กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ร่วมจัดกิจกรรมค่าย EEC Innovation Youth Camp การแพทย์และสุขภาพ สำหรับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี มีโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 18 โรงเรียน นักเรียน 142 คน และ ครู 18 คน รวม 160 คน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน และครูผู้สอน ได้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยปูความรู้พื้นฐานให้มีความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEAM) และเตรียมกำลังคนให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ สวทช. |
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. |
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่ากิจกรรมในครั้งนี้ช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมสมรรถนะและการพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC ในเรื่องเทคโนโลยีการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ เทคโนโลยีทางการแพทย์แห่งอนาคต ไวรัสวิทยาและการพัฒนาวัคซีน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ ไปสู่งานวิจัยที่ใช้ได้จริง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการวางพื้นฐานให้นักเรียนได้รู้ถึงความสนใจและความถนัดของตนเอง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาอาชีพด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ นับเป็นกระบวนการสำคัญในการต่อยอดศักยภาพของนักเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดยมีครูผู้สอนซึ่งเป็น keyman สำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในสถานศึกษา ที่จะได้รับความรู้ไปพร้อมกับนักเรียน เป็นสะพานเชื่อมสำคัญที่จะทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่ผลักดันการเติบโตของประเทศในหลากหลายมิติต่อไปในอนาคต จนสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นจากการได้ลงมือปฏิบัติจริงและนำไปต่อยอดในกระบวนการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาของโรงเรียนในเขตพื้นที่ EEC ได้ต่อไป
ในส่วนของกิจกรรม ประกอบด้วยการบรรยายเรื่อง เทคโนโลยีทางการแพทย์แห่งโลกอนาคต โดย แพทย์หญิงณัฐชญา สุคนธ์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 2566 มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจบนเส้นทางกว่าจะมาเป็นแพทย์ทางด้านจักษุวิทยา และการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในยุคที่เกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น HealthCare Cybersecurity , Bioprinting Technology , Telemedicine เป็นต้น
กิจกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์การแพทย์ โดย ดร. ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล และทีม จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับ การพัฒนาของเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ทดลองพัฒนาระบบ Flex sensor ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล พร้อมนำ sensor ที่พัฒนามาควบคุมหุ่นยนต์ (นาโนบอท) ให้ทำภารกิจเข้าไปในร่างกายจำลองเพื่อขนคอเลสเตอรอล หรือ ก้อนไขมันที่มีอยู่มากเกินไปจนอาจก่อโรค ออกจากร่างกายของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ครูและนักเรียน ยังได้ทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการตลอดสามวัน อาทิ การวิจัยไวรัสวิทยาและการพัฒนาวัคซีน โดย ดร.ทิพย์รำไพ ธรรมมงกุฎ จากทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี (AVCT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กิจกรรม Science & Medicine นวัตกรรมทางการแพทย์ โดย ดร.ทวีศักดิ์ เชี่ยวชาญศิลป์ จากศูนย์ความเลิศทางด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กิจกรรมคณิตศาสตร์กับการแพทย์ โดย อาจารย์อรรถวุฒิ วงศ์ประดิษฐ์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเรียนรู้การนำหลักการคณิตศาสตร์มาใช้อธิบายทางการแพทย์ ฝึกปฏิบัติการสร้างแบบจำลองจากโครงสร้างแรงดึง เชื่อมโยงสู่การนำคณิตศาสตร์ มาช่วยในการออกแบบสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ กิจกรรม Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ โดย ดร.อาภา สุวรรณรัตน์ จากทีมวิจัยการประมวลสัญญาณประสาท (NSP) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
นางสาวสุภารัตน์ กรมแสง ครูจากโรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” จังหวัดระยอง กล่าวว่า เป็นการจัดกิจกรรมที่ดีมาก มีความประทับใจในหลายส่วน ทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ดี ไม่ได้เจาะจงเฉพาะแพทย์อย่างเดียว แต่มีสายอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนรู้การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ การจัดการค่ายลงตัวมาก วิทยากรแต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญ มีความเหมาะสม ที่พักดีเหมาะสำหรับการเรียนรู้และทีมงานมืออาชีพสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว |
ด้าน นายชิด วงค์ใหญ่ ครูจากโรงเรียนพนมสารคราม “พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่า เป็นการจัดกิจกรรมที่ดี เปิดโอกาสให้นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้มาเข้าร่วมกิจกรรม กระจายโอกาสให้นักเรียนพื้นที่ EEC ได้ทั่วถึง เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมและแสดงความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น ฝึกทักษะการนำเสนอ ฝึกให้มีความกล้าแสดงออก ซึ่งเด็ก ๆ หลายคนได้ค้นพบเส้นทางของตัวเอง ได้ค้นพบความชอบผ่านกิจกรรมที่ได้ทดลองทำ |
นางสาวไอริณ อินทรทัต นักเรียนโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หลายด้าน ตั้งแต่เรื่องหุ่นยนต์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพ โดยปกติชอบการเขียนโปรแกรมอยู่แล้ว ซึ่งค่ายนี้ทำให้เห็นประโยชน์ของการเขียนโปรแกรมและการนำไปใช้งานจริงมากขึ้น มีโอกาสใกล้ชิดและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยตัวจริง ทำให้เห็นแนวทางในการพัฒนาโครงงานต่อ ได้เจอเพื่อนใหม่ ที่มีมุมมองแตกต่างกัน ทำให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้ช่องทางการติดต่อกับเพื่อน ๆ และนักวิจัย ซึ่งมีประโยชน์ในการทำงานร่วมกันในอนาคต
นางสาวมณีรัตน์ ชินศรี นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า โดยปกติไม่ชอบคณิตศาสตร์ แต่ค่ายนี้ทำให้เปลี่ยนความคิดมาก เพราะได้รู้จักคณิตศาสตร์ในมุมมองที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้สนใจคณิตศาสตร์มากขึ้น และได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย ประทับใจมิตรภาพในค่าย พี่ ๆ ทีมงานเป็นกันเอง ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนต่างโรงเรียน เพื่อน ๆ มีความเป็นกันเอง วิทยากรพร้อมอธิบายทุกข้อสงสัย อาหารอร่อย ได้รับอาหารครบทุกหมู่ ที่พักดี มีความร่มรื่น มีสวนและสนามกีฬาให้ผ่อนคลาย
นายวินทกร คำภีระ นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โดยปกติมีความสนใจเทคโนโลยีและชีววิทยาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้มีการศึกษาเบื้องต้นมาในระดับหนึ่ง เมื่อมาเข้าค่ายทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้นผ่านนักวิจัยตัวจริง ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์โดยตรงกับวิทยากร นอกจากนี้มีความประทับใจกับการได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ต่างโรงเรียน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อกับเพื่อน ๆ