้ระยะทางน้อยที่สุด

ภารกิจบทสุดท้าย ไขประตูมิติเดินทางกลับ เด็กๆ ได้แสดงให้คณะผู้จัดกิจกรรมเห็นถึงการทำงานเป็นทีม ความร่วมมือ ร่วมใจ และความเสียสละบัตรอักษรที่เด็กๆ แต่ละคนหามาได้จากการเข้าร่วมฐานกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวัน นำมารวมกันเพื่อใช้แลกข้อมูลของรหัสลับและไขประตูเดินทางกลับโลกปัจจุบันได้สำเร็จ

จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบประเมินความพึงพอใจหลังการจัดกิจกรรมค่าย จำนวนทั้งสิ้น 43 คน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีระดับความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 100 และได้แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมนี้ว่า ชอบกิจกรรมนี้มาก อยากให้มีเวลาในการทำกิจกรรมมากขึ้น และอยากให้มีการจัดกิจกรรมนี้อีก

 

 

26 พ.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: