หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ สรุปการบรรยายหัวข้อ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในงาน R&D Sharing 2017
สรุปการบรรยายหัวข้อ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในงาน R&D Sharing 2017
28 ส.ค. 2560
0
นานาสาระน่ารู้

สรุปการบรรยายหัวข้อ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเกษตรนาโนและสิ่งแวดล้อม ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในงาน R&D Sharing 2017 ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้ดังนี้

หน่วยวิจัยได้นำเทคโนโลยีระบบนำส่งซึ่งเป็นนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับไก่ เพื่อนำส่งสารสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติให้ออกฤทธิ์ได้ดีในไก่ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยทำให้สารสกัดโหระพาซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อบิดในลำไส้ไก่และสารสกัดออริกาโน่ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ ต้านอนูมูลอิสระ และกระตุ้นให้สัตว์อยากทานอาหารเยอะๆ ซึ่งปกติสารทั้งสองละลายได้ในไขมันพัฒนาให้ละลายได้ในน้ำ ทำให้ไก่สามารถกินได้ แล้วออกแบบระบบนำส่งเพื่อให้เหมาะสมกับสรีระของไก่ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลำไส้สั้น หลังจากได้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจในห้องปฏิบัติการแล้ว มีการต่อยอดศึกษาต่อในไก่โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วติดตามพฤติกรรมการกินของไก่ น้ำหนักตัว สุขภาพของไก่ รวมทั้งผลผลิตของไก่คือไข่ด้วย จากผลการศึกษาพบว่าไก่ทานอาหารได้มากขึ้น ส่งผลให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง ไข่มีคุณภาพดีขึ้น และไก่ออกไข่ได้เยอะขึ้น และมีผลการศึกษาที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งจากการติดตามผลผลิตของไก่ พบว่าสามารถที่จะเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของคนลงไปในไข่ได้ด้วยจากการใช้เทคโนโลยีระบบนำส่งที่พัฒนาขึ้น ซ่ึ่งจากการศึกษานี้ได้มีการต่อยอดงานวิจัยด้วยความร่วมมือกับเอกชนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่มีชื่อว่า ไข่ออกแบบได้ ซึ่งสามารถออกแบบไข่ให้มีสมบัติตามต้องการได้ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ปลอดเชื้อโรค ไข่ไก่ออร์แกนิค ไข่ไก่พร่องคอเลสเตอรอล ไข่ไก่สมุนไพร ไข่ไก่อุดมสารอาหาร ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศทางด้านเศรษฐกิจประจำปี 2559 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สิ่งที่ในอนาคตทางหน่วยจะทำอะไรต่อไปคือจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบนำส่งเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์อื่น นอกจากไก่ ยกตัวอย่างเช่นหมู นอกจากอาหารสัตว์แล้วยังพบว่าเทคโนโลยีระบบนำส่งสามารถพัฒนาอาหารพืชได้ ก็คือปุ๋ย สามารถพัฒนาปุ๋ยที่ตั้งเวลาควบคุมการปลดปล่อยให้ปลดปล่อยธาตุอาหารตามที่พืชต้องการได้ อาหารคนก็สามารถนำเทคโนโยีนี้ไปใช้ได้เหมือนกัน สามารถใช้เทคโนโลยีระบบนำส่งเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อคนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ เด็กอ่อนและวัยทำงานให้ได้รับสารอาหารที่เต็มที่ เป้าหมายการทำงานของหน่วยคือตั้งใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำก็คือในเรื่องของเกษตรสมัยใหม่ไปจนถึงปลายน้ำคืออาหารเพื่ออนาคตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศไทย

ติดตามการบรรยายฉบับเต็มได้ที่ http://ffwtube.nstda.or.th/category/seminar/rd-sharing/rd-sharing-2017/page/3/  

28 ส.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: