หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ แนะนำแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
แนะนำแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
8 ก.พ. 2561
0
นานาสาระน่ารู้

เมื่อเดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาคารเก่าแก่ริมน้ำเจ้าพระยา ที่ที่เคยเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศ โดยเปิดดำเนินการครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ. 2512

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมความรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การเมืองและสังคมของประเทศและโลก ณ ช่วงเวลานั้นๆ  เช่น เหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือ เหตุการณ์ญี่ปุ่นขอผ่านประเทศไทย มีหลายเรื่องหลายอย่างที่ตนเองก็พึ่งได้เรียนรู้ และอยากนำมาบอกเล่าต่อ

เริ่มกันที่ห้องแรก ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงเครื่องพิมพ์ธนบัตรจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งต้องใช้ประกอบกันเพื่อพิมพ์ธนบัตร 1 ฉบับ เครื่องพิมพ์ดังกล่าวเคยใช้พิมพ์ธนบัตรในอดีต ปัจจุบันได้ปลดเกษียณแล้ว นอกจากนี้ ภายในห้องยังได้แสดงตัวอย่างอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ธนบัตร เช่น แม่แบบงานแกะโลหะ และอุปกรณ์แกะโลหะเพื่อทำแบบพิมพ์ธนบัตร เป็นต้น โดยมีการนำสื่อมัลติมีเดียเข้ามาร่วมใช้ในการแสดงขั้นตอนการทำงานของเครื่องพิมพ์ธนบัตร เพื่อทำให้เห็นว่าเครื่องพิมพ์นั้นทำงานอย่างไร

 

เครื่องพิมพ์ธนบัตรจริงในอดีต

วิดีทัศน์สาธิตการทำงานของเครื่องพิมพ์ธนบัตรในอดีต

งานพิมพ์ปรู๊ฟด้วยมมือ (ซ้าย) แม่แบบงานแกะโลหะ (ขวา)

อุปกรณ์แกะโลหะเพื่อทำแบบพิมพ์ธนบัตร

วิดีทัศน์แสดงการทำแบบพิมพ์ธนบัตร

ต่อด้วย ห้องมั่นคง ห้องที่ใช้เก็บธนบัตรที่อยู่ระหว่างและจัดพิมพ์เสร็จแล้ว รอหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากห้องมั่นคงเป็นสถานที่สำคัญ ดังนั้นระดับการรักษาความปลอดภัยจึงต้องมั่นคงสูงสุดสมชื่อห้อง เห็นได้จากประตูเหล็กนิรภัยที่ทำด้วยเหล็กกล้าทั้งบาน ความหนาประมาณเมตรกว่าๆ นอกจากนี้ ยังได้เห็นรถขนธนบัตรของจริงอายุหลายสิบปี ภายในห้องมั่นคงอีกด้วย

รถขนธนบัตร ภายในห้องมั่นคง

เดินขึ้นมาอีกชั้นก็จะพบกับห้องนิทรรศการเงินตรา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การจัดแสดงเหรียญลิเดีย (Lydian) ต้นกำเนิดของเหรียญทั้งปวง เรื่อยมาจนถึงเหรียญและเงินรูปแบบต่างๆ ในภูมิภาคสุวรรณภูมิของเมืองต่างๆ เช่น เมืองทวารวดี เงินตราโบราณรุ่นแรกที่ปรากฏในดินแดนไทย เมืองล้านนา เงินชื่อเรียกแปลกๆ ตามรูปทรงและหน้าตาของเงิน เช่น เงินผักชี และเงินปากหมู เป็นต้น และจบลงด้วยเงินพดด้วงโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะเริ่มจัดทำเหรียญกษาปณ์และธนบัตร โดยธนบัตรแบบแรกที่ออกใช้ในประเทศไทย เรียกว่า ธนบัตรแบบที่หนึ่ง (ราวปี พ.ศ 2445) เป็นการสั่งพิมพ์จากประเทศอังกฤษ เนื่องจากธนบัตรมีการพิมพ์หน้าเดียว ธนบัตรรุ่นนี้จึงถูกเรียกว่า ธนบัตรหน้าเดียว

เหรียญลิเดีย (Lydian) ต้นกำเนิดของเหรียญทั้งปวง (ด้านซ้ายมือ)

ไถ้ หรือ ถุงสำหรับใส่เงินพดด้วง

พันธบัตรเงินกู้ ปี พ.ศ. 2448

ประเทศสยาม ขอกู้เงินจากต่างประเทศ (อังกฤษ / ฝรั่งเศส) โดยออกเป็นพันธบัตรจำนวนเงิน 1 ล้านปอนด์ ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยทรงนำเงินกู้ชุดนี้มาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศสยาม อาทิ สร้างถนน, สร้างทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา, การชลประทาน และสาธารณะสุข เป็นต้น (ข้อมูลจาก คุณภาณุวัฒน์ พุฒพรึก ผู้วิเคราะห์อาวุโส (ควบ) ทีมส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ)

แม่พิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ร.9 เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัตรครบ 70 ปี 9 มิ.ย. 2559

ภายในห้องแสดงนิทรรศการนี้ ยังได้รับรู้เรื่องราวของ เงินถุงแดง ซึ่งเป็นเงินที่ รัชกาลที่ 3 ทรงสะสม กำไรจากการค้าสำเภา ในรูปเงินตราสกุลที่ยอมรับกันในทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น เงินเหรียญนกของแม็กซิโก ทรงบรรจุเงินตราดังกล่าวลงในถุงผ้าสีแดง ซึ่งส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ข้างพระแท่นบรรทม จนเป็นที่มาของคำว่า เงินพระคลังข้างที่ เงินถุงแดงนี้ถูกเก็บเป็นเงินสำรองตลอดรัชสมัย รัชกาลที่ 4 เมื่อถึงแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 เงินถุงแดง ที่ได้สะสมไว้มากถึง 3 หมื่นชั่ง ได้ถูกนำมาใช้จ่ายค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส เพื่อไถ่บ้านไถ่เมืองหลังวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 ดังนั้น เงินถุงแดง ก็คือ เครื่องสะสมมูลค่า เพื่อแลกสิ่งที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ของสยามประเทศ

แบบจำลองเงินถุงแดง

นิทรรศการชั้นถัดมาจัดแสดงธนบัตรไทยที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ธนบัตรและเหรียญที่หมุนเวียนในปัจจุบันจนถึงธนบัตรและเหรียญที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ นิทรรศการห้องถัดมาที่ได้เข้าชม คือ ห้องที่รวบรวมประวัติ ผลงาน และการดำเนินนโยบายการเงินของผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือฝาผนังห้องที่ออกแบบให้เห็นถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจไทยในแต่ละยุคสมัยที่ผู้อำนวยการฯ แต่ละท่านในขณะที่ดำรงต้องเผชิญ ยังมีมุมส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนทางการเงินที่ดี

นิทรรศทั้งหมดพยายามออกแบบให้รองรับผู้เข้าชมทุกกลุ่ม เช่น มีอักษรเบรลล์และแบบจำลองเงินตราสำหรับผู้พิการทางสายตา มีการนำระบบ QR code มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ข้อมูลรูปแบบต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน มีการใช้สื่อมัลติมีเดียเพื่อช่วยให้การนำเสนอดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม และมีการออกแบบพื้นที่ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามในการจัดแสดงวัตถุในพิพิธภัณฑ์ แต่ถูกออกแบบเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอข้อมูลในนิทรรศการ เช่น ฝาผนังของห้องที่แสดงให้เห็นถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจไทยในแต่ละยุคสมัย เป็นต้น 

แบบจำลองเงินตราสำหรับผู้พิการทางสายตา

การใช้สื่อมัลติมีเดียเพื่อนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนในอดีต

ท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 9.30-20.00 น. ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก (ถึงเดือนมิถุนายน) ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยส่วนเข้านำชมพิพิธภัณฑ์จะมีวันละ 3 รอบ รอบละ 80 คน โทรศัพท์ 023567766 หรือ www.botlc.or.th

              

8 ก.พ. 2561
0
แชร์หน้านี้: