หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ เอกสารเผยแพร่ 3 ทศวรรษ สวทช. กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3 ทศวรรษ สวทช. กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
28 มี.ค. 2564
0
เอกสารเผยแพร่

สวทช. จัดทำหนังสือเล่มนี้ในโอกาสครบรอบ 30 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงผลกระทบในวงกว้าง โดยคัดเลือกหัวเรื่องต่าง ๆ จากผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง มีผลกระทบต่อประเทศ ได้รับการเผยแพร่และการกล่าวถึงจากสื่อมวลชน รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำบทสัมภาษณ์ผู้บริหารในการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จ ทิศทาง และวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ ทิศทางการเกษตรและอาหาร สุขภาพการแพทย์ ดิจิทัล และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ทราบถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของ สวทช. และแนวคิดของผู้บริหารในการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่สร้างประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อประเทศ

30 ปีที่ผ่านมา สวทช. มีการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจุดแข็งด้านกำลังคน ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพ สามารถสร้างงานวิจัยที่เข้มแข็ง สร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ สวทช.ยังมีเครือข่ายความร่วมมือและพันธมิตรที่เข้มแข็งเสมอมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เป็นพลังในการขับเคลื่อนการทำงานให้ “สวทช. เป็นองค์กรเปิดด้านการวิจัยและพัฒนาที่ประเทศขาดไม่ได้” โดยได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ประจักษ์ ประกอบด้วย 7 ด้านหลัก ดังนี้ 

1. เกษตรและอาหาร
2. วัสดุ พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3. สุขภาพและการแพทย์
4. ดิจิทัล
5. ความมั่นคงของประเทศ การรับมือโรคระบาดและภัยพิบัติ
6. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
7. การพัฒนากำลังคน

1.ด้านเกษตรและอาหาร

สวทช. มุ่งใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยมี “ข้าว” เป็นผลงานวิจัยที่สำคัญ ซึ่งการเข้าร่วม “โครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติ” ในปี พ.ศ. 2542 และการดำเนินโครงการจีโนมข้าวไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มศักยภาพ สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านจีโนมให้กับทีมนักวิจัย นำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณลักษณะที่ดีขึ้นและสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของความสำเร็จของการวิจัยได้แก่ การจดสิทธิบัตรยีนความหอม การพัฒนาข้าวเหนียวพันธุ์ “กข 6 ต้นเตี้ยต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง” ข้าวธัญสิริน ข้าวเหนียวพันธุ์ “น่าน 59” และข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา”

จากข้าวมีการพัฒนาไปสู่พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น “ยางพารา” ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์จากน้ำยางมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตน้ำยางจากเกษตรกรโดยพัฒนาสารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น (BeThEPS), น้ำยางข้นสำหรับทำผลิตภัณฑ์โฟมยาง ParaFIT, น้ำยางโลมาร์ (LOMAR) สำหรับทำถนนลาดยางมะตอย ยางล้อตันรถฟอร์กลิฟต์ประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการจัดการของเสียในโรงงานผลิตน้ำยางข้นที่มีประสิทธิภาพสูง (GRASS) และสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการใช้งานยางพาราในประเทศมากขึ้น ส่วน “มันสำปะหลัง” มีทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ การแก้ปัญหาโรคระบาดด้วยพัฒนาน้ำยาสำหรับตรวจสอบไวรัสใบด่าง การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำและปลอดภัยต่อการบริโภคในระดับอุตสาหกรรม ขณะที่ “อ้อย” ได้มีการนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในการค้นหายีนที่กำหนดความหวานในอ้อยและการปรับปรุงพันธุ์อ้อยแบบบูรณาการ รวมถึงชุดตรวจวิเคราะห์เดกซ์แทรน (Dextran) ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำตาล

สำหรับ “อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์” สวทช. ได้พัฒนาชุดตรวจไฮบริดชัวร์ เพื่อทดสอบเอกลักษณ์พันธุ์พืช ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของสายพันธุ์ลูกผสมได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ใน “อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ” สวทช. พัฒนาทั้งระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว และเทคโนโลยีระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำระบบปิดที่มีการต่อยอดพัฒนาเป็น “ถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียน” นอกจากนี้ยังมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งปลอดโรค การพัฒนาชุดตรวจเชื้อก่อโรคตับตายฉับพลันสาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งอีเอ็มเอส (Amp-Gold) และการพัฒนาไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สมาร์ตฟาร์มเมอร์” ได้อย่างรวดเร็ว สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นทำให้เกิดการวางแผนจัดการการผลิตที่ดี ทั้งปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีทั้งแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลสภาพแวดล้อมทางด้านการเกษตร ระบบควบคุมการเกษตรแม่นยำ ระบบตรวจสอบสภาพของพืชและสภาพแวดล้อม และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เข้ามาช่วย อย่างเช่น “HandySense” ระบบเกษตรแม่นยำ “Aqua Grow” (อะควาโกรว์) ระบบอัจฉริยะที่ช่วยเกษตรกรติดตามดูแลคุณภาพน้ำ และได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำการเกษตรในภาพรวม เช่น “What2Grow เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร” และ “ FAARMis” (ฟาร์มมิส) แอปพลิเคชันสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแบบเชิงรุก รวมถึงจัดทำ “โครงการโรงงานผลิตพืช” หรือ “Plant Factory” ขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อพลิกโฉมการปลูกพืชจากดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติมาสู่การปลูกในระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทำให้ปลอดภัยสูง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง มีปริมาณผลผลิตที่คงที่ และยังสามารถปลูกได้ทั้งปีโดยไม่ขึ้นกับฤดูกาล นอกจากนี้ได้ต่อยอดงานวิจัยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพพัฒนาสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนสารเคมีอันตรายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การผลิตไวรัสเอ็นพีวี และวิปโปร เป็นต้น

สำหรับการวิจัยและพัฒนาอาหาร สวทช. เริ่มต้นจากเทคโนโลยีการหมัก เนื่องจากมีองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ จึงมีการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากการหมักอาหารพื้นบ้าน โดยเทคโนโลยีการใช้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ ซึ่งจากการหมักต่าง ๆ ทำให้ทีมวิจัยเข้าใจและมีองค์ความรู้ของเชื้อแต่ละกลุ่มในอาหารแต่ละอย่างมากขึ้น เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับหมักแหนม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา“ไข่ออกแบบได้” หรือ “สารเสริมอาหารสำหรับไก่เพื่อเพิ่มคุณภาพไข่ไก่” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบนำส่งยา หรือสารสำคัญ ให้อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้ได้สะดวกต่อการเป็นสารเสริมอาหารในไก่ และฟิล์มบรรจุภัณฑ์หายใจได้ ยืดอายุผัก-ผลไม้สด ActivePAKTM และ ActivePaKTM Ultra 

2. ด้านวัสดุ พลังงานและสิ่งแวดล้อม

สวทช. มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การพัฒนามาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยงานวิจัยด้านวัสดุครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาวัสดุ การขึ้นรูปวัสดุให้เป็นชิ้นส่วนที่มีรูปร่างและสมบัติตามความต้องการในการใช้งานซึ่งมีหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ

ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานเด่นด้านวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด ที่ได้รับการต่อยอดขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว การพัฒนา “กราฟีน” วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งมีการต่อยอดไปผลิตหมึกนำไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และนำไปทำเซนเซอร์ พัฒนาเป็นชุดตรวจต่าง ๆ รวมถึงประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และสร้างต้นแบบแบตเตอรีต่าง ๆ

นอกจากนี้ สวทช. ยังได้การพัฒนาสารเคลือบอนุภาคนาโน เพื่อใช้งานกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ประหยัดพลังงานและร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานน้ำมันดีเซล B10 อย่างแพร่หลาย โดยนำเทคโนโลยี H-FAME มาใช้ ซึ่งมีการทดสอบร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถกระบะและเป็นที่ยอมรับทั่วไป

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” (ENZease) หรือเอนไซม์ดูโอที่สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว นอกจากนี้ สวทช. ได้สร้าง “ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ” เพื่อให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุการเสื่อมสภาพของวัสดุอันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มสำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

3. ด้านสุขภาพและการแพทย์

ที่ผ่านมา สวทช. มีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านสุขภาพและการแพทย์ทั้งการพัฒนาชุดตรวจ วัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัคซีน การรับมือโรคอุบัติใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดสมุนไพรและตำรับเวชสำอางต่าง ๆ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีผลงานเด่น ๆ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น ความสำเร็จในการพัฒนาสารต้านมาลาเรียชนิดใหม่ของโลก ที่มีชื่อเรียกว่า “สาร P218” ซึ่งเป็นสารต้านมาลาเรียตัวแรกที่นักวิจัยไทยออกแบบและสังเคราะห์ขึ้นเอง และการพัฒนา“เดนตีสแกน” (DentiiScan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำแสงทรวงกรวยสำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้าขึ้นเป็นรายแรกในไทย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาชุดตรวจอย่างง่ายเพื่อคัดกรองผู้เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย และการพัฒนา “มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยีกล้องอินฟราเรดผนวกระบบตรวจจับใบหน้าบุคคลอัตโนมัติ สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 0.1 วินาที

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งเตียงตื่นตัว (JOEY) และ M-Wheel อุปกรณ์พ่วงต่อเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาเป็นรถเข็นไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมอาหาร เช่น ผงปรับความหนืดในอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก ช่วยลดอาการสำลัก นวัตกรรมอาหารที่บดเคี้ยวและกลืนง่ายสำหรับผู้สูงอายุ และขนมปังแซนด์วิชและครัวซองปราศจากกลูเตน ที่ใช้ฟลาวข้าวเจ้าเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อลดการเกิดอาการแพ้ต่อผู้บริโภค

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสกัดและกักเก็บสารออกฤทธิ์สำคัญในอนุภาคระดับนาโน สวทช.ได้มีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดจากสมุนไพรไทยในอาหารเสริมและตำรับเวชสำอางต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันเมล็ดงาม้อนบรรจุแคปซูลนิ่ม ที่อุดมไปด้วยปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพลิโคซานอลจากสารสกัดไขอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด เจลลดการอักเสบสิวจากบัวบก มังคุด และกานพลู การพัฒนาเซรั่มบำรุงผิวหน้าเซริซิน และอนุภาคสารสกัดใบหมี่และบัวบกสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

4. ด้านดิจิทัล

ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลของ สวทช. มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างสมองค์ความรู้ นักวิจัย และสร้างระบบนิเวศให้งานวิจัยเพื่อให้เทคโนโลยีไปถึงมือผู้ใช้มากขึ้น และที่สำคัญ สวทช. ได้มีโอกาสทำงานสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ใน “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งมี สวทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ โครงการนี้มีการดำเนินกิจกรรมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมทั้งเด็กในชนบท ผู้พิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาล และผู้ต้องขัง

นอกจากนี้ สวทช. มีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำและลดช่องว่างในการศึกษาหาความรู้ของนักเรียนไทยทั่วประเทศด้วย “SchoolNet Thailand: โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย” และร่วมดำเนินการโครงการจัดทำเนื้อหาระบบ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ขึ้น หรือ “อีดีแอลทีวี” (eDLTV) รวมถึงมีการต่อยอดการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ให้อยู่ใน “ระบบการศึกษาออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชน” (MOOC) พร้อมทั้งเปิดให้เชื่อมต่อกับ “ระบบคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด” (OER) อีกทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรริเริ่มสนับสนุนด้านไอทีให้กับโรงเรียนมัธยมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนใน “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” เพื่อสร้างคน สร้างงาน และสร้างเครือข่ายให้กับพื้นที่ห่างไกล

ขณะเดียวกัน สวทช. ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านภาษาโดยริเริ่มวิจัยและพัฒนาการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) เป็นรายแรก ๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีผลงานเด่นที่รู้จักกันดีจนถึงปัจจุบัน เช่น ภาษิต (PARSIT) ซอฟต์แวร์แปลภาษา วาจา (VAJA) ซอฟต์แวร์สังเคราะห์เสียงพูดภาษาไทย และพาที (PARTY) ระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการ “Size Thailand” เพื่อสำรวจและวิจัยมาตรฐานขนาดรูปร่างของคนไทย การพัฒนาบอร์ดสมองกลฝังตัว ”KidBright” (คิดไบร์ท) ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้งได้โดยง่ายและสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มระดับใช้งานในระดับประเทศ เช่น Thai School Lunch ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ “eMENSCR” ระบบสารสนเทศที่ใช้ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานผ่านแผนงาน โครงการ หรือการดำเนินงานต่างๆ ของประเทศ “TPMAP” ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า และ “AI FOR THAI” แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทยที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรเอไอเชิงลึกให้กับประเทศอีกด้วย

5. ด้านความมั่นคงของประเทศ การรับมือโรคระบาดและภัยพิบัติ

สวทช. ทำงานทางด้านความมั่นคงมาระดับหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมมือกับสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ในการพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า “ทีบ็อกซ์” เครื่องรบกวนสัญญาณไร้สาย เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และทดแทนเทคโนโลยีนำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ จากผลงาน “ทีบ็อกซ์” ที่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศเกิดความเชื่อมั่นในผลงานของนักวิจัยไทยและต่อยอดความร่วมมือไปยังเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เกราะกันกระสุน เสื้อเกราะกันกระสุน วิจัยและพัฒนาคุณภาพใบพัดยางและยางกันกระแทกท่าเรือ ต้นแบบคัพปลิ้งแบบยืดหยุ่นที่ใช้ในเรือตรวจการณ์ ต้นแบบอาหารพลังงานสูงน้ำหนักเบาสำหรับพกพา E-nose ในการตรวจวัดกลิ่นแทนสุนัขทหาร และระบบติดตามผุ้ต้องสงสัย เป็นต้น

สวทช. ยังสร้างความปลอดภัยให้กับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในงานด้านสมาร์ตซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ เช่น Traffy Waste” (ทราฟฟี่ เวสต์) หรือ ระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ และ “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมด้วยการออกแบบและพัฒนา “ห้องโดยสารรถพยาบาลให้ได้โครงสร้างความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงกระทําที่เกิดขึ้นกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ” และระบบ “SOS Water” เพื่อแก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ

สำหรับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ “Traffy Fondue” ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอท เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันดีดีซี-แคร์ ติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรควิด-19 ร่วมกับกรมควบคุมโรค

นอกจากนี้เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามเผชิญภาวะวิกฤต สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ด้วยวิธีสกัด RNA เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 แบบง่าย และเทคโนโลยีโคซี-แอมป์ ชุดตรวจโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ยับยั้งการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสำหรับการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น “PETE เปลปกป้อง” เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแรงดันลบแบบปลอดภัย อุปกรณ์ “MagikTuch” ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส และ “นวัตกรรมอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (Girm Zaber Robot) ซึ่งมีทั้งรุ่นที่เป็น Station และหุ่นยนต์ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี – ซี (UV-C) สามารถเข้าถึงการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ดี

6. ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

สวทช. ริเริ่มการสนับสนุนภาคเอกชนด้วยการพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไอแทป (ITAP ) ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในการสนับสนุนและผลักดันให้เอสเอ็มอี สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม สามารถยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ และมีการวิจัย พัฒนาและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างรายได้ที่แท้จริง และต่อยอดส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างขีดความสามารถเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศด้วยนิคมวิจัยสำหรับเอกชนแห่งแรกในไทย “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” ซึ่งเป็นนิคมวิจัยที่มีความสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

TMC สวทช. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมและมีบริการสนับสนุนที่ครบวงจรทั้งด้านการพัฒนาธุรกิจและด้านการเงิน เช่น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ให้การสนับสนุนบ่มเพาะและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์อัปด้านเทคโนโลยีที่มีไอเดียแล้วต้องการต่อยอดธุรกิจ การร่วมลงทุน การดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) และการอนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัย (Licensing) ซึ่งเป็นกลไกผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด การประเมินจัดลำดับเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรับทราบถึงขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และบัญชีนวัตกรรมไทย
นอกจากนี้ สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นตัวเชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ประกอบการแล้ว ยังมีโครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัย ทดสอบ ประเมินความเป็นไปได้สู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์

ภายใต้การดำเนินงานของ สวทช. ยังมี “ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย” (TBRC) ศูนย์กลางในการให้บริการชีววัสดุที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ครอบคลุมบริการชีววัสดุประเภทต่าง ๆ แบบครบวงจร “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ” (NBT) ที่ให้บริการและเป็นแหล่งจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว และการพัฒนา “ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลาง ในการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สวทช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสินค้าและบริการไทย โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการให้บริการด้านการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐานสากล เช่น ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและเซรามิกอุตสาหกรรม (CTEC) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) และศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES)

7.ด้านการพัฒนากำลังคน

นอกจากการวิจัยและพัฒนาแล้ว สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ด้วย ที่ผ่านมาสามารถแยกภารกิจด้านการพัฒนากำลังคนของ สวทช. ได้เป็น 3 ด้านหลักคือ การพัฒนาบุคลากรวิจัย การสร้างแรงบันดาลใจ และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม หรืออัพสกิล-รีสกิล สำหรับผู้ที่ใช้ วทน. ทั้งในภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ สวทช. ได้พัฒนาบุคลากรวิจัยผ่านกลไกในการให้ทุน ซึ่งมีทั้งการบ่มเพาะเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาผ่านโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน” (JSTP) โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) สำหรับนำนักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยมาบ่มเพาะให้มีทักษะกระบวนการวิจัยที่มีความสามารถในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ สำหรับระดับปริญญาโท – ปริญญาเอก มีจะทุนการศึกษาที่เรียกว่า โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ซึ่งโปรแกรมการให้ทุนหลัก ๆ เหล่านี้ สวทช. ให้ทุนไปแล้วกว่า 3,000 ทุน และจบการศึกษาแล้วกว่า 2,200 คน

สวทช.ยังมีทุนที่เป็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงทุนที่เกิดจากความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาบุคลากรด้าน STEM รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง

สำหรับการสร้างแรงบันดาลใจ สวทช. เน้นการให้ความรู้ที่เสริมกับการเรียนในห้องเรียนผ่านกิจกรรมค่ายต่าง ๆ ของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และเฟ้นหานักวิทย์รุ่นเยาว์ผ่านการอบรมและการประกวดที่สามารถต่อยอดไปสู่เวทีนานาชาติได้ เช่น การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (RDC) นอกจากนี้ยังร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย จัดกิจกรรมในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เพื่อปูพื้นฐานเด็กไทยให้รักและสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต

ส่วนการอัพสกิล-รีสกิล สวทช. มีหลักสูตรการอบรมและการสอบมาตรฐาน ที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงนักวิจัยที่ใช้ วทน. ในการประกอบอาชีพอีกด้วย

แชร์หน้านี้: