หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ Open Science คืออะไร
Open Science คืออะไร
11 มี.ค. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

Open Science หรือ วิทยาการแบบเปิด คือ การเคลื่อนไหว (movement) เพื่อให้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (หมายรวมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์) เช่น สิ่งพิมพ์ ข้อมูล ตัวอย่างทางกายภาพ และซอฟต์แวร์ และการเผยแพร่ทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงแบบออนไลน์และไม่เสียค่าใช้จ่าย 

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) นิยามความหมายของ Open science โดยเสนอว่า Open science หมายรวมถึง

  • การเข้าถึงแบบเปิดผลงานตีพิมพ์วิชาการทางวิทยาศาสตร์
  • การเข้าถึงแบบเปิดข้อมูลวิจัยและสื่อ
  • การเข้าถึงแบบเปิดแอพพลิเคชั่นดิจิทัลและ source code
  • การเข้าถึงแบบเปิดเพื่อนักวิทยาศาสตร์ สาธารณะ และบริษัทเอกชน
  • การยืนยันทางวิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นสินค้าสาธารณะที่ดี

หัวใจสำคัญของ Open Science คือ Open ที่หมายถึง 5R ได้แก่

  1. Retain หมายถึง สิทธิ์ในการสร้าง เป็นเจ้าของ และควบคุมสำเนาของเนื้อหา (เช่นดาวน์โหลด ทำซ้ำ จัดเก็บ และจัดการ)
  2. Reuse หมายถึง สิทธิ์ในการใช้ซ้ำ เช่น ใช้บนเว็บไซต์ ใช้ในบทความฉบับพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ และ ใช้ในชั้นเรียน ใช้ในการวิจัย หรือใช้ในสถานท่ี่หรือโอกาสอื่นๆ
  3. Revise หมายถึง สิทธิ์ในการแก้ไข ปรับปรุง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลง เช่น การแปลจากภาษาหนึ่งเป็นภาษาอื่นๆ 
  4. Remix หมายถึง สิทธิ์ในการนำเนื้อหาจากต้นฉบับหรือเนื้อหาที่แก้ไขแล้วมารวมกับเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งเผยแพร่ภายใต้แนวคิดแบบเปิดเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่
  5. Redistribute หมายถึง สิทธิ์ในการแชร์สำเนาเนื้อหาต้นฉบับ เนื้อหาที่มีการแก้ไข (revise) หรือเนื้อหาที่มีการรวมกัน (remix) แก่คนอื่นๆ 

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีครบทั้ง 5R โดยหนึ่งในเครื่องมือสำหรับใช้ในการประกาศสิทธิ์หรือเงื่อนไขเหล่านี้ คือ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons License) ซึ่งประกอบด้วย 4 เงื่อนไข ได้แก่

  1. แสดงที่มา/อ้างที่มา (Attribution – BY) : อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าว และสร้างงานดัดแปลงจากชิ้นงานดังกล่าว ได้เฉพาะกรณีที่ผู้นั้นได้แสดงเครดิตของผู้เขียนหรือผู้ให้อนุญาตตามที่ระบุไว้ ใช้สัญลักษณ์
  2. ไม่ใช้เพื่อการค้า (Non-Commercial – NC) : อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าว และสร้างงานดัดแปลงจากชิ้นงานดังกล่าว ได้เฉพาะกรณีที่ไม่นำไปใช้ในทางการค้า ใช้สัญลักษณ์
  3. ไม่ดัดแปลง (No Derivative Works – ND) : อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าวในรูปแบบที่ไม่ถูกดัดแปลงเท่านั้น ใช้สัญลักษณ์
  4. อนุญาตแบบเดียวกัน (Share Alike – SA) : อนุญาตให้ผู้อื่นแจกจ่ายงานดัดแปลง เปลี่ยนรูปหรือต่อเติมงานได้เฉพาะกรณีที่ชิ้นงานดัดแปลงนั้นเผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตที่เหมือนกันทุกประการกับงานต้นฉบับ หรือสรุปง่ายๆ ว่าต้องใช้สัญญาอนุญาตชนิดเดียวกันกับงานดัดแปลงต่อยอดใช้สัญลักษณ์

โดย 4 เงื่อนไขข้างต้นนี้สามารถเลือกมาสร้างเงื่อนไขได้ 6 แบบ ดังนี้

  1. Attribution CC – BY ให้เผยแพร่ ดัดแปลง โดยต้องระบุที่มา
  2. Attribution CC – BY -SA ให้เผยแพร่ ดัดแปลง โดยต้องระบุที่มาและต้องเผยแพร่งานดัดแปลงโดยใช้สัญญาอนุญาตเดียวกัน
  3. Attribution CC – BY -ND ให้เผยแพร่ โดยต้องระบุที่มา แต่ห้ามดัดแปลง
  4. Attribution CC- BY -NC ให้เผยแพร่ ดัดแปลง โดยต้องระบุที่มาแต่ ห้ามใช้เพื่อการค้า
  5. Attribution CC- BY – NC – SA ให้เผยแพร่ ดัดแปลง โดยต้องระบุที่มาแต่ห้ามใช้เพื่อการค้าและต้องเผยแพร่งานดัดแปลงโดยใช้สัญญาอนุญาตชนิดเดียวกัน
  6. Attribution CC- BY – NC -ND ให้เผยแพร่ โดยต้องระบุที่มาแต่ห้ามดัดแปลงและห้ามใช้เพื่อการค้า

ตัวอย่างเหตุผลที่ต้องมี Open Science คือ

  1. เพื่อเปิดโอกาสแก่นักวิจัยพลเมือง
  2. เพื่อให้นักข่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและรายงานข่าว
  3. เพื่อประเมินผลงาน โดยพิจารณาจากการเปิดเผยผลงาน นอกเหนือจากการพิจารณาจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์เท่านั้น
  4. เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบอกรับทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ
  5. เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้ทราบว่าเงินที่เสียภาษีนั้นทำไปใช้ในการวิจัยเรื่องใด และได้ผลอย่างไร
  6. เพื่อนักศึกษาได้ข้อมูลประกอบการวิจัย
  7. เพื่อผู้วิจัยคนอื่นๆ ได้นำข้อมูลมาทดลองและใช้งาน เพื่อลดขั้นตอนและงบประมาณในการทำวิจัย โดยการใช้ข้อมูลซ้ำจากที่ได้มีการเก็บไว้ก่อนหน้า

ทั้งนี้ นอกจาการเคลื่อนไหวในส่วน Open Science แล้ว ยังมีการการเคลื่อนไหวในมุมหรือในมิติอื่นๆ เช่น Open Access (การเข้าถึงแบบเปิด) Open Data (ข้อมูลแบบเปิด) Open Government (รัฐแบบเปิด) และ Open Education (การศึกษาแบบเปิด)

Open Access หรือ OA (การเข้าถึงแบบเปิด) เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นขึ้นในวงการนักวิจัยที่ต้องการผลักดันให้ผู้ใช้ปลายทางสามารถเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ โดยเฉพาะผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ (Publication) ที่ได้จากการศึกษาหรือการวิจัยได้อย่างอิสระ ในรูปแบบออนไลน์และไม่เสียค่าใช้จ่าย ลักษณะสำคัญของ Open Access คือ อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เป็นเอกสารเนื้อหาฉบับเต็ม ผ่านการพิจารณาโดยผู้รู้ (Peer review) เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบเปิด ตัวอย่าง Directory of Open Access Journals หรือ DOAJ แหล่งรวบรวมวารสารที่มีการเข้าถึงแบบเปิด และ Directory of Open Access Books หรือ DOAB แหล่งรวบรวมหนังสือที่มีการเข้าถึงแบบเปิด

มีความพยายามผลักดันเรื่อง Open Access ยกตัวอย่าง Plan S เป็นความคิดริเริ่มสำหรับ open-access science publishing โดย Science Europe ซึ่งเป็นสมาคมขององค์กรกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่สำคัญและองค์กรด้านการวิจัยในยุโรป ที่ระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2020 งานวิจัยที่ได้รับทุนต้องตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่มีการเข้าถึงแบบเปิด หรือ Open Access Journals หรือ แฟลตฟอร์มที่มีการเข้าถึงแบบเปิดของผู้ให้ทุนวิจัย 

Open Research Data หรือ ORD (ข้อมูลการวิจัยแบบเปิด) คือ กระบวนการที่ทำให้ข้อมูลการวิจัยที่ได้จากขั้นตอนการวิจัย เช่น การทดลอง หรือ การสังเกตการณ์ สามารถเข้าถึงในรูปแบบออนไลน์และไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อความโปร่งใสในการใช้งบประมาณวิจัยและการดำเนินการวิจัย เป็นต้น

ตัวอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Open Research Data เช่น โครงการ Horizon 2020 โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ซึ่งมีเงินทุนสนับสนุนสูงถึง 80,000 ล้านยูโร ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2014-2020 เพื่อให้นักวิจัยทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ หนึ่งในข้อกำหนดของผู้รับทุนในโครงการนี้คือต้องเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยแบบเปิด งานวิจัยทุกอย่างต้องเปิด (Open by default) คือ เปิดเผยเป็นเรื่องปกติ ปกปิดเป็นข้อยกเว้น ภายใต้แนวคิด FAIR data คือ

  • Findability สามารถค้นหาได้
  • Accessibility สามารถเข้าถึงได้
  • Interoperability สามารถทำงานร่วมกันได้
  • Reusability สามารถนำมาใช้ซ้ำได้

แต่ทั้งนี้สำหรับงานวิจัยและข้อมูลวิจัยบางโครงการสามารถปิดได้แต่ต้องอธิบายเหตุผล (Open as possible, Close as necessary) 

Open Science และ Open Access ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีการยอมรับเรื่องดังกล่าวในระดับสากล และ ยังไม่มีความเข้าใจที่ตรงกันเกีี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในทุกส่วนของโลก คือ ยังพบว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องการเปิดเผย (Openness) และสิทธิ์ของผู้ใช้ในการเข้าถึงและใช้สื่อทางการศึกษาและทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในคลังดิจิทัล

 

ที่มาข้อมูล

  • บรรยายพิเศษ เรื่อง Open Science: Open Research Data โดย ศาตราจารย์ ดร.วิลาศ วูวงศ์ ในงานประชุมวิชาการเรื่อง การจัดการศึกษาและวิจัยสารสนเทศศาสตร์ในมิติใหม่ (New Dimensions for Information Science Education and Research) วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.45-12.00 ณ โรงแรม ไมด้า แกรนด์ ทราวดี นครปฐม
  • Smith, C. and Marsan, G. A. Open science: the policy challenges. Retrieved from https://jipsti.jst.go.jp/rda/common/data/pdf/lecture/Smith_Symposium.pdf
  • Vrana, R. (2015). Open science, open access and open educational resources: challenges and opportunities. 2015 38th International Convention on Information and Communication Technology, Electronics and Microelectronics (MIPRO), Opatija, 2015, pp. 886-890. doi: 10.1109/MIPRO.2015.7160399

11 มี.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: