หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วิธีหลีกเลี่ยงการลอกเลียน (plagiarism) ในงานเขียน
วิธีหลีกเลี่ยงการลอกเลียน (plagiarism) ในงานเขียน
26 พ.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

แนวทาง 5 ข้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการลอกเลียน (plagiarism) ในการเขียนผลงานวิชาการ

ความหมายของคำว่า Plagiarism ตามพจนานุกรม เช่น

  • Cambridge Dictionary – กระบวนการหรือการปฏิบัติในการใช้ความคิดหรืองานของผู้อื่น และหลอกลวงหรืออวดอ้างว่าความคิดหรืองานนั้นเป็นของตนเอง
  • Dictionary by Merriam-Webster – เพื่อขโมยและส่งต่อ (ความคิดหรือคำพูดของผู้อื่น) เป็นของตนเอง: เพื่อใช้ (ผลผลิตของผู้อื่น) โดยไม่ให้เครดิตแหล่งที่มา

การลอกเลียนผลงาน (plagiarism) หมายความถึง

  • การใช้ความคิด ข้อความ หรือคำพูดของผู้อื่น โดยอวดอ้างว่าเป็นของตนเอง
  • การลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยไม่ให้เครดิต ไม่อ้างอิงแหล่งที่มา และไม่แสดงว่าข้อความหรือคำพูดที่คัดลอกมานั้นส่วนใดเป็นของผู้อื่น เช่น ด้วยการใส่เครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูด (“…”)
  • การถอดความหรือการสรุปความโดยไม่ให้เครดิตหรือไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
  • การนำผลงานเดิมของตนเองทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ซ้ำ โดยไม่แจ้งหรืออ้างอิงผลงานเดิมนั้น (self-plagiarism)

การลอกเลียนผลงาน ถือเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม ผิดทางวิชาการและทางปัญญาอย่างร้ายแรง ส่งผลในทางลบอย่างมาก เช่น การเพิกถอนผลงาน การสูญเสียความน่าเชื่อถือและชื่อเสียง รวมถึงการดำเนินคดี

แนวทางในการหลีกเลี่ยงการลอกเลียนผลงาน (plagiarism)

  1. ถอดความ (Paraphrase) – อ่านงานต้นฉบับอย่างรอบคอบและพยายามทำความเข้าใจแนวคิดและบริบทของงานนั้นให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ถอดความได้อย่างถูกต้องและไม่เปลี่ยนความหมายของแนวคิดนั้น จากนั้นใช้คำของตัวเองเพื่อแสดงถึงงานต้นฉบับ โดยไม่ลืมที่จะอ้างอิงถึงงานต้นฉบับ เทคนิคที่มักมีการแนะนำคืออย่าจดบันทึกตามคำหรือข้อความที่ใช้ในงานต้นฉบับ และ อย่าเปิดงานต้นฉบับระหว่างที่เขียน
  2. อ้างคำหรือข้อความของงานต้นฉบับ (Quote) – ใช้เครื่องหมายเครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูด (“…”) เพื่อชี้แจงว่าคำหรือข้อความใดที่นำมาจากงานต้นฉบับ พร้อมระบุแหล่งที่มา การอ้างคำหรือข้อความของผู้อื่นถือเป็นการทำซ้ำคำหรือข้อความ ดังนั้นจึงควรพิจารณาคัดลอกคำหรือข้อความของผู้อื่นเท่าที่จำเป็น
  3. อ้างอิง (Citation) – การใช้ความคิด ข้อความ หรือคำพูดใดๆ ของผู้อื่น (รวมถึงในงานอื่นๆ ที่ผ่านมาของตนเอง) จำเป็นต้องอ้างอิงแหล่งที่มา ยกเว้นข้อเท็จจริงหรือความรู้ทั่วไป แต่หากไม่แน่ใจก็ควรใส่อ้างอิง ประโยชน์ของการอ้างอิง เช่น
    1. เพื่อรับทราบว่าเป็นการใช้ผลงานของผู้อื่น
    2. เพื่อแสดงว่าผู้เขียนได้อ่านและค้นคว้าข้อมูลอย่างกว้างขวาง
    3. เพื่อ Backup ความคิดและข้อโต้แย้งของผู้เขียนพร้อมหลักฐาน
    4. เพื่อแยกแยะความคิดเห็นและข้อโต้แย้งของผู้เขียนกับผู้อื่น
    5. เพื่อการตรวจสอบหรือเพื่อการติดตามรายการที่อ้างอิงถึงของผู้อ่าน
  4. จัดการรายการอ้างอิงที่ใช้ – เก็บและจัดการแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงถึง โดยอาจใช้ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการข้อมูลบรรณานุกรมและการอ้างอิง เช่น EndNote Mendeley และ Zotero เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของผลงานของผู้อื่น
  5. ใช้โปรแกรมเพื่อช่วยตรวจสอบความคล้ายคลึงกันของผลงาน – อาจใช้โปรแกรม เช่น iThenticate เพื่อช่วยแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาคำหรือข้อความของผู้อื่นในการเขียนผลงานว่ามีมากน้อยเพียงไรและอย่างไร และแสดงให้เห็นถึงการใช้การอ้างอิงที่สอดคล้องและสม่ำเสมอกันหรือไม่อย่างไร

อ้างอิง

26 พ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: