หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าว วิทย์ปริทัศน์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2564
วารสารข่าว วิทย์ปริทัศน์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2564
13 ก.พ. 2565
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าว วิทย์ปริทัศน์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2564

การประชุมประจำปี 2564

     สมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา (ATSA) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (OHESI) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) ได้จัดการประชุมสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐฯ และนักเรียนทุน พสวท. และทุนวิชาการโอลิมปิก ประจำปี 2564 20 – 22 สิงหาคม 2564 ณ โรงแรม Boston Marriott Copley Place นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซ็ตส์ ซึ่งจัดแบบระบบทางไกลและการประชุมในห้อง

การบรรยายช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564
ศาสตรจารย์นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเปิดงานและให้โอวาท
ปอว. ได้ให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตในต่างประเทศ กับนักเรียนไทย ให้ใช้ชีวิตแบบ “ไปให้ถึงอเมริกา” หมายถึงนอกจากเก็บเกี่ยววิชาความรู้แล้ว ให้รู้จักศึกษาเรียนรู้สภาวการณ์ในประเทศนั้นๆ แสวงหาประสบการณ์ที่มีคุณค่าในมิติอื่นๆ เช่นด้านสุนทรียศาสตร์ และการผูกมิตรเพื่อให้เป็นคนที่มีความสุข และมีเครือข่ายมิตรและเพื่อนร่วมงานในระยะยาว

นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันกล่าวให้โอวาท
ให้นักเรียนได้ให้ความตระหนักและร่วมมุ่งแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ เช่นโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งติดตามการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ การศึกษาเรียนรู้ไม่ได้จบแค่วันสำเร็จวันรับปริญญาบัตร

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. บรรยายในหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และนิคมวิจัยสำคัญของไทย แหล่งพัฒนาองค์ความรู้และกำลังคน”
บรรยายถึงภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ในปี 2564 ไทยมีอันดับความสามารถทางการแข่งขัน (IMD World Competitiveness 2021) อยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 อันดับ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 38 โดยค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.11 ของ GDP ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.14 ของ GDP ในปี 2564 รัฐบาลได้ให้การสนับสนุน

ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สอวช. บรรยายในหัวข้อ “นโยบาย BCG Economy กับความจำเป็นต่อการเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่”
บรรยายเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) เป็นแนวทางการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมุ่งเน้น 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1) เกษตรและอาหาร 2) พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ 3) สุขภาพและการแพทย์ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี KMITL บรรยายในหัวข้อ “แนวทางพัฒนาอาจารย์และนักวิจัยในสถาบันการอุดมศึกษายุคใหม่”
กล่าวแนะนำในการพัฒนาความเป็นผู้นำ โดยหลักการสำคัญ คือต้องเป็นผู้กล้าที่จะทำในสิ่งที่ใหม่ที่ดี เน้นมิติการเป็นนักวิจัย เป็นกลุ่มบุคคลที่สร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ และแนะนำให้อ่านหนังสือ How to Lead ของ David Rubenstein เป็นตำราชี้แนะแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. บรรยายในหัวข้อ “บทบาท สสวท. กับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี”
ศ.ดร.ชูกิจฯ กล่าวถึงภารกิจหลัก 3 ด้านของสสวท. คือ 1) มีหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ 2) พัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกสังกัด ทุกระดับชั้น และยกมาตรฐานโรงเรียน 3) พัฒนาส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

รศ.ดร.วีระ จันทร์คง รองประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) บรรยายในหัวข้อ “นักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ กับการสนับสนุนงานของบ้านเมืองในบริบทโลกใหม่”
กล่าวถึงความสำคัญและหลักการที่นวัตกรรมสามารถนำประเทศไทยไปสู่ ประเทศไทย 4.0 ประเทศไทยต้องพัฒนากำลังมันสมองที่จะเป็นเชื้อเพลิงที่จะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมสำคัญ 10 อย่าง

Plenary และ Short Talk จากวิทยากรและนักเรียน
การบรรยายในรูปแบบ Plenary Talk เป็นการบรรยายเชิงวิชาการที่มีงานวิจัยสองหัวข้อหลักคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิชาด้านสังคมศาสตร์

Plenary Talk 1 – ศ.ดร.วาสนา ยันตะสี ศาสตราจารย์จาก Oregon Health and Science University, School of Medicine, CEO ของบริษัท PDX Pharmaceuticals
บรรยายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี Nanoparticles เป็นเทคโนโลยีในการรักษามะเร็งยุดใหม่ สำหรับการรักษามะเร็งระยะรุกลาม อาศัยการรักษาเชิงรุก เนื่องจากเซลล์มะเร็งสามารถเข้าไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้ง่าย และไม่ได้รุกลามไปเฉพาะเซลล์มะเร็ง ดังนั้นต้องให้ยากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โดยใช้การส่งยาที่เรียกว่า multiple pathways delivery

Plenary Talk 2 – ศ.ดร Ian Baird ประธานศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประจำมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison
บรรยายหัวข้อ Covid-19: Spatial Strategies and Politics in Thailand and the United States ซึ่งบรรยายเรื่องราวการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดตามพื้นที่ โดยสหรัฐฯ มีนโยบายการกระจายวัคซีนจากรัฐบาลกลางไประดับท้องถิ่นผ่านรัฐบาลท้องถิ่นในระดับ Counties เป็นผู้กำหนดนโยบาย ระดับองค์กรและบุคคล สำหรับวัคซีนนั้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องคุณภาพของวัคซีน แต่หากมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ชี้ให้เห็นว่าการเกิดโรคโควิด-19 นี้ ทำให้เกิดการเพิ่มอำนาจของรัฐบาลเกือบทุกประเทศ

จาก Plenary Talks นี้ มุมมองของนักวิชาการสองศาสตร์ให้ข้อคิดกับประเทศไทยที่ยังมีข้อแตกต่างกับสหรัฐฯ ในด้านเงินสนับสนุนงานวิจัย การส่งเสริมงานวิจัยชั้นแนวหน้า ในด้านสังคมศาสตร์ชี้ให้เห็นของการบริหารจัดการระดับประเทศที่มีการรวมอำนาจและมีการกระจายอำนาจที่แตกต่างกัน

การนำเสนอผลงานแบบกลุ่มย่อยโดยนักเรียนทุน พสวท. และทุนโอลิมปิก
นักเรียนทุน พสวท. และทุนโอลิมปิกวิชาการจำนวน 20 คนได้นำเสนอผลงานแบบกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ตามสาขาการวิจัย ดังนี้

คณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ จำนวน 4 คน
นักเรียนได้กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องวิทยาการเข้ารหัสลับสมัยใหม่ (modern cryptography) และการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) มาใช้ในการประมวลผล สกัดข้อมูลจากเว็บเพจ นอกจากนี้ยังมีการสนทนาผลลัพธ์ใหม่ของปัญหาดอกทานตะวัน (sunflower problem) ปัญหาเกี่ยวกับความต่อเนื่องบนพื้นผิวในปริภูมิสามมิติ อาจทำให้เกิดการพัฒนาด้านความเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลของคอมพิวเตอร์ได้ในอนาคต

เคมี จำนวน 8 คน
นักเรียนได้นำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อเคมีบริสุทธิ์ การวิจัยในหัวข้อความสมดุลทางเคมีในระบบซับซ้อน และการกระตุ้นปฏิกิริยาในโมเลกุลขนาดเล็ก งานวิจัยนาโนการทดลองจุดนาโน (nanodots) ในย่านใกล้อินฟราเรด และการส่องภาพวัสดุนาโนด้วยเลเซอร์ งานวิจัยสารละลายประจุไฟฟ้าต้านแบคทีเรีย การบำบัดด้วยแสง การรู้จำแบบ (pattern recognition) ของโครงสร้างในเซลล์ประสาท และ การลดของเสียประเภทเคมีการทำการทดลอง

ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์กายภาพ จำนวน 5 คน
นักเรียนนำเสนองานวิจัยเรื่องเทคนิคใหม่ทางฟิสิกส์ควอนตัม ในการวัดค่าฟังก์ชั่นคลื่น และงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ในแกลเลียม ออกไซด์ (Gallium (III) Oxide) และการทดลองในกราฟีนสามชั้น (Trilayer graphene) งานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพโดยการสร้างโมเดลการผุกร่อนของหน้าดิน และการศึกษาพายุรุนแรงในแถบเอเชียตะวันออกเขตร้อน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ประเทศไทยอีกด้วย

ชีววิทยา จำนวน 3 คน
นักเรียนนำเสนองานวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นฐานของกุ้งและโอกาสของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน (sustainable ecotourism) งานวิจัยไวรัส เนื้อเยื่อของไวรัสในปลาม้าลายสองสายพันธุ์ และความสำคัญของโปรตีนที่มีต่อถุงห่อหุ้มของไวรัส (envelope glycoproteins)

การเสวนาในหัวข้อ “วิจัยไทย ทำอะไรกันอยู่”
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศไทย”
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) มีจุดประสงค์หลักคือการสร้างนวัตกรรมและบริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียนภายใน 5 ปี ปัจจุบัน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์หลักของ สทน. ประกอบด้วย เภสัชรังสีรักษามะเร็ง การยกระดับสินค้าเกษตร การฉายรังสีอาหารและผลไม้ และการยกระดับอุตสาหกรรม เป้าหมายในอนาคต คือ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องเร่ง และพลังงานธรรมชาติที่สะอาด และยั่งยืนที่เกิดในดวงอาทิตย์ หรือพลังงานฟิวชั่น

รศ.ดร.พิมพ์ผกา ฮาร์ดิง บรรยายในหัวข้อ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี (FuNTech)”
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี (FuNTech) เป็นองค์กรที่มีผู้ประสานงานในการทำวิจัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน หัวข้อการวิจัยหลักได้แก่ การประยุกต์ใช้พลาสม่าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การจัดเก็บพลังงาน อุปกรณ์แปรรูปอาหาร

และนาโนเทคโนโลยี อยู่ระหว่างการขยายทรัพยากรทางการวิจัย และระบบตีพิมพ์ผลงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผศ.ดร.สัมพันธ์ เนตยานันท์ ประธานบริหารหลักสูตรการเงิน คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยายในหัวข้อ “งานวิจัยด้านคณิตศาสตร์การเงิน”
ผศ.ดร.สัมพันธ์ฯ ได้แบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิต การเรียนและทำงานกับบุคลากร ชั้นนำระดับโลก และอธิบายงานวิจัยในสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งนำแนวคิดมาจากงานวิจัยในแขนงอื่น อาทิ ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และการเงิน และได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน การสร้างเครือข่ายทางสังคม การใช้ชีวิต

พิธีปิดประชุม
อทป.อว. ได้ให้ข้อคิดในการดำรงชีวิตและดำรงตน 5 ประการ ดังนี้
1. Positivist หรือการเป็นผู้นิยมเหตุผล (ไม่ได้แปลว่า การเป็นผู้คิดบวก)
คือการแสวงหาประสบการณ์การรับรู้โดยตรง รู้จักวิเคราะห์ ทดสอบ พิสูจน์ จะทำให้การพัฒนาวิธีคิดมีความถูกต้องและเป็นธรรม นำไปสู่การประสบความสำเร็จ มากกว่าที่จะคล้อยตามหรือเชื่อเพียงแต่การรับรู้ตามสื่อหรือกระแสต่าง ๆ

2. Optimist หรือการเป็นผู้มองโลกในแง่ดี (ซึ่งต่างจากโลกสวย)
การมองโลกในแง่ดี คือการที่เห็นทางออกของปัญหา มีความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่และคิดว่าปัญหาที่มีจะสามารถแก้ไขได้ รวมทั้งพยายามช่วยคิดแก้ไขปัญหาในทางสร้างสรรค์ และไม่ใช้ความก้าวร้าว หรือวาจาไม่เหมาะสม

3. Humanist หรือการมีความเป็นมนุษย์
มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวไปมากในปัจจุบัน จะลดลงได้ ถ้าผู้คนลดการเอาเปรียบผู้อื่น และที่มีโอกาสมากหันมาช่วยเหลือคนที่มีโอกาสน้อยกว่าตน โดยไม่จำเป็นต้องคิดว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นของรัฐบาลหรือองค์กรกลางเท่านั้น

4. Environmentalist หรือการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
หลักการของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้านได้ทวีความรุนแรงขึ้น คนรุ่นใหม่ต้องใส่ใจกับการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรและรักษาสิ่งแวดล้อม

5. Gratitudist หรือการรู้คุณ
ฐานคิดด้านการรู้คุณ ช่วยสร้างความภูมิใจในชาติและบรรพบุรุษ และประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานดังกล่าวที่แน่นหนามีโอกาสเจริญเติบโตได้รวดเร็ว โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ เห็นได้ที่จีนเป็นชนชาติที่ยึดมั่นในหลักการนี้แรงกล้า มีตัวเลขหลายอย่างเจริญแซงหน้ามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น สังคมผู้สูงอายุที่เรากำลังเผชิญมีความจำเป็นต้องใส่ใจในค่านิยมนี้ให้มากยิ่งขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://static1.squarespace.com/static/5f7e0e2e76a05248ed76e064/t/617add868046607e1b232cdd/1635442060641/OST+Science+Review+September+2021+small.pdf

 

 

แชร์หน้านี้: