หน้าแรก นาโนเทค สวทช. จับมือ GPSC นำสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับพื้นผิวเซลล์แสงอาทิตย์หนุนเกิดศูนย์เรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของ วษท.สระแก้ว
นาโนเทค สวทช. จับมือ GPSC นำสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับพื้นผิวเซลล์แสงอาทิตย์หนุนเกิดศูนย์เรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของ วษท.สระแก้ว
20 ม.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC นำนวัตกรรมสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับพื้นผิวเซลล์แสงอาทิตย์ ช่วยลดการจับเกาะของฝุ่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ทนทานต่อสภาพอากาศในเมืองไทย ลดภาระในการทำความสะอาดและบำรุงรักษา ร่วมในโครงการ Light for a Better Life ที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารแผนกวิชาช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาสู่ศูนย์เรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของวิทยาลัยฯ ต่อไป

ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยฯ ทำการพัฒนาสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับพื้นผิวหลากหลายประเภท เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้กับพื้นผิวตามความต้องการ โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในอุตสาหกรรมผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้าง พลาสติก กระดาษ รวมถึงพื้นผิวอื่นๆ เพื่อเพิ่มสมบัติพิเศษให้กับวัสดุได้ตามต้องการ “สำหรับสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับพื้นผิวเซลล์แสงอาทิตย์นี้ เป็นสูตรสารเคลือบที่พัฒนาขึ้นจากการสังเคราะห์อนุภาคนาโน และออกแบบให้อนุภาคมีการจัดเรียงตัวตามแบบที่กำหนดอย่างเป็นระเบียบ ยึดเกาะพื้นผิวได้ดี โดยทีมวิจัยได้ทำการเปลี่ยนหมู่ฟังก์ชั่นของอนุภาคนาโนให้มีสมบัติเฉพาะ ได้แก่ การกันฝุ่น สะท้อนน้ำ และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ โดยสารเคลือบนาโนสูตรสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์นี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาสารเคลือบให้อยู่ในรูปแบบสารละลาย ใช้งานได้ง่าย สามารถทำการเคลือบได้ทั้งก่อนติดตั้ง หรือว่าหลังติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์” ดร.ธันยกรอธิบาย

นักวิจัยนาโนเทคได้พัฒนาสารเคลือบนาโนจากอนุภาคซิลิกา ที่มีความโปร่งใส ยึดเกาะบนพื้นผิวเซลล์แสงอาทิตย์ได้ดี และลดการจับเกาะของฝุ่นอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าลดลง ทนทานต่อสภาพอากาศในเมืองไทย ช่วยลดภาระในการทำความสะอาดและบำรุงรักษา นอกจากนี้สารเคลือบนาโนสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่ออุปกรณ์เซลล์แสงอาทิตย์ ผู้ที่ทำการเคลือบ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมนี้ สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง หรือกลุ่มธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอาคารสถานที่ เพื่อคงสภาพคอนกรีตหรือสีทาภายนอกอาคาร ให้ใหม่อยู่เสมอ, อุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุโลหะ เพื่อเคลือบป้องกันสนิม, อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันฝุ่น ช่วยรักษาสมรรถนะการทำงานของเครื่องยนต์ หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอหนังและพลาสติก เพื่อเพิ่มสมบัติการสะท้อนน้ำและสิ่งสกปรก กันฝุ่น หรือยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น

ล่าสุด ได้มีความร่วมมือกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ภายใต้โครงการ Light for a Better Life ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 กิโลวัตต์ บนหลังคาอาคารแผนกวิชาช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว โดย ดร.ธันยกร และทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน ลงพื้นที่ร่วมกับคุณณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ จาก GPSC เพื่อนำนวัตกรรมเคลือบนาโนฯ ดังกล่าวไปเคลือบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้ง โดยมีคุณเกียรติสยาม ลิ้มตระกูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้วร่วมต้อนรับ ซึ่งโครงการ Light for a Better Life ของ GPSC นี้จะสนับสนุนให้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของวิทยาลัยฯ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า และต่อยอดกิจกรรมด้านการเกษตรสร้างรายได้สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และสร้างประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป

แชร์หน้านี้: