หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากวอชิงตัน ฉบับที่11 เดือนพฤศจิกายน 2561
รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากวอชิงตัน ฉบับที่11 เดือนพฤศจิกายน 2561
13 มี.ค. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

ย้อนรอย วทน. ซีกโลกใหม่ ที่เก่ากว่าที่คิด
ลาตินอเมริกา เป็นดินแดนที่มีประวัติอันยาวนานและมีอารยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีหลายชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ เช่น ชนเผ่าโอลเม็ก (Olmec) มายา (Maya) แอสเต็ก (Aztec) ซาโปเต็ก (Zapotec) ในเม็กซิโก และอเมริกากลาง ที่สร้างสถาปัตยกรรมยุคโบราณ และคิดค้นเทคโนโลยีในการสำรวจดาราศาสตร์ การทำปฏิทิน ไปจนถึงการแพทย์ หรือกลุ่มชนเผ่าอินคา (Inca) ชนเผ่าอัยมารา (Aymara) และชนเผ่ากัวรานี (Guarani) ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นตระกูลของคนในสาธารณรัฐเปรู รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวียและสาธารณรัฐปารากวัย

อินคา (Inca)
อาณาจักรอินคาเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ผืนใหญ่ โดยมีศูนย์กลางทางศาสนา การเมือง และการทหารอยู่ที่เมืองกุสโค (Cusco) (ปัจจุบันเป็นเมืองในเปรู) ชาวอินคามีความเชี่ยวชาญในการสลักหินและการก่อสร้าง มีการเรียงก้อนหินที่ขนาบเข้ากันพอดีไม่มีการใช้โคลนช่วยในการทำให้หินติดกัน ตัวอย่างเมืองเร้นลับบนเขาสูง มาชู ปิกชู (Machu Picchu) – 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่มีการออกแบบทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่ยอดเยี่ยมบนเขาแอนดีส มาชูป ปิกชู ได้วางผังเมืองสอดคล้องกับธรรมชาติ และเอื้อต่อการดำรงชีพ มีการใช้หินสร้างให้เป็นชั้นลดหลั่นลงมาตามแนวเชิงเขาเพื่อสร้างเกษตรขั้นบันได ชาวอินคาเพาะปลูกพืชหลายชนิด หลักๆคือ มันฝรั่ง ข้าวโพด พริก ฝ้าย มะเขือเทศ ถั่วลิสง ควินัว และผักโขม ทั้งนี้ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง หุบเขา และที่ราบต่ำ ชายทะเล รวมทั้งสภาพอากาศหนาวและร้อน เขตฝนตกและแห้งแล้ง มีการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแปรรูปอาหารเก็บไว้ยามขาดแคล เช่น ผลิตแป้งจากมันฝรั่ง หรือการหมักข้าวโพดสด/แห้ง (มีชื่อเรียกว่า Chicha) ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ โดยเทคโนโลยีนี้ ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อัยมารา (Aymara)
เป็นชนเผ่าพื้นเมืองเทือกเขาแอนดีส และพื้นที่ราบสูงอัลติพลาโน (Altiplano) ที่อยู่ในโบลิเวีย ชาวอัยมาราอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้เป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนยุคชนเผ่าอินคา การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับวิถีชีวิตของชนเผ่าอัยมารายังไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับยุคสมัยของชาวอินคา มีเพียงการรักษาทางการแพทย์ โดยใช้สมุนไพรที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ หรือดอกไม้ และการดำรงชีวิตบนพื้นที่สูงกว่าหมื่นฟุต เช่น กรุงลาปาซ และเมืองเอล อัลโต (EI Alto) ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกของโบลิเวีย นอกจากนี้ ชาวอัยมารามีการผลิตสิ่งทอจากวัสดุหลายประเภท เช่น ฝ้าย ขนสัตว์จากแกะ อัลปากา (Alpacas) และยามา (L lamas) ซึ่งนักมนุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่า เป็นสิ่งทอที่มีการพัฒนาและมีความซับซ้อนมากที่สุดในโลกในยุคสมัยนั้นด้วย

กัวรานี (Guarani)
เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในตอนล่างของแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำอะเมซอนลงมาตามแม่น้ำอุรุกกวัยและปารากวัยตอนใต้ ในบริเวณโบลิเวียตะวันออกและปารากวัยในปัจจุบัน เชื่อว่าอารยธรรมกัวรานีเกิดในพื้นที่นี้เป็นเวลาอย่างน้อย 1,000 ปีก่อนการยึดครองของสเปนในช่วงกลางปี ค.ศ.1500 ชนเผ่ากัวรานีมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในภาษาทางการที่ใช้ในปารากวัย (ภาษาทางการอีกภาษา คือ ภาษาสเปน) มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ในอดีตชาวกัวรานีมีประมาณ 400,000 คน มีการปกครองที่เป็นอิสระ โดยหมู่บ้านหนึ่งจะมีประมาณ 10-15 ครัวเรือน ในแต่ละหมู่บ้านมีหัวหน้าคอยปกครองดูแล มีการปลูกพืช เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด รวมถึง เก็บน้ำผึ้ง ปัจจุบันมีชาวกัวรานีประมาณ 5 ล้านคนอาศัยอยู่ในปารากวัย และอีก 2ล้านคนในโบลิเวีย โดยอยู่ในเขตเมืองซานตาครูซในเขตที่ราบลุ่ม ซึ่งถือเป็นชาติพันธุ์ที่มีประชากรจำนวนมากชาติพันธุ์หนึ่งในลาตินอเมริกา มีประวัติศาสตร์เป็นมรดกสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ ดนตรี การเย็บปักถักร้อย ประเพณี และอาหาร

สาธารณรัฐเปรู
หนึ่งในประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยทางด้านทรัพยากร ความหลากหลายทางกายภาพและชีวภาพ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน วทน. โดยมุ่งเน้นพัฒนา 4 หัวข้อหลัก คือ
1.ระบบการบริหารจัดการคนเก่ง โดยจะพัฒนาความรู้ เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรให้เพิ่มมากขึ้น
2.การปฏิบัติตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้าน อาหาร สุขภาพ น้ำสะอาด
3.การพัฒนาเพื่อเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution) มุ่งเน้นที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุกรรม
4.การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

CONCYTEC
หน่วยงาน National Council for Science, Technology and Innovation เป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบรรทัดฐานทางด้าน วทน. ของประเทศ และมีหน้าที่หลักคือ
1.ส่งเสริมการพัฒนาทางด้าน วทน. ผ่านการดำเนินการร่วมกันระหว่างโครงการและความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ
2.เชื่อมโยงระบบ วทน. แห่งชาติระหว่างหน่วยงาน ภาคการศึกษา องค์กร ธุรกิจ และสังคม
3.มีส่วนร่วมในการพัฒนาให้กองทุน วทน. เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ CONCYTEC ยังทำหน้าที่ในการวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนา วทน. ของประเทศ
-ส่งเสริมการสร้างและถ่ายทอดความรู้ด้าน วทน. ให้มีความสอดคล้องกับงานวิจัยและความต้องการของประเทศ
-ส่งเสริมการสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ
-ปรับปรุงคุณภาพของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
-เสริมสร้างกรอบทางกฎหมายด้าน วทน. ของประเทศ
-ส่งเสริมและพัฒนาสิ่งจูงใจใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นและเพิ่มกิจกรรม ด้าน วทน.

โครงการพัฒนาสมุนไพรสำหรับการเลิกสิ่งเสพติด
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิมา ได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือกับเปรูในด้านสมุนไพรในการพัฒนาสมุนไพร สำหรับการล้างพิษและเลิกสารเสพติด ซึ่ง ศ.ภญ. ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นผู้ให้คำปรึกษาหลักของฝ่ายไทย โดยมุ่งเน้นพืชสมุนไพร 3 ชนิดที่พบได้ในเปรู ได้แก่ รางจืด เถาวัลย์เปรียง และ ย่านางแดง นับเป็นแนวคิดสำคัญที่ใช้มิติด้าน วทน. ในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยอาศัยฐานงานวิจัยด้านทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความคล้ายคลึงกัน

รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย
โบลิเวียเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยแร่ลิเทียมแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่ใช้ผลิตแบตเตอรีและอุปกรณ์เก็บกักพลังงาน แต่ทั้งนี้ การพัฒนาทางด้าน วทน. ของประเทศยังไม่โดดเด่นมากนัก รัฐบาลโบลิเวียเริ่มผลักดันการพัฒนา โดยเฉพาะการศึกษา โดยมอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศและกลับมาทำงานให้กับประเทศบ้านเกิด ดังนั้น ภาคการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก
กระทรวงศึกษาธิการ
โบลิเวียไม่มีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือหน่วยงานระดับกระทรวงที่รับผิดชอบงานด้าน วท. โดยตรง งานด้าน วทน. อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ กลุ่มมหาวิทยาลัยกึ่งรัฐกึ่งเอกชน และกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน

มหาวิทยาลัยแห่งชาติซานอันเดรส (Universidad Mayor de San Andrés – UMSA)
มหาวิทยาลัย San Andres เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุด ใหญ่ที่สุด และเก่าแก่เป็นลำดับสอง (พ.ศ.2373) ของมหาวิทยาลัยในโบลิเวีย ตั้งอยู่กลางกรุงลาปาซ UMSA เป็นหนึ่งในศูนย์การศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศ ในปี พ.ศ. 2560 QS ลาตินอเมริกาจัดอันดับมหาวิทยาลัย UMSA เป็นมหาวิทยาลัยโบลิเวียที่ดีที่สุดและอยู่ในตำแหน่ง 91 ของลาตินอเมริกาทั้งหมด

มหาวิทยาลัยคาทอลิก วิทยาเขตซานปาโบล (Catholic University- San Pablo)
มหาวิทยาลัยซานตาครูสเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน บริหารโดยหอการค้าอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของซานตาครูซ (CAINCO) มหาวิทยาลัยนี้ถือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงที่สุด และอยู่ในลำดับ 6 ของโบลิเวีย มีคณะที่เปิดรับนักศึกษา 5 คณะ ได้แก่ บริหารธุรกิจ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ และมนุษยศาสตร์และการสื่อสาร

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2019/20190312-newsletter-washington-vol11-61.pdf

13 มี.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: