การใช้รูปฟรีบน Pixabay ใช้แบบไหนถึงจะฟรี ?

มีคำถามมาตลอดกับเว็บไซต์ที่ให้ใช้รูปฟรี ว่าฟรีจริงหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะเว็บไซตฺ์  Pixabay.com  ในวันนี้ทางผู้เขียนจึงขอ Shortcut มาให้เห็นความแตกต่างการใช้ภาพฟรีแบบไม่มีเงื่อนไขและมีเงื่อนไข ต่างกันอย่างไร ด้วยภาพสองภาพนี้คัรบ

  1. ใช้งานได้ฟรีแบบไม่มีลิขสิทธิ์   หมายถึง คุณนำไปใช้งานได้ฟรีทั้งทำวีดีโอ ภาพนิ่ง หรืออื่นๆ ได้จริงครับ แต่ !! ห้ามนำไปไว้ในเว็บไซต์เพื่อปล่อยฟรีต่อ เพราะเป็นการละเมิดจากเจ้าของที่ส่วนมาก มักจะห้ามให้คุณนำไปปล่อยให้ download ต่อ  ข้อนี้สำคัญมากครับ  งานภาพหรือสื่อที่ให้ใช้ฟรีส่วนมาก จะถูกกำหนดแบบนี้ครับ “สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ฟรี ไม่มีลักษณะที่ต้องการ”ผู้เขียนเคยนำภาพลักษณะนี้ประมาณ 10-20 ภาพไปทำสไลด์นำเสนอใน youtube ก็พบว่าไม่มีการถูกร้องเรียนด้านลิขสิทธิ์แต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ในระดับหนึ่งครับ  แต่ !!!  หากเป็นงานในระดับองค์กรหรือระดับที่มีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องสูงอันเนื่องมาจากมีมูลค่าสูงในการจัดทำงานนั้น คุณควร check ให้แน่ใจว่า ผู้สร้างสรรค์ผลงาน มี profile จริงและเป็นเจ้าของภาพนี้จริงแล้วจึงค่อยนำมาใช้งานนะครับ เนื่องจากมีบ่อยครั้งที่นักสร้างสรรค์ผู้ให้ภาพฟรีเล่านี้ เป็นนัก copy มาจากของฟรีที่อื่น แล้วอวตารมาสร้างตัวตนในเว็บอื่นๆ ครับ (ซับซ้อนแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง)
  2. ใช้งานได้ฟรีแต่ต้องตามแบบที่ผู้สร้างกำหนดเท่านั้น  เช่นภาพ นักเรียน นี้ครับเป็นของคุณ sasin ที่ให้ใช้ฟรีและสวยงามมากครับ แต่ต้องเป็นการใช้งาน ด้านบทความข่าวเท่านั้น !!หากคุณนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์  เช่น เอาไปทำปกหนังสือ เอาไปทำภาพขายเชิงพาณิชย์ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการใช้งานที่เกี่ยวข้อง ก็อาจจะไม่ตรงกับเงื่อนไขของผู้ให้ใช้งานได้ครับ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของเจ้าของผลงานว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  โดยภาพประกอบของคุณ sasin นี้เรานำมาไว้เพื่อเป็นภาพประกอบของบทความข่าวนานาสาระน่ารู้ จึงเข้ากับเงื่อนไขในการนำเสนอนี้ได้ครับ
  3. การใช้ฟรีแบบเงื่อนไขอื่นๆ   ยังมีอีกหลากหลายการใช้งานที่มีคำว่าฟรีครับ เช่น ใช้งานได้แต่ต้องให้เครดิตและใส่ link ให้เครดิตด้วย เป็นต้น

ดังนั้น การจะนำภาพที่บอกว่า ฟรี จากเว็บไซต์ที่บอกว่าให้ใช้ฟรี คุณควรศึกษาว่า ฟรี อย่างไร ด้วยเงื่อนไขอะไร ก่อนการตัดสินใจนำไปใช้นะครับ เนื่องจากเมื่อใช้ไปแล้วอาจมีผลกับการใช้งานได้ จึงขอฝากไว้เป็นข้อมูลให้กับทุกท่านเพื่อพิจารณาและเลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องครับ

การรับมือการยั่วยุทาง message จากมิจฉาชีพ

คุณจะรู้สึกอย่างไร เมื่ออยู่ดีๆ Facebook Messenger ของคุณ ปรากฏ Message จากผู้ที่ไม่รู้จักด้วยคำพูดลักษณะนี้?

เบื้องต้น ร้อยละ 80 มักจะโทรกลับไปเพื่อสอบถาม เพราะคนที่อยู่ในรายชื่อที่ถูกแอบอ้างมักจะเป็นเพื่อนของคุณที่อยู่ใน Facebook และมีสถานะเป็นพี่น้อง เพื่อน แฟน เป็นต้น   เมื่อคุณพลาดโทรไป คุณมักจะพบการกล่าวอ้างปลายทางว่าเป็นตำรวจ เป็นผู้มีอิทธิพล หรือเป็นอะไรต่างๆ นาๆ ที่คุณก็ไม่อยากรู้ แต่คุณอยากรู้ว่า ทำไมคุณถึงโดนติดต่อและชื่อไปปรากฏได้อย่างไร ทีนี้ก็จะเข้าทางมิจฉาชีพครับ เพราะจะมีขบวนการต่างๆ นาๆ ที่จะหว่านล้อมให้คุณ งง และอาจจะเผลออยากปิดคดี โดยโอนเงินหลักพัน หลักหมื่นแบบไม่รู้ตัว   (เพราะมิจฉาชีพรู้ข้อมูลคุณเองมากกว่าตัวคุณหรือมีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้คุณกลัว)  รู้ตัวอีกทีคุณก็เสียเงินไปแล้วครับ และเบอร์นี้ก็หายสาปสูญไปจากชีวิตคุณพร้อม Facebook Account นี้   ดังนั้น บทความนี้จึงอยากมาสร้างทางออกให้กับคุณ เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้  คุณควรทำแบบนี้ครับ

  1.  อย่าติดต่อหรือ click link ไปยังต้นตอของ message ให้ติดต่อคนที่ถูกกล่าวอ้างก่อน ถ้าคนนั้นสำคัญกับคุณ เพื่อยืนยันข้อมูลนั้น
  2. ถ้าไม่เกี่ยวกับคุณใดๆ โดยสิ้นเชิง ให้ Block แล้วไม่ต้องสนใจนะครับ เพราะนี่คือมิจฉาชีพที่กำลังหาเหยื่อแบบหว่านแห
  3. คุณควรตั้งค่าความปลอดภัยของบัญชี facebook ของคุณ โดยไม่ให้ Add เพื่อนแบบอัตโนมัติ เนื่องจากมิจฉาชีพจะรู้ข้อมูลคุณได้ก่อน และจะศึกษาเพื่อหาวิธีการแยบยลจากข้อมูลที่คุณเปิดเผย
  4. อย่าเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินหรือข้อมูลที่มีความเสี่ยงกับการเข้าถึงตัวคุณได้ เพราะจะเป็นเป้าหมายที่ดีต่อไปของมิจฉาชีพครับ
  5. อย่าวางใจ Message ที่เข้ามาครับ เพราะแม้จะเป็น account จริงจากเพื่อนของคุณ แต่ก็อาจจะถูกสวมรอยบัญชีการใช้งานได้ คุณต้องตรวจสอบโดยตรงจากคนเหล่านั้น

ฟังดูเหมือนจะไม่ยากใช่ไหมครับ มุมมองของมิจฉาชีพในปัจจุบันล้ำไปมาก ใช้เทคโนโลยีเพื่อการล่าเหยื่อได้ง่ายมากขึ้นจากการเข้าถึงข้อมูลของเหยื่อที่เผยแพร่ด้วยเหยื่อเอง ดังนั้น บทความนี้จึงอยากจะนำเสนอกรณีศึกษาและแนวทางในการป้องกันปัญหานี้ครับ เพื่อให้คุณรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อกับอาชกรดิจิทัลครับ ขอให้คุณปลอดภัยและมีความสุขครับ

 

สอนลูกให้รู้เท่าทันการโกงในโลกออนไลน์ยุคดิจิทัล

หลายเดือนก่อนผู้เขียนได้รับข่าวจากเพื่อนว่า ลูกชายอายุ 14 ปีถูกโกงเงินจากการเล่นเกมส์ ผ่านการซื้อขาย ID game  ออนไลน์  (id game คือชื่อและรหัสผ่านของเกมส์นั้นซึ่งมีระดับสูง ผู้เล่นหน้าใหม่ชอบซื้อเพื่อทำให้เก่งขึ้นแบบทางลัด)  ซึ่งลูกชายต้องจ่ายเงินไปก่อนเพื่อแลกกับการให้รหัสผ่านของ ID นั้น สุดท้ายเมื่อโอนเงินออนไลน์ไป พบว่า ไม่สามารถติดต่อกับผู้ขายได้อีกเลย !!! ใช่ครับ ถูกโกงจากมิจฉาชีพแล้ว  ทีนี้พ่อแม่ก็เพิ่งจะมารู้ สอบถามว่าควรทำอย่างไร ในเบื้องต้นทุกคนก็ทราบครับว่าควรแจ้งความดำเนินคดี (ไม่ใช่ลงบันทึกประจำวัน) แล้วไปติดต่อธนาคารเพื่อขออาญัติบัญชี และไม่ให้ผู้ร้ายทำธุรกรรมใดๆ ได้อีก  แต่ผลสุดท้าย คดีนี้ก็ยังไม่คืบหน้า เพราะ “มิจฉาชีพ ทำกันเป็นขบวนการ” ดังนั้น บทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้อ่านทุกท่าน ตรวจตราบุตรหลานหรือคนที่คุณรักว่า จะป้องกันอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นวิธีการที่ดีและปลอดภัยที่สุด  แต่ก็ไม่เสียหายหากจะลองพิจารณากันดูครับ วิธีการมีดังนี้

  1. ห้ามให้บัตรเครดิตหรือบัญชีใดๆ ของคุณหรือคนที่คุณรักไว้ในเกมส์หรือระบบนั้นๆ เพราะง่ายต่อการถูกจารกรรมหรือใช้จ่ายจากการอยากได้สิ่งของในเกมส์นั้นๆ
  2.  เข้าใจ ใส่ใจ กับคนสำคัญของคุณว่า เล่นเกมส์หรืออยู่ในบริบทเสี่ยงใดบ้างกับเกมส์นั้นๆ  โดยสอบถามหรือศึกษากิจกรรมการเล่นของคนที่คุณรัก
  3. คุณต้องทำการบ้านศึกษาว่า เกมส์เหล่านั้น มีช่องทางแชท หรืออื่นๆ ที่นำพาไปสู่การต้องจ่ายเงินซื้อ item หรือของในเกมส์หรือไม่ด้วย
  4. หาเวลาเปิดใจลองเล่นกับเขา ฟังคนสำคัญคุณพูดเรื่องเกมส์เหล่านั้น แล้วสร้างกติกาเรื่องเวลา เพื่อรับรู้กันและกัน ดึงเวลาจากเกมส์ให้น้อยลง อย่าใช้อารมณ์หรือแสดงความโกรธต่อกัน
  5. เกมส์ที่ต้องจ่ายเงินส่วนใหญ่เป็นเกมส์ที่ต้องซื้อ ITEM หรือ SKIN ต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีกิจกรรมแจกฟรี คุณควรให้แรงเสริมในการให้เขาเล่นแบบไม่ต้องเสียเงินว่าท้าทายกว่ามาก
  6. ให้ความเข้าใจในเรื่องการโกงออนไลน์ หาข่าวสารหรือข้อมูลให้ได้รับทราบร่วมกัน โดยพูดคุยกันตอนที่ไม่เล่นเกมส์ จะทำให้คนที่คุณรักรับฟังได้ดีกว่าพูดตอนเล่นเกมส์
  7. เกมส์ไม่ใช่เรื่องผิด การแบ่งเวลา การเข้าใจ การสร้างความรับรู้ร่วมกันทั้งการเล่น การทำกิจกรรม เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตเกิดความสมดุลย์
  8. ให้เวลากับคนที่คุณรักให้มากขึ้น เขาจะลดเวลาจากเกมส์มาคุยกับคุณมากขึ้น โดยที่คุณต้องไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวตั้ง ให้ใช้สัมผัส กอด และความรักเป็นสัมผัสนำ

เมื่อคุณอ่านทั้ง 8 ข้อนี้แล้ว คุณอาจหัวเราะในใจว่าเป็นเรื่องตลกที่ไม่มีอะไรมารองรับทฤษฏีของการป้องกันการโกงให้เกิดขึ้นได้  แต่แท้จริงแล้ว ความสำคัญคือการใส่ใจคนที่เรารัก สื่อสารกันให้มาก  แบ่งเวลากันให้ได้ ด้วยการป้องกันที่มาจากรักของคุณและคนที่คุณรัก นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดครับที่ทางผู้เขียนอยากอธิบายให้เริ่มทำกันก่อน ดีกว่ามาแก้ปัญหาทีหลัง  และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลนี้ของคุณต่อไปครับ

การ Block SMS ปลอมง่ายๆ บนเครื่องมือถือ Android

เมื่อคุณพบเจอเบอร์มือถือแปลกปลอมส่งข้อความเข้ามาในเครื่องมือถือของคุณ มีวิธีการง่ายๆ ที่จะทำให้คุณพ้นอันตรายจากการล่อลวงหรือก่อกวนเหล่านี้ สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องมือถือระบบปฏิบัติการ android สามารถทำได้ด้วยการเข้าไปดำเนินการที่ message หรือหมายเลขที่โทรเข้า กดค้างบนหมายเลขหรือข้อความดังกล่าว แล้วคุณจะพบหน้าต่างตอบโต้ และจะพบกับลักษณะการดำเนินการเช่น Spam & Block ดังภาพ

ให้คุณเลือกประเภทดังกล่าว นั่นจะทำให้ในอนาคต เมื่อได้รับการโทรหรือข้อความจากหมายเลขดังกล่าว ระบบจะขึ้นเตือนและแจ้งว่าเป็น Spam ให้คุณได้ทราบก่อนการรับสาย และจะตัดข้อความที่ถูกส่งทิ้งไปยัง Spam Section ทำให้คุณไม่ต้องกังวลในเรื่องการถูกจารกรรมข้อมูลได้อีกด้วย อย่าลืมทดลองกันนะครับ การจัดการง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพมากๆ สำหรับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลในทุกวันนี้ เพราะว่าการเป็นเหยื่อนั้นมีความทุกข์มาก การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ สำหรับใครก็ตามที่อยากตัดปัญหา sms รบกวนฟรีแบบทุกเครือข่ายก็ทำได้ ให้ทำดังภาพนี้ครับ

ขอให้คุณปลอดภัยจากการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลไปพร้อมกับการเติบโตที่มั่นใจในด้านความปลอดภัยร่วมกันครับ

ระวัง SMS หรือ Message ปลอม เพื่อการล่อลวงจากมิจฉาชีพ

ปัจจุบันคุณคงทราบแล้วว่า ทาง กสทช. มีการกวาดล้างและลงโทษผู้ส่ง SMS การพนัน หวยเถื่อน หรือใดๆ ที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน  ถือเป็นเรื่องที่ดีมากและทันต่อสถานการณ์ แต่มิจฉาชีพเองก็รู้ทันและพยายามปรับปรุงตนเองในการแจ้งข้อมูลหลอกลวงต่างๆ  ที่มีความน่าสนใจมากขึ้นและเราตกเป็นเหยื่อง่ายขึ้น   ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอส่วนสำคัญที่จะทำให้คุณรอดพ้นจากปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง แต่ก่อนอื่น คุณควรเข้าใจการแก้ปัญหาที่เร็วที่สุดก่อน นั่นคือ การโทร *137 ทุกเครือข่าย เพื่อป้องกันข้อความ sms ที่ก่อกวนกับเครื่องของคุณ

และลำดับต่อมาคือ การเรียนรู้ปัญหาและแนวทางกันครับ

  • การเข้าใจแนวทางการหลอกลวงของมิจฉาชีพ    มิจฉาชีพต้องการให้คุณ click เร็วที่สุด จึงมักจะมีข้อความส่งให้มีแนวทางประมาณนี้
    • คุณมีเงิน xxx,xxx รอโอน โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ ที่นี่ xxxxxxxxxxx       
    • ญาติของคุณเสียชีวิต ติดต่อกลับโรงพยาบาลที่ xxxxxxxx
    • รับเลย iphone เพราะคุณคือผู้โชคดี และเราติดต่อคุณไม่ได้ ที่นี่ xxxxxxxxxxx
    • คำด่าต่างๆ นานา และคำท้าทาย แล้วให้เรา add facebook ผ่าน link
      คุณจะพบว่า คุณอาจเกิดความโลภ หรืออยากรู้ข้อมูลต่อ หรือโมโห แล้วก็กด link ไป ซึ่งนั่นอาจนำพาไปสู่การขอข้อมูลหรือฝังโปรแกรมบางอย่างลงในเครื่องของคุณแล้ว และคุณอาจมีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกรรมผ่านมือถือในอนาคต โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงิน อันตรายมากครับ
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
    • ตั้งสติกับสิ่งที่อ่านก่อนเป็นอันดับแรก
    • ถ้าไม่แน่ใจ ไม่ click เด็ดขาด
    • ตรวจสอบต้นตอของข่าวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้เช่น เว็บไซต์โดยตรง (พิมพ์ตรงๆ ด้วยตนเอง) อย่า click จาก link นั้นๆ
    • อย่าลืม Block หรือ Report เบอร์โทรศัพท์จากเครื่องมือถือของคุณในทันทีเมื่อคุณแน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพ

เพราะมิจฉาชีพก็รู้ทันกฏกติกาที่มี  เราเองจึงควรมีภูมิคุ้มกันการหลอกลวงนี้ครับ เพื่อการเท่าทันเกมส์ของมิจฉาชีพ และไม่ตกเป็นเหยื่อในสังคมดิจิทัลนี้ ด้วยความปราถนาดีครับ