หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2564
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2564
19 มี.ค. 2564
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2564

การประชุมขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยเรื่องการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอบเขตการวิจัยสำหรับการศึกษาวัคซีนต้านโรคโควิด-19

คำกล่าวของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก

ดร. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถึงสถิติการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 12 มกราคม 2564 มีผู้ติดเชื้อประมาณ 90 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 2 ล้านคน และกล่าวว่าวิทยาศาสตร์และการวิจัยมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาตั้งแต่วันแรกที่มีการระบาดของโรคโควิด-19

แผนกลยุทธ์การจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

บทบาทของภาคประชาชน : ประชาชนต้องป้องกันตนเองและสังคม โดยหมั่นล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า รักษาระยะห่างทางสังคม กักกันตนเองเมื่อมีอาการป่วย จำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และแจ้งต่อหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเมื่อตนเองมีการสัมผัสหรือติดต่อกับผู้ติดเชื้อ

บทบาทของภาคชุมชน : เตรียมพร้อมอยู่เสมอในการให้บริการและความช่วยเหลือ พร้อมรับการปรับเปลี่ยนตามบริบทท้องถิ่น ทั้งยังรับหน้าที่ในการให้ข้อมูลและความรู้แก่สมาชิกในชุมชน ป้องกันกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ อำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรสาธารณสุข และให้ความช่วยเหลือในการติดตามและค้นหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้มีประวัติการติดต่อกับผู้ติดเชื้อ

บทบาทของภาครัฐ : ทำหน้าที่เป็นผู้นำและประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสื่อสารข้อมูล การให้การศึกษา การสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างขีดความสามารถ และการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน และชุมชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ภาครัฐยังมีหน้าที่รวบรวมกำลังและทรัพยากรจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงาน ภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมขยายขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของประเทศ

บทบาทของภาคเอกชน : ต้องช่วยรักษาความต่อเนื่องของการบริการที่สำคัญให้แก่สังคม เช่น ห่วงโซ่การผลิตอาหาร สาธารณสุข และการผลิตเวชภัณฑ์ต่างๆ

 

ขอบเขตการวิจัยในอนาคตสำหรับการศึกษาวัคซีนต้านโรคโควิด-19

ภายหลังการประชุม นักวิจัยยังนำเสนอหัวข้อวิจัยใหม่ๆ ในอนาคต ที่จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ถูกพัฒนาและแจกจ่ายไปยังหลายๆ ประเทศ ซึ่งหัวข้อวิจัยสรุปได้ดังนี้

-การวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 2019 ชนิดใหม่ ที่ให้ประสิทธิภาพเพียงพอในการต้านไวรัสโคโรนา 2019 หลังฉีดเพียงแค่ 1 โดส สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้องได้ ผลิตในปริมาณมากได้ในเวลาไม่นาน และไม่จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยาในการจ่ายวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย เพื่อลดปัญหาและความยุ่งยากในการเก็บรักษา การขนส่ง และการจัดหาอุปกรณ์ในการฉีดวัคซีน ที่ปัจจุบันหลายๆ ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่

-ประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 2019 ในการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

-ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ ของประชาชน

-ศึกษาสัดส่วนของประชากรที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน เพื่อให้ท้ายสุดมีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มของประชากรได้

-หลังจากมีการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนที่เริ่มมีการฉีดให้ประชาชนแล้ว ควรมีการศึกษาของประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างประชากรที่เฉพาะเจาะจงด้วย อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีอาการรุนแรงจากการเชื้อโรคโควิด-19 กลุ่มเด็ก กลุ่มหญิงท้องหรืออยู่ในช่วงการให้นมบุตร กลุ่มมีโรคประจำตัว กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV กลุ่มกำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น

-ศึกษาระยะเวลาการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการกระตุ้นการทำงานของวัคซีนว่าสามารถต้านเชื้อได้นานเท่าไหร่ และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำอีกทีเมื่อไหร่ รวมไปถึงศึกษาหาระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเว้นระยะการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สองและผลจากการยืดระยะเวลาการฉีดวัคซีนโดสที่สอง

-ศึกษาผลจากการใช้วัคซีนคนละชนิดจากต่างบริษัทร่วมกัน เช่น การฉีดวัคซีนโดสแรกจากวัคซีนของบริษัท A แต่ฉีดวัคซีนโดสที่สองจากบริษัท B ว่าสามารถให้ประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดีหรือไม่ เพื่อศึกษาเป็นแนวทางการฉีดวัคซีนในอนาคตในกรณีที่วัคซีนจากบางบริษัทยังมีไม่เพียงพอสำหรับการฉีด 2 โดส

-ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

-ศึกษาหาค่าไตเตอร์ของวัคซีนแต่ละชนิดต่อไวรัส สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ซึ่งค่าไตเตอร์ คือ ปริมาณของ Serum Dilution ในลำดับสูงสุดที่สามารถยับยั้งไวรัสได้ เช่น ถ้าทำ Serum Dilution ที่ 1:8 แล้วยังคงยับยั้งไวรัสได้อยู่จึงทดลองที่ 1:16 ต่อไป ถ้าปรากฏว่าไม่สามารถยังยั้งไวรัสได้ ถือว่าซีรั่มนั้นมีค่าไตเตอร์เท่ากับ 8

-ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดจำนวนการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบไม่แสดงอาการ ซึ่งข้อมูลสามารถนำมาใช้ประเมินศักยภาพของวัคซีนในการลดการแพร่กระจายได้

ข้อสรุปอื่นๆ จากการประชุม

ผลการประชุมครอบคลุม 6 สาขา ประกอบด้วย

1.ระบาดวิทยาและการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

2.วิวัฒนาการทางชีววิทยา

3.การออกแบบจำลองสัตว์

4.การตรวจวิเคราะห์และการวินิจฉัย

5.การบริหารจัดการทางคลินิก

6.การบำบัดรักษาและการพัฒนาวัคซีน

การประชุมหารือความร่วมมือการวิจัยด้านการส่งเสริมขีดความสามารถของสังคมในการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงาน The International Emergency Management Society (TIEMS) เป็นเวทีนำเสนอทางวิชาการ การหารือเชิงนโยบาย และการฝึกอบรมสำหรับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ โอกาสนี้ได้สร้างความร่วมมือโครงการวิจัยหัวข้อ disaster-resilient societies เป็นโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป

โอกาสการสร้างความร่วมมือภายใต้หัวข้อ disaster-resilient societies

โครงการ “DRS02-5.2021 (CSA) – Developing a European partnership to coordinate R&I efforts on land management and climate-related disasters” สนับสนุนทุนวิจัยสำหรับโครงการที่สามารถรวบรวมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการที่ดิน การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และการจัดการความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติในชุม

ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรมเล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวน่าสนใจและเป็นโอกาสที่ดีที่หน่วยงาน TIEMS และประเทศไทยสามารถจัดหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงาน (consortium) และร่วมกันจัดทำโครงร่างข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุนวิจัย โครงการ Horizon Europe ได้ โดยเบื้องต้นทางสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ เล็งเห็นว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวนี้ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

การเปลี่ยนแปลงของโครงการ Marie Sklodowska-Curie actions (MSCA) ภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับใหม่ของยุโรป

โครงการ Marie Sklodowska-Curie actions (MSCA) เป็นโครงการของสหภาพยุโรปที่ส่งเสริมความเป็นเลิศทางการวิจัยวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ตามกรอบแผนงานฉบับที่ 7 ของสหภาพยุโรป (FP7) ต่อเนื่องมาถึงโครงการ Horizon 2020 และยังมีอยู่ภายใต้แผนงานโครงการความร่วมมือต้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับใหม่ของยุโรป ซึ่งเป็นแผนงานโครงการฉบับที่ 9 มีชื่อว่า Horizon Europe

บทนำ

โครงการ MSCA เปิดรับสมัครนักวิจัยทั่วโลกให้ทำวิจัยร่วมในหน่วยงานต่างประเทศ โดยคัดเลือกให้ทุนแก่นักวิจัยที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม แสดงศักยภาพการพัฒนาอย่างเด่นชัด และมีโครงการวิจัยที่ดี เป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางอาชีพและการฝึกอบรมแก่นักวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ทุกสาขาผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศในระดับนานาชาติและระหว่างสาขาต่างๆ กัน

การเปลี่ยนแปลงสำคัญ

โครงการ MSCA มุ่งส่งเสริม 5 ภารกิจหลักคือ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การอบรมนักวิจัย การเสริมสร้างทุนมนุษย์ในเขตวิจัยยุโรป (ERA)

โครงการ MSCA ได้แบ่งออกเป็น 4 โครงการย่อย ได้แก่

  • Research and Innovation Staff Exchange (RISE)
  • Individual
  • COFUND
  • Innovative Training Networks (ITN)

แต่ภายใต้โครงการ Horizon Europe โครงการย่อยของโครงการ MSCA มีการเปลี่ยนแปลง ชื่อโครงการ รายละเอียด เงื่อนไขการ
สมัคร สรุปได้ดังนี้

  • MSCA Doctoral Networks
  • MSCA Postdoctoral Fellowships
  • MSCA Staff Exchanges
  • MSCA COFUND

โอกาสของนักวิจัยไทย

โครงการ MSCA เป็นโครงการที่นักวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการรับสมัครขอทุนวิจัยมากกว่าโครงการอื่นๆ ของสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่เป็นการได้รับทุนจากโปรแกรม Research and Innovation Staff Exchange (RISE) ซึ่งพบว่ามีหน่วยงานของประเทศไทยที่แตกต่างกันถึง 17 หน่วยงาน ได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ จำนวน 25 โครงการที่ได้รับทุนจากโครงการ RISE

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :

https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2021/20210318-newsletter-brussels-no01-jan64.pdf

 

 

 

แชร์หน้านี้: