หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2564
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2564
21 ธ.ค. 2564
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2564

มาตรการและเครื่องมือที่ใช้เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายและข้อกำหนดภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55”

          มาตรการภายใต้กฎระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (European Emission Trading System, EU ETS)

ETS คืออะไร: กฎระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (European Emission Trading System, EU ETS) เป็นกลไกทางกฎหมายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานทำซีเมนต์ โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตกระดาษ และอุตสาหกรรมการบิน ที่มีการใช้พลังงานและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง

จุดประสงค์:

ผลักดันให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพทางพลังงาน เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น การลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่งทางถนนผ่านการลงทุนในยานพาหนะที่มีการปล่อยก๊าซฯ เป็นศูนย์การพัฒนาประสิทธิภาพทางพลังงานและการปรับปรุงอาคารบ้านเรือน

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ ETS ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย Fit for 55:

– ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ภายใต้ ETS ให้ได้ร้อยละ 61 ภายในปี ค.ศ. 2030 คือต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้ ETS ทุกปีในอัตราร้อยละ 4.2 ต่อปี

– ภาคการขนส่งทางถนน: จะมีการจัดตั้งระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ETS) แยกจากภาคการขนส่งทางถนน และอาคารบ้านเรือน

– ภาคการขนส่งทางอากาศ: มีแนวโน้มจะลดโควตาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในสาขาการบินลง และจะซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในสาขานี้สู่ระบบประมูลซื้อ (Full auctioning of allowances)

– ภาคการขนส่งทางทะเล: มีกำหนดโควตาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 5,000 ตันที่ต้องการเข้าจอดเทียบท่าเรือในสหภาพยุโรป

– กลไกการปรับค่าคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM): สินค้า 5 ประเภทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย เหล็กและเหล็กล้า และไฟฟ้า

– การนำ CBAM ไปใช้ในทางปฏิบัติ: ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องลงทะเบียนเพื่อซื้อใบแสดงสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CBAM certificate) ซึ่งราคาจะถูกคำนวณจากราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของการประมูลโควต้าการปล่อยคาร์บอนของ ETS หน่วยเป็น ยูโร/การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน

          กฎระเบียบว่าด้วยการกำหนดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก (Effort Sharing Regulation, ESR)

ESR คืออะไร

เป็นกฎระเบียบเพื่อกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การขนส่งทางถนน ระบบสร้างความร้อนให้แก่อาคาร เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และการจัดการขยะ ใช้หลักการคำนวณเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อมูลค่า GDP ของแต่ประเทศ แทนเป้าหมายใน Effort Sharing Decision

ระบบ Bank and Borrow:

จุดประสงค์:

เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคส่วนที่ไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในระบบ EU ETS (European Union Emission Trading System)

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ ESR ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย Fit for 55:

– ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ภายใต้ ESR ให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030

– เนื่องจากการใช้ GDP เพียงอย่างเดียวเพื่อคำนวณเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง จึงเสนอให้มีการปรับเป้าหมายให้มีสัดส่วนประสิทธิภาพต่อต้นทุน (cost-effectiveness) ที่เหมาะสมขึ้นแต่ละประเทศสมาชิกฯ

– การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคส่วนของการขนส่งทางถนนและอาคารบ้านเรือนจะถูกควบคุมภายใต้กฎระเบียบทั้ง ETS และ ESR เนื่องจากการลดการปล่อยก๊าซฯ ในสองภาคส่วนนี้ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

          กฎระเบียบการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และป่าไม้ (land use, land-use change and forestry, LULUCF)

LULUCF คืออะไร

เป็นกฎระเบียบที่ควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้ และการทำการเกษตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศน์และการใช้ทรัพยากรที่ดิน เช่น ควบคุมการถางป่า (indirect land use change) หรือนำพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น (direct land use change) มาใช้ปลูกพืชไบโอดีเซล (biodiesel crops) เพื่อส่งออก หรือนำไปผลิตเป็นพลังงาน รวมถึงการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้

จุดประสงค์

ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนเพื่อมุ่งพัฒนาสู่ภูมิภาคที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ LULUCF ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย Fit for 55:

– เสนอให้มีการกำหนดเป้าหมายในการดูดซับคาร์บอนที่ปล่อยจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้ จุดมุ่งหมายคือ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Sink ให้ได้อย่างต่ำ 310 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2030

– การใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ และเกษตรกรรมจะต้องไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2035

– ระบบการเฝ้าติดตาม การรายงาน และการตรวจสอบปริมาณการปล่อยและการดูดซับคาร์บอนจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ และเกษตรกรรม โดยใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์และระบบรับส่งสัญญาณทางไกล เพื่อให้การติดตามบรรลุเป้าหมาย มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากขึ้น

          มาตรการในภาคการขนส่ง

– กฎระเบียบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuels Infrastructure Regulation) โดยจะต้องติดตั้งสถานีชาร์จไฟและเติมเชื้อเพลิงให้แก่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในระยะทางทุก ๆ 60 กิโลเมตร พร้อมทั้งติดตั้งสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนแก่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนในทุก ๆ 150 กิโลเมตรบนทางหลวงสายหลัก สำหรับการเดินทางระยะสั้นและระยะยาว

– คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้มีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่มีคาร์บอนต่ำเพิ่มมากขึ้นในภาคการขนส่งทางทะเลอีกทั้งเครื่องบินและเรือขนส่งจะต้องเข้าถึงแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่สะอาดในท่าเรือและสนามบินหลักได้

          มาตรการในการจัดตั้งกองทุนให้เงินอุดหนุน

– การจัดตั้ง Social Climate Fund: กองทุนนี้ส่งเสริมมาตรการและการลงทุนในภาคส่วนของอาคารบ้านเรือนและการขนส่งซึ่งมีปริมาณการปล่อยเรือนกระจกที่สูง กลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มครัวเรือน วิสาหกิจขนาดเล็ก และผู้ใช้บริการขนส่ง

– การจัดตั้ง Innovation Fund: กองทุนส่งเสริมนวัตกรรม หรือ Innovation Fund เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม กลุ่มเป้าหมายคือ บริษัทและธุรกิจ เพื่อนำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีสะอาด โดยเฉพาะด้านพลังงานหมุนเวียน แหล่งเก็บพลังงาน และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน พร้อมทั้งช่วยสร้างงานในตลาดเพิ่มมากขึ้น

– การจัดตั้ง Modernisation Fund: เป็นกองทุนช่วยสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำ เป้าหมายนำเงินไปช่วยเหลือลงทุนด้านการพัฒนาและการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาประสิทธิภาพทางพลังงาน แหล่งกักเก็บพลังงาน ระบบพลังงาน และช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้สามารถเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดได้ โดย 10 ประเทศคือ บัลแกเรีย โครเอเชีย เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวาเกีย

มาตรการอื่น ๆ

จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์แห่งยุโรปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ และรายงานเกี่ยวกับมาตรการของอียู

ทิศทางการสนับสนุนงานวิจัย

จากร่างชุดกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Green Deal สหภาพยุโรปจะส่งเสริมให้งบวิจัยแก่งานวิจัยและเทคโนโลยีที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีชาร์จไฟอัจฉริยะ แบตเตอรีสำหรับกักเก็บพลังงาน และการรักษาและเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20210917084720-pdf.pdf

 

 

แชร์หน้านี้: