หน้าแรก “9 ดีปเทคสตาร์ทอัป” ก้าวใหม่ สวทช. ดันวิจัยจากแล็บสู่ธุรกิจ
“9 ดีปเทคสตาร์ทอัป” ก้าวใหม่ สวทช. ดันวิจัยจากแล็บสู่ธุรกิจ
3 ส.ค. 2565
0
บทความ

‘กระจกตาชีวภาพ’ แบบใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้บริจาคออกแบบให้เหมาะกับค่าสายตาคนไข้ หรือ ‘เข็มขนาดไมโคร’ ในรูปแบบแผ่นแปะที่ช่วยส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็น 2 ผลงาน ใน 9 ผลงานจาก ‘นาสท์ด้า สตาร์ตอัป’ NSTDA Startup สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกสู่สาธารณชนแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มาร่วมผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีกับ NSTDA Startup และเป็นการเปิดโลกการลงทุนใหม่ เพื่องานวิจัยจากแหล่งการลงทุนใหม่ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

โดย สวทช. องค์กรวิจัยระดับประเทศ ได้สร้างกลไกใหม่เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของการวิจัย ด้วยกลไกที่พร้อมเปิดโอกาสให้นักวิจัยที่ทำงานวิจัย ก้าวขีดจำกัดของตนเองลุกขึ้นมาขายสินค้านวัตกรรมในรูปแบบ ‘สตาร์ตอัป’ ในลักษณะทำเอง หาคู่ธุรกิจเพื่อร่วมลงทุนและขยายโอกาสหาช่องทางตลาดร่วมกัน โดยมีหน่วย NSTDA Startup เป็นพี่เลี้ยง คอยหนุนเสริมกลไกต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจวิจัยไปถึงมือผู้ใช้จริง

“โดยหลักคือจะมีกลุ่มนักวิจัยเข้าร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนและ/หรือ สวทช. ในการปั้นโมเดลธุรกิจ (Business Model) จากผลงานวิจัยของ สวทช. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan) อย่างเป็นรูปธรรม แล้วก้าวไปสู่การร่วมจัดตั้งเป็นบริษัทสตาร์ตอัป” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ฉายภาพให้เห็นโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น

ดร.ณรงค์ ย้ำว่า สวทช. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาที่สร้างคุณค่าและต่อยอดให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งผ่านงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบธุรกิจใหม่ สวทช. จึง ขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ภายใต้กลไกการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่งของ สวทช. หรือที่เรียกว่า ‘นาสท์ด้า สตาร์ตอัป’ NSTDA Startup ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพื่อผลักดันผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยังช่วยตอกย้ำศักยภาพงานวิจัยสู่การตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม โดยมีสตาร์ตอัป ที่ได้รับการอนุมัติจาก สวทช. จำนวน 9 ผลงาน โดยกลไกของ NSTDA Startup นี้จะช่วยตอบโจทย์การเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับ 9 NSTDA Startup : Deep-tech Startup เพื่อขยายงานวิจัยสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย ด้านอุตสาหกรรม Biotechnology & BIO Service  ได้แก่ บริษัท ไบโอเทค โกลเบิ้ล อินโนเวชั่น จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์มด้าน Biotechnology และ Life Science ครบวงจรรายแรกของประเทศ ที่ต้องการสร้างกลไกขับเคลื่อนธุรกิจไบโอเทคโนโลยีอย่างครบวงจร ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนถูกกว่ายานำเข้าให้กับประชาชน

ด้านอุตสาหกรรม Digital ได้แก่ บริษัท เอไอไนน์ จำกัด (AI9) เป็นแพลตฟอร์ม AI ของบริษัทไทยรายแรกที่ให้บริการการถอดเสียงการประชุมโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในด้านเสียงและการสนทนา (Speech and Conversation) รวมทั้งด้านการเข้าใจภาษา เพื่อให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าใจและสามารถสื่อสารภาษาของมนุษย์ได้ ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนที่ต้องการยกระดับ workflow การทำงานให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บริษัท ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดอาหารและดูแลสุขภาพในสถานศึกษาแบบครบวงจร รองรับการจัดอาหารแบบ Smart Canteen โดยให้นักเรียนเลือกอาหารเอง หรือ Tailor-Made รายคน เชื่อมโยงข้อมูลอาหารที่จัดเข้าสู่ Thai School Lunch เพื่อให้ทางโรงเรียนตรวจสอบรายการอาหาร คุณภาพ และปริมาณวัตถุดิบ ซึ่งสตาร์ตอัปถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สอดคล้องกันนโยบายส่งเสริมสุขภาพของประเทศ

บริษัท บิ๊กโก อนาไลติกส์ จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาระบบจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data / Data Analytic) ที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ด้านอุตสาหกรรม Aging Society/Quality of Life ได้แก่ โครงการ รีไลฟ์ (อยู่ระหว่างเตรียมจดทะเบียนในนามบริษัท รีไลฟ์ จำกัด) ผลิตกระจกตาชีวภาพที่ไม่ต้องรอบริจาคจากผู้อื่น สามารถใช้ได้เลย สามารถออกแบบค่าสายตาให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคน ไม่มีความเสี่ยงจากการใช้กระจกตาจากผู้อื่นหรือวัสดุเทียม

บริษัท เบรนนิฟิต จำกัด ให้บริการแพลตฟอร์ม Game-based neurofeedback system ช่วยฟื้นฟูศักยภาพการเรียนรู้ได้ถึง 5 ด้าน และวัดผลได้อย่างแม่นยำ เป็นผู้นำ Neuro Technology นำงานวิจัยมาขยายผลการให้บริการรูปแบบ Home-based Rehabilitation ในระดับเชิงพาณิชย์ เช่น ระบบฝึกสมองโดยใช้สัญญาณป้อนกลับ

และด้านอุตสาหกรรมด้านความงามและอาหารเสริม  ได้แก่ บริษัท สไปก์ อาร์ชิ เทคโทนิคส์ จำกัด ผลิตเข็มขนาดไมโคร (Microneedle) ในรูปแบบแผ่นแปะเทคโนโลยี Microspike ที่มีลักษณะพิเศษความเฉพาะที่สามารถดีไซน์ได้ตามต้องการของลูกค้าที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้สามารถนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือผู้นำด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตเข็มขนาดไมโคร (Microneedle) สำหรับเสริมประสิทธิภาพการดูแลผิวและนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนัง เพื่ออุตสาหกรรมความงาม สุขภาพ และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาการแพทย์ของไทยได้ในอนาคต

บริษัท ควอนตัม ไบโอเทค จำกัด ใช้ประโยน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ นำเทคโนโลยีด้านไบโอรีไฟเนอรี่และไฮบริดมาผลิตสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นการ สร้าง Ecosystem การผลิตสารมูลค่าสูงจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สอดคล้องโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการต่อยอดวัตถุดิบชีวมวลเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตสารมูลค่าสูง

และ โครงการ KANTRUS ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุออกฤทธิ์สำหรับเครื่องสำอางและการแพทย์ เช่น โปรตีนอีจีเอฟ ที่มีความบริสุทธิ์และความสามารถในการออกฤทธิ์สูง ซึ่งเป็นสารชีววัตถุประเภทโกรทแฟกเตอร์ (growth factor) ที่มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์สูงและกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีดีเอ็นเอรีคอมบิแนนท์ (recombinant DNA technology) ทำให้โปรตีนที่บริสุทธิ์ออกฤทธิ์สูง ในราคาเข้าถึงได้ เพิ่มทางเลือกในการผลิตเครื่องสำอางระดับพรีเมียมเพื่อแข่งขันกับแบรนด์ต่างๆ ระดับสากลได้

ถือเป็นก้าวใหม่ของ สวทช. ในการส่งต่องานวิจัยสู่สาธารณะ เพราะการวิจัยและพัฒนาที่รับโจทย์เพื่อทำวิจัยแล้วถ่ายทอดสิทธิ (Licensing) แบบเดิม อาจไม่เพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและส่งผลกระทบพวกเราทุกคนที่ต้องก้าวให้ทันโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต

/////////////

 

แชร์หน้านี้: