อย่างไรก็ตาม ในยุคที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เฟื่องฟู ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะสนับสนุนระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชันในเวอร์ชันท้องถิ่นของตนเสมอ ซึ่งในขณะนั้น (พ.ศ. 2527) มีรหัสภาษาไทย (Character Codes for Computers) ในคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันกว่า 20 รูปแบบ ทำให้เกิดความปัญหาในการพัฒนาซอฟต์แวร์
เนคเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดโครงการวิจัยด้านซอฟต์แวร์ ร่วมกับเอกชน และนักวิชาการด้านภาษา ผ่านการประชุมของกลุ่ม ที่เรียกว่า Thai API Consortium (TAPIC) โดยมีผลพลอยได้เป็นข้อกำหนดสำหรับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทยใน พ.ศ. 2529 – 2534 หลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง“มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (มอก.620-2529)” ซึ่งเป็นมาตรฐานภาษาไทยในคอมพิวเตอร์ฉบับแรกของไทย
รวมถึง “วทท 2.0” ที่เกิดขึ้นเพื่อยุติปัญหาการพัฒนาระบบภาษาไทย ของแต่ละค่ายผู้พัฒนาซึ่งแตกต่างกันและไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้โดยตรง ผ่านการสร้างมาตรฐานวิธีใช้ API ที่ใช้ข้อกำหนดเดียวกัน ทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ตัวเดียวกันได้ โดยมีการรับเข้า การประมวลผล และการแสดงผลภาษาไทยที่ตรงกัน วทท 2.0 ถูกนำไปใช้พัฒนาระบบภาษาไทยของ MS-DOS, Windows ของบริษัทผู้ผลิต ทำให้ระบบ MS-DOS version 6.0 และ Windows 3.0 เป็นต้นมา มีคุณสมบัติตรงกับ วทท.2.0 ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงร่างมาตรฐานสำหรับประเทศไทยเท่านั้น
ปัจจุบัน วทท. 2.0 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ประกาศเป็น มอก.1546-2541 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วทท 2.0 (10 ตุลาคม) เนคเทคชวนติดตามเรื่องราวของ “วทท 2.0” จุดเริ่มต้นรวมรหัสภาษาไทย ในมาตรฐานเดียว ผ่านหนังสือ“คอมพิวเตอร์กับภาษาไทย : การพัฒนามาตรฐานเบื้องต้น สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย”
https://www.facebook.com/NECTEC/posts/6214985078542845