หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ การจัดการความรู้ (KM) แนวคิดและผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ สวทช. มีต่อประเทศไทย
แนวคิดและผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ สวทช. มีต่อประเทศไทย
4 ต.ค. 2553
0
การจัดการความรู้ (KM)

แนวคิดและผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ สวทช. มีต่อประเทศไทย (Concept and Economic and Social Impact NSTDA to Thailand) เป็นหัวข้อหนึ่งในการจัดงาน NSTDA Knowledge Sharing ครั้งที่ ๕๓ ของ สวทช.  เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓
 
สวทช. มีภารกิจในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวหน้า โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน ให้สามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งช่วยหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ซึ่งผู้บริหารได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้เรื่องผลกระทบนั้นเป็นตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ขององค์กร (Balanced Scorecard) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๐ เป็นต้นมา โดยหน่วยงานภายในองค์กรมีการเก็บรวบรวมผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งหลักฐานอ้างอิงต่าง ๆ สรุปเป็นมูลค่าผลกระทบในแต่ละปีนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานทั้งภายใน สวทช. และนำไปประกอบกับการจัดทำคำของบประมาณเสนอต่อหน่วยงานภายนอก

ในงานดังกล่าว  วิทยากรได้บรรยายถึงความสำคัญของคำว่าข้อมูลผลลัพธ์ ผลกระทบ Logic Model คือ  ทรัพยากร – กิจรรม – ผลผลิต – กลุ่มเป้าหมาย – ผลลัพธ์ระยะสั้น – ผลลัพธ์ระยะยาว – ผลกระทบ และรวบรวมคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลผลลัพธ์และผลกระทบของ สวทช. เช่น

๑. ทำไมต้องจัดเก็บ จัดทำข้อมูลผลลัพธ์ ผลกระทบ มีประโยชน์อย่างไร เอาไปใช้อะไร
ข้อมูลผลลัพธ์ ผลกระทบเหล่านั้นถือเป็นผลงาน หรือความสำเร็จขององค์กร ที่แสดงถึงความมีคุณค่า มีประโยชน์ ขององค์กร และที่สำคัญ คือ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการของบประมาณในแต่ละปี

๒. ใครควรเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลผลลัพธ์และผลกระทบของ สวทช.
ฝ่ายประเมินผล สำนักงานกลาง

๓. ผลลัพธ์และผลกระทบ ควรจัดเก็บข้อมูลเมื่อไหร่ ควรทำไปพร้อมกัน หรือว่า ควรเริ่มติดตามเมื่องานเสร็จแล้ว
ควรทำไปพร้อมกัน

๔. ผลกระทบจะเกิดขึ้นได้กี่ปี หลังจากโครงการเสร็จสิ้นแล้ว
ไม่ควรเกิน ๕ ปี หากหลังจากนั้น จะไม่นับเป็นผลกระทบแล้ว

๕. ทำไมปี ๒๕๕๔ นี้ จึงเปลี่ยนมาเป็นการนับที่มูลค่า (บาท) ของผลลัพธ์และผลกระทบ จากเดิมที่นับที่จำนวนโครงการ
เป็นนโยบายของผู้บริหารท่านใหม่ รวมทั้งให้เพิ่มมูลค่าในหมวดการลงทุนด้าน ว และ ท กับภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมวิจัยกับ สวทช. มากขึ้น  (R&D กับภาคเอกชนมากขึ้น)

๖. ข้อมูลผลลัพธ์และผลกระทบแบบไหนที่รายงานไม่ได้
คือ แบบที่ยังไม่เกิด

๗. หน่วยงานอื่นเขามีการรายงานผลลัพธ์และผลกระทบอย่างไร
แล้วแต่นโยบายของแต่ละหน่วยงาน ว่าจะกำหนดการ  claim หรือ รายงานผลงานอย่างไร

๘. ผลลัพธ์และผลกระทบเชิงสังคมจะรายงานอย่างไร
ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบเชิงสังคมของ สวทช. ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นศึกษาเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น เช่น สกว. และ สสส.

๙. รู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่รายงานไปนั้นตรงหรือไม่ตรง จริงหรือไม่จริง
สวทช. มีข้อบังคับกำกับอยู่ในเรื่องของวินัย ซึ่งถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง หากมีการรายงานเท็จ ไม่ถูกต้อง และยังขัดต่อค่านิยมหลัก (Core value) ของ สวทช. ในข้อความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง และโปร่งใสอีกด้วย

ดังนั้นนอกจากการตระหนักถึงเรื่องข้อมูลผลลัพธ์และผลกระทบที่ สวทช. มีต่อประเทศไทยแล้ว การรายงานผลงานที่ถูกต้องเป็นจริง ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

4 ต.ค. 2553
0
แชร์หน้านี้: