หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ Plan S และ Project DEAL กับความพยายามผลักดัน OA
Plan S และ Project DEAL กับความพยายามผลักดัน OA
5 เม.ย. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

ความพยายามของห้องสมุด มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยและหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในยุโรปในการผลักดันการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการภายใต้แนวคิดการเข้าถึงแบบเปิด (Open Access – OA) ผ่าน Plan S และ Project DEAL 

รู้จัก Plan S และ Project DEAL 

Plan S คือ ความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานวิชาการภายใต้แนวคิด OA ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 โดยเป็นความคิดริเริ่มของ cOAlition S ซึ่งเป็นกลุ่มของหน่วยงานวิจัยระดับชาติและหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจาก 12 ประเทศในยุโรป (ปัจจุบัน cOAlition S ประกอบด้วยหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยระดับชาติ 15 หน่วยงาน และ มูลนิธิการกุศล 4 แห่ง)

Plan S กำหนดให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ได้รับประโยชน์จากองค์กรวิจัย และ สถาบันที่ได้รับทุนวิจัยจากรัฐ เผยแพร่ผลงานวิชาการของตนเองในวารสาร OA หรือ แพลตฟอร์ม OA โดยเริ่มในปี 2020 นี้ โดย Plan S มีหลักการ 10 ข้อ คือ

  1. ผู้สร้างสรรค์ผลงานควรสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานตีพิมพ์ของตนเอง แต่ต้องเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบเปิด เช่น Creative Commons โดยเฉพาะเงื่อนไข แสดงที่มา/อ้างที่มา (Attribution – BY) หมายถึง อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าว และสร้างงานดัดแปลงจากชิ้นงานดังกล่าว ได้เฉพาะกรณีที่ผู้นั้นได้แสดงเครดิตของผู้เขียนหรือผู้ให้อนุญาตตามที่ระบุไว้ 
  2. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจะสร้างความมั่นใจในการกำหนดเกณฑ์และข้อกำหนดที่แข็งแกร่งสำหรับบริการที่สอดคล้องกับวารสารและแพลตฟอร์ม OA
  3. กรณีที่ยังไม่มีวารสารและแพลตฟอร์ม OA หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยควรสร้างแรงจูงใจสำหรับการสร้างวารสารและแพลตฟอร์ม OA
  4. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยและมหาวิทยาลัยควรรับผิดชอบเรื่องค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ผลงานของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในวารสารและแพลตฟอร์ม OA 
  5. เมื่อค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารและแพลตฟอร์ม OA ถูกประยุกต์ใช้ เงินทุนสนับสนุนค่าธรรมเนียมฯ ควรเป็นมาตรฐานและต่อยอด (ทั่วยุโรป)
  6. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจะขอให้มหาวิทยาลัย องค์กรวิจัย และห้องสมุด ดำเนินการวางนโยบายและกลยุทธ์ที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความโปร่งใส
  7. หลักการข้างต้นจะนำไปใช้กับสิ่งพิมพ์ทางวิชาการทุกประเภท
  8. ความสำคัญของ open archives และ open repositories ได้รับการยอมรับ เพราะช่วยในการเก็บรักษาผลงานในระยะยาว
  9. วารสารประเภท hybrid OA ไม่สอดคล้องกับหลักการข้างต้น
  10. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจะตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักการนี้

Project DEAL คือกลุ่มความร่วมมือของห้องสมุด มหาวิทยาลัย และสถาบันการวิจัยในประเทศเยอรมนี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2016 เพื่อสร้างข้อตกลงสัญญาอนุญาตใหม่ทั่วทั้งประเทศระหว่างห้องสมุด มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในประเทศเยอรมนี กับ 3 สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ คือ Elsevier, Springer Nature และ Wiley เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการเข้าถึงเนื้อหาและราคาของวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการหลัก 3 ข้อของ DEAL คือ

  1. การกำหนดราคาที่ยุติธรรมของสำนักพิมพ์ โดยพิจารณาจากจำนวนสิ่งพิมพ์
  2. การเข้าถึงสิ่งพิมพ์แบบเปิดทั้งหมดโดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันในเยอรมนี และ
  3. การเข้าถึงวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของ Elsevier อย่างถาวร สำหรับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้แทน Project DEAL

Project DEAL เสนอโมเดล ชื่อ “publish and read” (ตีพิมพ์และอ่าน) เพื่อส่งเสริมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการภายใต้แนวคิด OA โดยเป็นการรวมค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงเพื่ออ่านบทความและตีพิมพ์บทความเป็นค่าธรรมเนียมเดียว แทนการคิดเป็น 2 ก้อน 2 ครั้ง แยกกัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Plan S และ Project DEAL 

การเปิดตัว Plan S และ Project DEAL นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการในยุโรป โดยเฉพาะการเจราจาต่อรองระหว่างสำนักพิมพ์กับห้องสมุด สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น 

  • นอร์เวย์: Norwegian Directorate for ICT and Joint Services in Higher Education and Research ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มสถาบันการวิจัยในประเทศนอร์เวย์ ประกาศยกเลิกการต่ออายุสมาชิกสำนักพิมพ์ Elsevier เนื่องจาก Elsevier ไม่สามารถตอบสนองข้อร้องขอของนอร์เวย์เรื่องการเข้าถึงผลงานวิจัยแบบเปิดที่ดีขึ้น 
  • เยอรมัน: 
    • 4 สถาบันการศึกษาในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี คือ Freie Universität Berlin, Humboldt-Universität zu Berlin, Technische Universität Berlin, และ Charité – Universitätsmedizin Berlin รวมถึง Max Planck Society องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ประกาศยกเลิกต่ออายุสมาชิก Elsevier หลังจากล้มเหลวในการพยายามเจราจาในข้อตกลงเกี่ยวกับ OA
    • สถาบันในเยอรมนี (ห้องสมุดเกือบ 700 แห่ง สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย) และ สำนักพิมพ์ Wiley บรรลุข้อตกลง Open-Access Publishing หลังจากใช้เวลาในการเจรจาเรื่องสัญญาความร่วมมือเกือบ 3 ปี ที่เรียกว่า Project DEAL โดยมีการลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยชาวเยอรมันในองค์กรเหล่านี้สามารถอ่านเนื้อหาออนไลน์ของ Wiley ได้โดยเสียค่าธรรมเนียมรายปี และสามารถเผยแพร่ผลงานวิชาการของตนเองผ่าน Wiley เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงและอ่านผลงานวิชาการเหล่านั้นได้ฟรี
  • สวีเดน: มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของสวีเดนยกเลิกการต่ออายุสมาชิกสำนักพิมพ์ Elsevier เนื่องจาก Elsevier หลังสัญญาเดิมหมดอายุในปลายเดือนมิถุนายน 2561

เหตุการณ์นี้ยังขยายไปยังสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประกาศยกเลิกการต่ออายุการเป็นสมาชิกสำนักพิมพ์ Elsevier เนื่องจากความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงที่ต้องการให้ Elsevier ลดค่าธรรมเนียมในการบอกรับเป็นสมาชิกวารสาร และ การเข้าถึงผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ ในรูปแบบเปิด หลังพยายามเจรจาต่อรองนาน 8 เดือน มหาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายในการการเจรจาต่อรองกับ Elsevier ในการชำระค่าธรรมเนียมแบบครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าธรรมเนียมในการบอกรับวารสาร และ ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเพื่อให้บทความวิชาการของนักวิจัย/นักวิชาการภายในมหาวิทยาลัยฯ อยู่ในรูปแบบ OA ซึ่งผู้อ่านทุกคนที่สนใจสามารถเข้าถึง การยกเลิกสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับ Elsevier นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันของมหาวิทยาลัยฯ ในการทำให้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้รับทุนจากสาธารณะเผยแพร่ในรูปแบบ OA 

ที่มาข้อมูล

5 เม.ย. 2562
0
แชร์หน้านี้: