หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ ผลสำรวจเกี่ยวกับ Open Science: Open Access และ Data sharing ของนักวิจัย
ผลสำรวจเกี่ยวกับ Open Science: Open Access และ Data sharing ของนักวิจัย
13 มี.ค. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

ตุลาคม ปี 2016 สำนักพิมพ์ Wiley สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับ Open Science จากนักวิจัยผู้เขียนบทความวิชาการ จำนวน 4,680 คน ใน 112 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าใจว่านักวิจัยปฏิบัติต่อการร้องขอหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับ Open Access (OA) หรือ การเข้าถึงแบบเปิด การจัดการข้อมูล และการมีส่วนร่วมในการแชร์ข้อมูลและผลงานวิจัยของตนเองอย่างไร การสำรวจนี้สร้างขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้าของ สำนักพิมพ์ Wiley เกี่ยวกับ OA และ Open Data ในปี 2013 เพื่อค้นหาแนวโน้มในการวิจัย

Open Access (OA)

  • การเผยแพร่ผลงานในรูปแบบ OA เพิ่มมากขึ้น เกือบ 2 ใน 3 ของผู้เขียนระบุว่าได้ตีพิมพ์บทความใน Hybrid journal หรือ Gold journal (65% ระบุว่าตีพิมพ์ในวารสาร OA และ 35% ระบุว่าไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร OA) โดยเพิ่มขึ้น 8% จากปี 2013
  • ผู้ตอบแบบสำรวจรับรู้ถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ให้ทุน (50%) และสถาบัน (55%) เพื่อให้เผยแพร่บทความสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะในรูปแบบ Gold OA หรือ Green OA
  • กลุ่มสาขาที่มีการกำหนดให้เผยแพร่บทความในรูปแบบ OA มากที่สุดคือ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (70%) สาขาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (70%) สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (60%) และ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (54%)
  • 58% ของผู้เขียนในทวีปเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า หน่วยงานผู้ให้ทุนกำหนดให้ตีพิมพ์บทความใน OA รองลงมาคือผู้เขียนในทวีปอเมริกา (44%) และในทวีปยุโรป ตะวันอออกลาง และแอฟริกา (47%) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการกำหนดของสถาบันของผู้เขียน พบว่าตัวเลขสูงกว่า คือ 66% ของผู้เขียนในทวีปเอเชียแปซิฟิกระบุว่าหน่วยงานของตนกำหนดให้ตีพิมพ์บทความใน OA ขณะที่ผู้เขียนในทวีปอเมริการะบุการกำหนดดังกล่าวจากสถาบันเพียง 39%

Article Archiving

  • มีการรายงานเรื่องการเก็บบทความ (ทั้งในคลังความรู้องค์กร คลังความรู้สาธารณะ และเว็บเพจส่วนตัวของผู้เขียนบทความ) มากกว่า 2 เท่า (34% กำหนดให้มีการจัดเก็บโดยสถาบัน และ 17% กำหนดให้มีการจัดเก็บโดยผู้ให้ทุน)
  • 44% ของนักวิจัยเก็บบทความของตนในคลังความรู้ขององค์กร 34% เก็บไว้ในคลังความรู้สาธารณะ และ 22% เก็บไว้ในเว็บเพจส่วนตัว
  • ในทวีปยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา และ เอเชียแปซิฟิก พบว่าแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้นักวิจัยเก็บบทความในคลัง คือ การกำหนดของสถาบัน ต่างจากในทวีปอเมริกาที่แรงจูงใจสำคัญคือการต้องการเผยแพร่ผลงานของผู้เขียน

Data Sharing

  • 69% ของนักวิจัย (จากทั้งหมด 4,680 คน) ระบุว่าได้แบ่งปันข้อมูลการวิจัยของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% จากการศึกษาก่อนหน้าในปี 2014 ที่ 52%
  • วิธีที่พบบ่อยที่สุดที่นักวิจัยใช้ในการแบ่งปันข้อมูล คือ ในการประชุม (48%) เป็นข้อมูลเสริมในวารสาร (40%) หรือ ไม่เป็นทางการ/เมื่อถูกร้องขอ (33%) โดย 41% ระบุว่ามีการแชร์ข้อมูลอย่างเป็นทางการผ่านรูปแบบต่างๆ ของคลังข้อมูล (29% ในเว็บเพจโครงการ สถาบันหรือส่วนตัว 25% ในคลังข้อมูลสถาบัน มหาวิทยาลัยหรือองค์กรสนับสนุน 10% ในคลังข้อมูลเฉพาะสาขา และ 6% ในคลังข้อมูลทั่วไป)
  • นอกเหนือจากการกำหนดของสถาบันหรือหน่วยงานผู้ให้ทุนที่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้นักวิจัยแชร์ข้อมูล เหตุผลอื่นๆ คือ
    • เพื่อเพิ่มผลกระทบและการมองเห็นของงานวิจัย (39%)
    • เพื่อประโยชน์สาธารณะ (35%)
    • เพื่อความโปร่งใสและการนำข้อมูลมาใช้ซ้ำ (31%)
    • ข้อกำหนดของวารสาร (29%)
  • ในทางตรงกันข้าม เหตุผลอันดับต้นๆ ที่นักวิจัยไม่ต้องการแชร์ข้อมูล คือ
    • ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและความลับ (50%)
    • ความกังวลเกี่ยวกับจริยธรรม (31%)
    • การตีความที่ผิดหรือการใช้ในทางที่ผิด (23%)

ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่สอดคล้องกับการสำรวจก่อนหน้า แต่ที่น่าสนใจ คือ ความกังวลเกี่ยวกับจริยธรรม ขยับขึ้นมาเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้เขียนอ้างว่าไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลของตนเองแก่ผู้อื่น

ข้อมูลเพิ่มเติม

Hybrid journal คือ วารสารแบบดั้งเดิม ที่ห้องสมุดยังต้องจ่ายค่าบอกรับเพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านบทความในวารสารได้ และ ยังมีบทความที่เป็น OA ซึ่งผู้เขียนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มให้แก่วารสาร หากต้องการสิทธิ์ในการนำบทความเฉพาะของตนไปจัดเก็บหรือเผยแพร่ในเว็บไซต์ส่วนตัวหรือคลังความรู้องค์กร ผู้อ่านสามารถอ่านบทความในวารสารได้โดยไม่ต้องเสียค่าดาวน์โหลดบทความ

Gold journal คือ วารสาร OA ที่ผู้อ่านสามารถอ่านบทความในวารสารได้ทันทีที่บทความได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ โดยผู้อ่านไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลดบทความ แต่ผู้เขียนบทความต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่วารสาร

Gold OA หมายถึง บทความได้รับการเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตทันทีที่บทความได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์

Green OA หมายถึง บทความไม่ได้รับการเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตทันทีที่บทความได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ แต่สามารถอ่านบทความฉบับย้อนหลังได้ ซึ่งบางวารสารอาจกำหนดให้มีการทิ้งช่วงเวลา 6–24 เดือน หลังบทความนั้นได้รับการตีพิมพ์ ผู้เขียนสามารถนำบทความของตนไปจัดเก็บหรือเผยแพร่ในเว็บไซต์ส่วนตัวหรือคลังความรู้องค์กร

ที่มาข้อมูล

Vocile, B. (2017, April 20). Open science trends you need to know about [Blog post]. Retrieved from https://www.wiley.com/network/researchers/licensing-and-open-access/open-science-trends-you-need-to-know-about

13 มี.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: