ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center: NSD)
ความมั่นคงของประเทศ ได้ถูกกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการสร้างความมั่นคงปลอดภัย และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและภัยคุกคามในทุกรูปแบบ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve ตัวที่ 11 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รับผิดชอบในการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สามารถมีการนำใช้งานได้ทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงและสำหรับภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ ในปี 2562 เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้งานทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงและในภาคประชาชนทั่วไปเชิงพาณิชย์ อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยจากความไม่สงบและอาชญากรรม เทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน และเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยพิบัติ

 

หลักการและเหตุผล

ความมั่นคงของประเทศ ได้ถูกกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการสร้างความมั่นคงปลอดภัย และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและภัยคุกคามในทุกรูปแบบ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve ตัวที่ 11 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รับผิดชอบในการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สามารถมีการนำใช้งานได้ทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงและสำหรับภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ ในปี 2562 เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้งานทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงและในภาคประชาชนทั่วไปเชิงพาณิชย์ อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยจากความไม่สงบและอาชญากรรม เทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน และเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยพิบัติ และได้นำเสนอชุดโครงการใน 6 แผนงานหลัก ที่คาดว่าจะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก โดยมีแผนรายจ่ายงบประมาณดำเนินการ ประมาณ 500 ล้านบาท ศูนย์ฯ คาดการณ์จะมีหน่วยงานภายนอกร่วมลงทุนในการดำเนินงานด้วยมูลค่าทั้งในส่วนที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 500 ล้านบาท ในปี 2562 ศูนย์ฯ คาดว่าจะส่งมอบผลผลิตเชิงปริมาณได้ตามเป้าหมายที่กำหนด (บทความตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ 8 บทความ ทรัพย์สินทางปัญญา 5 คำขอ และต้นแบบภาคสนาม 3 ต้นแบบ) สำหรับในปี 2563 ศูนย์ฯ กำหนดเป้าหมายส่งมอบผลงานในบทความตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ 5 บทความ ทรัพย์สินทางปัญญา 6 คำขอ และต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบภาคสนามอย่างน้อย 7 ต้นแบบผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าภายในปี 2566 จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนอย่างน้อย 3 เทคโนโลยี และคาดการณ์ว่าผลลัพธ์จากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 5 ปี จะสามารถสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท


ภาพแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มา : คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

Dual-Use Defense เทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางทหารและเชิงพาณิชย์ ตามที่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ตัวที่ 11 ของประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่นี้ สวทช. จึงจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center: NSD) ขึ้น

วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

Dual-use หรือ เทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทาง ทั้งในกิจการพลเรือนและทางทหาร ตัวอย่างเช่น Drone jammer รบกวนสัญญาณควบคุมระยะไกล ระบบบริหารจัดการและควบคุมเสถียรภาพของแหล่งจ่ายพลังงานหรือเซลล์จ่ายพลังงาน ที่มีความสามารถในการจ่ายพลังงานสูง (High Discharge Rate) สำหรับยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะ รวมถึงเครื่องมือสื่อสารต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบวัตถุระเบิด/ สารเสพติด/ ตรวจคัดกรองเชื้อวัณโรค/ โรคระบาด ในพื้นที่ชายแดน ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อสร้างสถียรภาพด้านความมั่นคงให้กับประเทศ ช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์จากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรของไทยในด้านการบำรุงรักษายุทธโธปกรณ์ให้ใช้งานได้นานขึ้นอีกด้วย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อวิจัยพัฒนา และ ส่งเสริม สนับสนุน การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางทหารและเชิงพาณิชย์ (Dual-Use) ให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ตามนโยบายของรัฐบาลและแนวทางที่ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้กำหนดไว้ โดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงในหัวเรื่องสำคัญๆ ด้านความมั่นคงของประเทศ ในส่วนที่มีมิติของการใช้งานในภาคพลเรือนโดยทั่วไปร่วมด้วย อาทิ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อป้องกันและรับมือภัยจากความไม่สงบและอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรับมือภัยพิบัติและเหตุการณ์ฉุกเฉิน เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงาน และเรื่องเกี่ยวกับยานพาหนะไร้คนขับต่างๆ
  2. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในกลุ่มที่มีแรงงานฝีมือและทักษะสูง เพื่อป้อนเข้าสู่สาขาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี
  3. เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตลอดจน ส่งเสริมอุตสาหกรรม SME บริษัท Start-up และผู้ประกอบการ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ให้ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับ
โครงสร้างการดำเนินงาน

เป้าหมายการดำเนินงาน

โดยกำหนดสิ่งส่งมอบ (Targeted Output Profile หรือ TOPs) ดังต่อไปนี้

TOP1 การรับมือภัยจากความไม่สงบและอาชญากรรม

  • ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ เพื่อเชื่อมโยงและตรวจสอบข้อมูลอัตลักษณ์ เป็นระบบที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น ประวัติบุคคล ประวัติอาชญากรรม ประวัติยานยนต์ และสามารถประมวลผลเพื่อแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติเมื่อตรวจพบบุคคลหรือยานยนต์ที่มีประวัติอาชญากรรมจากข้อมูลกล้องวงจรปิด ได้แก่ ระบบรู้จำป้ายทะเบียนและอัตลักษณ์ยานยนต์ ระบบรู้จำใบหน้าและสืบค้นบุคคลจากข้อมูลอัตลักษณ์ ระบบบูรณาการข้อมูลอาชญากรรมเพื่อการใช้งานอัตโนมัติ ระบบสารสนเทศอัจฉริยะเพื่อเชื่อมโยงและตรวจสอบอาชญากรรมจากภาพและข้อมูลอัตลักษณ์
  • ระบบป้องกันภัยจากอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีไร้สายเพื่อความมั่นคง พัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณการสื่อสารและควบคุม ระบบตรวจจับและระบุตำแหน่งของอากาศยานไร้คนขับ และสามารถแยกแยะอากาศยานไร้คนขับที่ปฏิบัติหน้าที่/บุกรุกได้ ตัวอย่างผลงาน อาทิเช่น Drone Jammer & Antenna System, Drone Detection (Camera/IR), Drone Detection (Radar) เป็นต้น

TOP2 การรับมือต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน

  • ระบบเซลล์จ่ายพลังงานที่ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง ระบบเซลล์จ่ายพลังงานที่ประกอบขึ้นจาก Zn/MnO2 และระบบเซลล์จ่ายพลังงานแบบ Redox Flow
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงานเพื่อความมั่นคงของระบบ ที่มีความสามารถในการจ่ายพลังงานสูง (High Discharge Rate) โดยมี Discharge Rate ที่ 5-20C (พัฒนาต้นแบบเชิงพาณิชย์) และตัวเก็บประจุยิ่งยวดจากวัสดุกราฟีน (Graphene Supercapacitor) สามารถจ่ายพลังในอัตราสูงมากถึง 300-500 ฟารัดต่อกรัม

TOP3 การรับมือต่อภัยพิบัติ

  • ระบบกรองและบำบัดมลพิษทางอากาศแบบบูรณาการ โดยมีแผนส่งมอบ ระบบบำบัดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต เครื่องกำจัดฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ปิดเพดานสูง และเครื่องบำบัดแก๊สเรือนกระจกในอากาศ รวมถึงแผ่นกรองและหน้ากากป้องกันมลพิษทางอากาศ ที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5
  • ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวิเคราะห์มลพิษทางอากาศแบบบูรณาการ ที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ มีความแม่นยำสูง และสามารถ Calibrate ผ่านซอฟต์แวร์/เครือข่าย
Posters
ติดต่อ

ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์
(National Security and Dual-use Technology Center – NSD)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง
อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120

โทรศัพท์: 0-2564-7000
โทรสาร: 0-2564-7001-5
Call Center:0-2564-8000

e-mail : info.nsd@nstda.or.th