หน้าแรก สวทช. ร่วมจัดประชุมถกความท้าทายจริยธรรมต่อเทคโนโลยีจีโนม ในงานประชุมด้านจริยธรรมระดับโลก
สวทช. ร่วมจัดประชุมถกความท้าทายจริยธรรมต่อเทคโนโลยีจีโนม ในงานประชุมด้านจริยธรรมระดับโลก
6 ก.ค. 2562
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม C โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ ยูเนสโก จัดการประชุมเชิงวิชาการด้านจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Conference on the Ethics of Science & Technology and Sustainable Development) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับผิดชอบในการจัดประชุมหัวข้อเรื่อง “ความท้าทายด้านจริยธรรมและสังคมต่อเทคโนโลยีจีโนม (Ethical and Societal Challenges toward Genome Technology)”

ซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สเปน และสหรัฐอเมริกา ร่วมให้ความรู้และเสวนาในประเด็นการจัดการเชิงจริยธรรมและกฎหมายของเทคโนโลยีจีโนมในบริบทโลก โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา ร่วมรับฟังและให้เกียรติมอบของที่ระลึกแก่วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ

  

โดยช่วงแรกของการประชุมเชิงวิชาการในเรื่องความท้าทายด้านจริยธรรมและสังคมต่อเทคโนโลยีจีโนม ดร.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญวิทยากรจากประเทศสเปน Prof. Carlos Maria Romeo Casabona, Professor of Criminal Law; Director, Chair in Law and the Human Genome, University of the Basque Country ให้ความรู้ในเรื่อง การปรับแก้จีโนม (Genome editing) ในมนุษย์ช่วงแรก ซึ่งนำไปสู่การดีเบตในเวทีระดับโลกและการกำกับดูแลเพื่อความรับผิดชอบ จากนั้นเป็นวิทยากรจากประเทศสหรัฐอเมริกา Prof. Jonathan D. Moreno, Member of the IBC, Professor of Medical Ethics and Health Policy, of History and Sociology of Science, and of Philosophy, University of Pennsylvania ให้ความรู้ในเรื่อง ชีวจริยธรรมจะตอบสนองต่อเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ได้อย่างไร

  

ขณะที่วิทยากรจากประเทศไทย ดร.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงการสาธารณสุข ให้ความรู้ในเรื่อง ผลรายงาน การวิจัยนโยบายและแนวทางพัฒนาสำหรับการทดสอบทางพันธุกรรมในประเทศไทย พร้อมระบุในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่รองรับในเรื่องพันธุกรรมโดยตรง จำต้องใช้กฎหมายของหน่วยงานอื่น ๆ มากำกับแทน เช่น อย. สคบ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่น่ากังวลในส่วนของผลิตภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีการโฆษณาที่เกินจริง ซึ่งต้องหาแนวทางในการกำกับดูแลต่อไป และวิทยากรอีกท่าน ดร.ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ สาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ในเรื่อง จริยธรรมและกฎระเบียบของเทคโนโลยีจีโนม และความท้าทายในการสร้างบรรทัดฐานในประเทศกำลังพัฒนา

  

และช่วงท้าย วิทยากรแต่ละท่านได้ร่วมกันเสวนาประเด็นเรื่อง การจัดการเชิงจริยธรรมและกฎหมายของเทคโนโลยีจีโนมในบริบทโลก (Ethical and Legal Management of Genome Technology in the Global Context) ซึ่งมีหลายความเห็นที่น่าสนใจ อย่าง ดร.ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ มองว่า เทคโนโลยีจีโนมในปัจจุบันยังไม่สามารถจินตนาการได้ว่าจะสิ้นสุดหรือไปได้ไกลแค่ไหนเพียงใด แต่การกำกับดูแลจำเป็นต้องมี รวมถึงการวิจัยในเรื่องเทคโนโลยีจีโนมก็ต้องมีควบคู่กันไปด้วย ขณะที่วิทยาการต่างชาติมองว่า การจัดการเชิงจริยธรรมและกฎหมายของเทคโนโลยีจีโนม จำเป็นต้องร่วมมือกันทั่วโลก ทั้งนี้ ดร.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้ดำเนินการเสวนา ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายถึงแนวทางการจัดการเชิงจริยธรรมและกฎหมายของเทคโนโลยีจีโนม ใน 5 ประเด็นว่า ควรต้องเร็ว คำนึงถึงสมดุลระหว่างความหวังและความกลัว (Hope & Fear) และควรเริ่มจัดการและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับ Global ต้องคำนึงถึงระดับ Local ด้วย ตลอดจนควรเป็นความร่วมมือกันในระดับประเทศและระดับโลก

6 ก.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: