หน้าแรก SCI UPDATE : ‘เบต้ากลูแคนชนิดใหม่’ ช่วยผิวสวย สุขภาพดี

SCI UPDATE : ‘เบต้ากลูแคนชนิดใหม่’ ช่วยผิวสวย สุขภาพดี

22 ส.ค. 2562
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

BETA PRIME

อยากแตกต่าง สร้างธุรกิจไม่ซ้ำใคร ต้องไม่พลาด! นักวิจัยไบโอเทค สวทช. ค้นพบ ‘สารเบต้ากลูแคนโอลิโกแซคคาร์ไรด์ชนิดใหม่’ จาก ‘เห็ดรา’ สารอัศจรรย์จากธรรมชาติที่ช่วยทั้งการดูแลผิวพรรณและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยี ‘BETA PRIME’ ในการผลิตเบต้ากลูแคนชนิดใหม่ในระดับอุตสาหกรรม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การใช้จริง เปิดตัวงาน THAILAND TECH SHOW 2019 วันที่ 5 – 6 กันยายน 2562 ที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

สารพัดประโยชน์จาก ‘เบต้ากลูแคน’

 

เป็นที่ขึ้นชื่อกันเลยทีเดียวสำหรับสรรพคุณของ ‘เบต้ากลูแคน (beta-glucan)’ ที่มีประโยชน์ทั้งด้านความงามและสารเสริมสุขภาพ ปัจจุบันมีการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในหลายผลิตภัณฑ์หลายชนิด อีกทั้งยังเป็นสารมีประโยชน์เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์อย่างมาก มีรายงานการวิจัยพบว่า เบต้ากลูแคนที่มีขนาดโมเลกุลต่างกันช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ได้ดี ทำให้ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตเบต้ากลูแคนอาจเป็นยาจากธรรมชาติที่จะเป็นความหวังในการช่วยรักษาผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคมะเร็ง ผู้ป่วยเอชไอวี เป็นต้น ส่วนในด้านความงามเบต้ากลูแคนยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยสมานแผล ลดการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็ว และไม่เกิดแผลเป็นแบบคีลอยด์

‘เบต้ากลูแคนชนิดใหม่’ จากเห็ดรา

ปัจจุบันเบต้ากลูแคนที่นำมาใช้ในตลาดทั่วไปจะผลิตได้จากข้าวโอ๊ตและยีสต์ แต่ล่าสุด ดร.ไว ประทุมผาย และทีมวิจัยจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ค้นพบ ‘เบต้ากลูแคนชนิดใหม่’ ที่ผลิตขึ้นโดยเห็ดรา อีกทั้งยังมีโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่ มีน้ำหนักโมเลกุลถึง 800-900 กิโลดาลตัน เป็นขนาดที่ไม่มีรายงานการพบมาก่อน ขณะที่เบต้ากลูแคนที่ผลิตจากข้าวโอ๊ตมีน้ำหนักโมเลกุล 90-120 กิโลดาลตัน ส่วนยีสต์ 40 กิโลดาลตัน เรียกว่าใหญ่กว่าเบต้ากลูแคนจากข้าวโอ๊ต 8 เท่า และจากยีสต์ถึง 20 เท่า

  

ความน่าสนใจคือเบต้ากลูแคนที่มีขนาดโมเลกุลไม่เท่ากันจะมีคุณประโยชน์และการนำไปใช้ที่ไม่เหมือนกัน เช่น เบต้ากลูแคนจากยีสต์มีคุณสมบัติในการช่วยสมานแผล กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนเบต้ากลูแคนจากข้าวโอ๊ตจะมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น คือ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เป็นพรีไบโอติกเป็นสารอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ ลดอาการท้องผูก ช่วยเรื่องการต้านการอักเสบและการสมานแผล ขณะที่เบต้ากลูแคนชนิดใหม่มีขนาดใหญ่ยิ่งทำให้มีคุณสมบัติหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ สมานแผล ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ลดริ้วรอย ชะลอวัย และช่วยในเรื่องของอีลาสตินที่ทำให้ผิวนุ่มเต่งตึงด้วย

‘BetaPrime’ เทคโนโลยีพร้อมผลิตจริง

 

เพื่อให้นำไปสู่การใช้งานได้จริง ทีมวิจัยไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า ‘BETA PRIME’ ในการผลิตเบต้ากลูแคนชนิดใหม่ในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จ โดยจุดเด่นของ BETA PRIME คือผลิตเบต้ากลูแคนที่มีความบริสุทธิ์สูงถึง 95% ในทันที เพราะเป็นสารที่ผลิตขึ้นจากเห็ดราในธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีในการสกัด ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสารเบต้ากลูแคนที่ความบริสุทธิ์เดียวกันในท้องตลาด 2-3 เท่า เนื่องจากไม่ต้องใช้สารเคมีสกัดหลายขั้นตอนดังเช่นการผลิตจากข้าวโอ๊ตและยีสต์ นอกจากนี้ความพิเศษของ BETA PRIME คือไม่เพียงผลิตเบต้ากลูแคนชนิดใหม่ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ที่ไม่เคยพบมาก่อนซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ แล้ว ยังปรับขนาดโมเลกุลให้เล็กลงหลากหลายขนาดตามที่มีอยูในท้องตลาด ขณะที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่า มีความบริสุทธิ์มากกว่า และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น

‘BetaPrime’ พร้อมถ่ายทอดเอกชน

ตลาดเบต้ากลูแคนในประเทศไทยใหญ่มาก โดยในส่วนของอาหารเสริมมีมูลค่ามากกว่าสองแสนล้านบาท ส่วนที่ไม่ใช่อาหารมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งแสนหกหมื่นล้านบาท BETA PRIME จึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง และพร้อมถ่ายทอดให้ภาคเอกชนนำไปใช้พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์สารเสริมสุขภาพและความงาม ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

 

สำหรับภาคธุรกิจและประชาชนที่สนใจต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ สามารถร่วมชมตลาดเทคโนโลยีและพูดคุยธุรกิจได้ในงาน THAILAND TECH SHOW 2019 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2562 ที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

////////////////////////

เรียบเรียง : วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.
ภาพ : ชัชวาลย์ โบสุวรรณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.
กราฟิก : ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช.

22 ส.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: