หน้าแรก Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
26 ต.ค. 2565
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ

Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์

 

เมื่อสมองมนุษย์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ แค่คิดก็ต่อติดทุกอย่าง

เดือนกรกฎาคม 2019 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) สร้างความฮือฮาไปทั้งโลก เมื่อประกาศว่าบริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ที่เขาตั้งขึ้น จะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า BCI อย่างจำเพาะ และตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สมองมนุษย์เชื่อมต่อและสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงหากนึกไม่ออกว่าการเชื่อมต่อที่อีลอน มัสก์ พูดถึงนั้นเป็นอย่างไร… ลองนึกภาพการสั่งงานเครื่องจักรต่างๆ หรือแม้แต่เขียนโพสต์โซเชียลมีเดีย โดยอาศัยแค่การคิดเท่านั้น เกริ่นมาแค่นี้ก็เริ่ม “ว้าว” แล้ว เราไปดูกันดีกว่าจริงๆ แล้ว เจ้าเทคโนโลยี BCI นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วความว้าวนี้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตเราบ้าง

 

Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์

 

งานวิจัย BCI หรือ Brain-Computer Interface มีอีกชื่อหนึ่งว่า Brain-Machine Interface มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยเริ่มที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส หลังจากนั้นมาก็มีการทดลองในสัตว์ทดลอง เช่น หนู อย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย จนมีการทดลองในผู้ป่วยราวกลางทศวรรษ 1990

การทำ BCI แบบดั้งเดิมต้องมีการฝัง “ตัววัดสัญญาณ” หรือเซนเซอร์ที่ผิวสมองโดยตรง จึงทำการทดลองและนำมาใช้งานได้ยาก ต่อมามีการพัฒนาให้มีลักษณะ Non-invasive พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นอุปกรณ์/เครื่องมือที่อยู่นอกร่างกาย ไม่ต้องเจาะ ไม่ต้องฝัง ไม่ต้องใส่ไปในร่างกาย จึงเริ่มมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น

การทำงานของ BCI ต้องอาศัยฮาร์ดแวร์คือ ตัวเซนเซอร์ที่ติดอยู่กับอุปกรณ์สวมศีรษะ ซึ่งทำหน้าที่คอยรับสัญญาณไฟฟ้าจากคลื่นสมอง และซอฟต์แวร์ที่จะช่วยอ่านและวิเคราะห์คลื่นสมองของผู้ใช้งาน แล้วสั่งการไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งตรงส่วนนี้แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีเทคโนโลยีอย่าง AI และ Machine Learning มาช่วย

 

Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์

 

ปัจจุบันมีการนำ BCI ไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขภาพและการแพทย์ มีการนำไปใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต ให้บังคับสั่งการให้แขนหรือนิ้วของหุ่นยนต์ขยับได้, ช่วยผู้ป่วยที่มีอาการล็อกอิน (Locked-in) ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะได้เลยและสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ ให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ และใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุหรือสุขภาวะของคนทั่วไป

ด้านสุขภาวะทางจิตใจ การวัดสัญญาณไฟฟ้าสมองโดยไม่ต้องเจาะกะโหลกเพื่อฝังขั้วไฟฟ้า ยังนำไปใช้วัดสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ เพื่อทำให้ผ่อนคลายและเกิดสมาธิได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้เทคโนโลยี BCI ยังประยุกต์ใช้กับวงการเกม หรือแม้แต่เมตาเวิร์ส ที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของเฟซบุ๊กในอนาคต ได้ด้วยเช่นกัน

 

Brain-Computer Interface (BCI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์

 

สำหรับประเทศไทยนั้น บริษัท BrainiFit จำกัด ที่เป็น NSTDA Startup จากเนคเทค สวทช. ใช้เทคโนโลยี BCI สำหรับการออกกำลังสมอง โดยใช้คลื่นสมองสั่งการควบคุมการเล่นเกมเพื่อฝึกสมาธิหรือความจำ นอกจากนี้ สวทช. ยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีก เช่น การใช้เทคโนโลยี BCI เพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง หรือใช้เทคโนโลยี BCI สำหรับการควบคุมชุดโครงสร้างเสริมสมรรถภาพร่างกายที่เรียกว่า Exoskeleton อีกด้วย

แชร์หน้านี้: