รายงานผลการวิจัยโดย the Knowledge Exchange เกี่ยวกับ แรงจูงใจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยแบ่งปันข้อมูลวิจัยกับผู้อื่น รวมถึงข้อเสนอแนะซึ่งอาจช่วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้ทุนวิจัย หน่วยงานวิจัย และห้องสมุด ในการออกแบบกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลวิจัยในอนาคต
รู้จัก the Knowledge Exchange
Knowledge Exchange (KE) คือ การทำงานร่วมกันของ 5 หน่วยงาน จาก 5 ประเทศ ได้แก่
- IT Center for Science (CSC) ในฟินแลนด์
- Denmark’s Electronic Research Library (DEFF) ในเดนมาร์ก
- German Research Foundation (DFG) ในเยอรมัน
- Jisc ในอังกฤษ
- SURF ในเนเธอร์แลนด์
เพื่อสนับสนุนการใช้และการพัฒนา ICT ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการวิจัย
การวิจัยเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลวิจัย
เมื่อเร็วๆ นี้ the KE ทำการวิจัย เรื่อง “Sowing the seed: incentives and motivations for sharing research data, a researcher’s perspective” โดยสัมภาษณ์นักวิจัยจำนวน 22 คน จาก 5 ทีมวิจัย ในสาขาวิชาแตกต่างกัน เช่น มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ชีววิทยา และเคมี เป็นต้น จาก 5 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ the KE เพื่อค้นหาว่า อะไรคือแรงจูงใจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยอยากจะแบ่งปันข้อมูลวิจัยของตนเองกับผู้อื่น ผลจากการวิจัยมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะรูปแบบของการแบ่งปันข้อมูล แรงจูงใจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยแบ่งปันข้อมูล และข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลวิจัยในอนาคตสำหรับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
รูปแบบของการแบ่งปันข้อมูล
เมื่อพูดถึงคำว่า การแบ่งปันข้อมูล (Data sharing) นักวิจัยส่วนใหญ่ มักหมายถึง วิธีการที่แตกต่างและหลากหลายที่ข้อมูลวิจัยถูกแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักวิจัย 6 โหมดที่แตกต่างกันของการแบ่งปันข้อมูล ได้แก่
- Private management sharing หมายถึง การแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนภายในกลุ่มวิจัยเดียวกัน
- Collaborative sharing หมายถึง การแบ่งปันข้อมูลภายในสมาคมที่เกี่ยวข้อง
- Peer exchange หมายถึง การแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนร่วมงานในเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ
- Sharing for transparent governance หมายถึง การแบ่งปันข้อมูลกับกลุ่มคนภายนอก เช่น ผู้ให้ทุนวิจัยหรือภาคอุตสาหกรรมเพื่อการการตรวจสอบข้อเท็จจริงและความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
- Community sharing หมายถึง การแบ่งปันข้อมูลกับสมาชิกของชุมชนวิจัย
- Public sharing หมายถึง การแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้โดยบุคคลทั่วไปที่สนใจ
โหมดที่แตกต่างกันนี้เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น การแบ่งปันข้อมูลกับกลุ่มคนที่เชื่อใจหรือกลุ่มคนที่ไม่มีความคุ้นเคย การแบ่งปันข้อมูลโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความโปร่งใสหรือเพื่อการวิจัยในอนาคต
แรงจูงใจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยแบ่งปันข้อมูล แบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่
- การแบ่งปันข้อมูลนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการและขั้นตอนของการวิจัย โดยเฉพาะเมื่อโครงการวิจัยนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาหรือหน่วยงาน
- การแบ่งปันข้อมูลนั้นเป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับผลตอบแทนในหน้าที่การงานของนักวิจัยโดยตรง การแบ่งปันข้อมูลทำให้ผลงานของนักวิจัยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น อาจนำไปสู่การอ้างอิงถึงและการเป็นที่รู้จักมากขึ้น การพัฒนาความมือในการวิจัยใหม่ๆ หรือการพัฒนาปรับปรุงการวิจัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
- การแบ่งปันข้อมูลเป็นเรื่องปกติหรือธรรมเนียมปฏิบัติในกลุ่มวิจัยหรือในสาขาวิชา
- การแบ่งปันข้อมูลบางกรณีเป็นความคาดหวังหรือนโยบายของผู้ให้ทุนหรือสำนักพิมพ์ที่ต้องการให้มีการแบ่งปันข้อมูล
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกระตุ้นการแบ่งปันข้อมูลของนักวิจัย สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องในมุมต่างๆ
- ผู้ให้ทุนวิจัย
- ผู้ให้ทุนวิจัยนับว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการพัฒนานโยบายของการแบ่งปันข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นทางการเกี่ยวกับการคาดหวังเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การส่งเสริมและสนับสนุนบรรยากาศของการแบ่งปันข้อมูลที่ทำให้นักวิจัยสามารถแบ่งปันข้อมูลโดยไม่มีความรู้สึกว่าคนอื่นๆ อาจจะฉวยประโยชน์จากข้อมูลที่ตนได้แบ่งปัน ตัวอย่างเช่น ผู้ให้ทุนวิจัยควรพิจารณาเรื่องช่องทางในการให้รางวัลแก่นักวิจัยที่แบ่งปันข้อมูล การนำเรื่องการแบ่งปันข้อมูลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมอบทุนวิจัยต่อไป หรือการส่งเสริมการ re-use ข้อมูล การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลอาจช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักวิจัยในการแบ่งปันข้อมูล อีกทั้งยังอาจช่วยสร้างแรงจูงใจทางบวกแก่นักวิจัยในการแบ่งปันข้อมูล อย่างไรก็ตามการให้รางวัลหรือประโยชน์โดยตรงแก่นักวิจัยในลักษณะรายบุคคลอาจจะมีข้อจำกัดหรือประเด็นปัญหา ซึ่งควรคำนึงถึง
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น คลังข้อมูล ประเภทของโครงสร้างพื้นฐานที่นักวิจัยพบว่ามีประโยชน์อย่างมาก คือ ระบบที่รวบรวมข้อมูลวิจัย เอกสาร และผลลัพธ์อื่นๆ ของการวิจัยเข้าไว้ด้วยกัน
- การฝึกอบรมเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลควรถูกจัดเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมวิธีการวิจัยสำหรับนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้การแบ่งปันข้อมูลเป็นมาตรฐานในขั้นตอนวิจัย
- การจัดทำและเสนอเอกสารแนะนำแก่ผู้พิจารณาผลงาน หรือ peer reviewer เพื่อประกอบการประเมินแผนและกลยุทธ์ของการแบ่งปันข้อมูลในข้อเสนอโครงการ
- หน่วยงานวิจัย
- การตระหนักถึงคุณค่าของการแบ่งปันข้อมูล
- การส่งเสริมให้การตีพิมพ์ผลงานเพื่อเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานและเลื่อนตำแหน่ง
- การเสนอการฝึกอบรมเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลสำหรับนักเรียนนักศึกษาและนักวิจัย
- การเสนอบริการแบบูรณาการแก่นักวิจัย เช่น one-stop-shop for all research data management
- ห้องสมุด
- การพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยเพื่อการแบ่งปันข้อมูล เช่น การเชิญนักวิจัยมาแบ่งปันข้อมูลในคลังข้อมูลของหน่วยงานที่บริหารจัดการโดยห้องสมุด
- การเสนอการฝึกอบรมเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลแก่นักวิจัย เช่น การฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ Intellectual property Copyright Metadata และมาตรฐานทางเทคนิค
- การพัฒนาและบริการระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อการเข้าถึงข้อมูล
- การรวบรวมและให้บริการแหล่งข้อมูลอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
- การวิเคราะห์ข้อมูลหรือผลลัพธ์ของการวิจัย เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่และ re-use ข้อมูล
- สังคม
- ในภาพของสังคมควรส่งเสริมให้มีการหารือเกี่ยวกับการตระหนักที่เป็นทางการเกี่ยวกับการแบ่งปันและเผยแพร่ข้อมูล การกำหนดความคาดหวังในการแบ่งปันข้อมูลผ่าน Code of conduct หรือ Best practice code การส่งเสริมการพัฒนาข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล การส่งเสริมการพัฒนาแหล่งสำหรับแบ่งปันข้อมูลและมาตรฐานสำหรับการวิจัย
ติดตามอ่านรายงานการวิจัย ฉบับเต็ม: Knowledge Exchange. (2014). Sowing the seed: incentives and motivations for sharing research data, a researcher’s perspective. Retrieved February 9, 2015, from http://repository.jisc.ac.uk/5662/1/KE_report-incentives-for-sharing-researchdata.pdf