หน้าแรก ‘สืบค้นข้อมูล สร้างเอกสารราชการ ถอดเทปภาษาไทย’ ง่าย ๆ ด้วย ‘Pathumma LLM’

‘สืบค้นข้อมูล สร้างเอกสารราชการ ถอดเทปภาษาไทย’ ง่าย ๆ ด้วย ‘Pathumma LLM’

17 เม.ย. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

‘สืบค้นข้อมูล สร้างเอกสารราชการ ถอดเทปภาษาไทย’ ง่าย ๆ ด้วย ‘Pathumma LLM’

 

Pathumma LLM (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม) คือ Large Language Model (LLM) สัญชาติไทย ที่ผ่านการฝึกฝนจากข้อมูลภาษาไทยจำนวนมหาศาล เพื่อให้มีความสามารถเฉพาะทางโดยเฉพาะทักษะด้านภาษาและการสื่อสารแบบมนุษย์ ผู้วิจัยตั้งเป้าหมายการพัฒนาว่าจะทำให้ Pathumma LLM เป็น AI ที่เชี่ยวชาญทั้งภาษา ข้อมูล และบริบทประเทศไทย ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบบริการ AI ของประเทศไทยในอนาคต

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคณะทำงานจาก AI Engineer ซีซัน 4 เดินหน้าพัฒนา Pathumma LLM ต่อเนื่องหลังเปิดให้สาธารณะทดลองใช้เวอร์ชัน 1.0.0 ในรูปแบบ Generative AI หรือเอไอแบบรู้สร้าง เมื่อช่วงปลายปี 2567 และได้เปิดตัวเทคโนโลยีเด่นอีก 3 เทคโนโลยีที่จะช่วยลดเวลาการทำงาน สืบค้นข้อมูล สร้างเอกสารราชการ และถอดเทป ให้เหลือหลักวินาที เพื่อให้คนทำงานได้ใช้เวลาคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์งานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC 2025) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-28 มีนาคมที่ผ่านมา

 

เปิดตัวแล้ว 3 เทคฯ​ AI เด่น สลัดทิ้งความน่าเบื่อในการทำงาน

ภาพ ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน สวทช.
ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน สวทช.

 

ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน สวทช. เล่าว่า เทคโนโลยีแรก คือ DocChat (ด็อกแชต) ระบบสืบค้นและตอบคำถามข้อมูลจากข้อความ เว็บไซต์ (ใส่ URL) และไฟล์ข้อความ (อัปโหลดไฟล์ PDF) เหมาะกับงานสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่มีอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีข้อมูลปริมาณมาก เช่น รัฐสภา หน่วยงานวิจัย เมื่อผู้ใช้งานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ AI จะสรุปภาพรวมของข้อมูล พร้อมตั้งตัวอย่างคำถามที่ผู้ใช้งานอาจสนใจเกี่ยวกับข้อมูลชุดนั้นให้โดยอัตโนมัติภายในเวลาหลักวินาที ผู้ใช้งานสามารถคลิกเพื่อเลือกถามคำถามนั้น ๆ หรือตั้งคำถามอื่น ๆ เพื่อให้ AI ช่วยสืบค้นข้อมูลและตอบคำถามอ้างอิงจากข้อมูลนั้น ๆ ได้ จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือแม้คำที่ใช้ในการสืบค้นจะไม่ตรงกับคำที่มีอยู่ภายในเอกสาร AI ก็สามารถทำความเข้าใจและค้นหาคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันให้แทนได้ ทำให้การสืบค้นข้อมูลทำได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ที่สนใจทดลองใช้งานได้ที่ https://docchat.abdul.in.th/

 

ภาพอินโฟกราฟิกสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ DocChat ว่าฟังก์ชันหลักคือการสืบค้นและตอบคำถามข้อมูลจากเว็บไซต์ และไฟล์ข้อความ เหมาะกับงานสืบค้นข้อมูลโดยเฉพาะหน่วยงานที่มีข้อมูลมาก เช่น รัฐสภา, หน่วยงานวิจัย

ภาพตัวอย่างการใช้งาน DocChat ที่เมื่อผู้ใช้งานใส่ URL ของเว็บที่ต้องการสืบค้นของมูลแล้ว AI จะสรุปเนื้อหา และตั้งตัวอย่างคำถามที่ผู้ใช้งานอาจสนใจให้โดยอัตโนมัติ

 

“เทคโนโลยีที่สอง DocGen (ด็อกเจน) คือ ระบบช่วยสร้างเอกสารตามรูปแบบขององค์กร เหมาะกับการช่วยร่างเอกสารที่มีรูปแบบชัดเจน และต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงนาน เช่น TOR (Terms of Reference) หรือขอบเขตของโครงการ, รายงานการประชุม การใช้งานทำได้ง่ายเพียงผู้ใช้งานใส่ข้อมูลตั้งต้นและประเภทของเอกสารที่ต้องการให้ AI ช่วยร่าง AI จะร่างเอกสารให้ทันทีภายในเวลาหลักวินาที โดยผู้ใช้สามารถแก้ไข ปรับปรุง และดาวน์โหลดเป็นไฟล์เอกสารได้ ผู้ที่สนใจทดลองใช้งานได้ที่ https://meo.abdul.in.th/docgen

 

ภาพอินโฟกราฟิกสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ DocGen ว่าฟังก์ชันหลักคือฟังก์ชันหลักคือสร้างเอกสารตามรูปแบบขององค์กร เหมาะกับการช่วยร่างเอกสาร เช่น TOR, รายงานการประชุม

ภาพตัวอย่างการใช้งาน DocGen ช่วยร่างเอกสาร TOR โดย DocGen ได้ตั้งต้นข้อมูลตั้งแต่บทนำ วัตถุประสงค์ ขอบเขตของงาน ผลการดำเนินงาน ระยะเวลา รวมถึงงบประมาณ

 

นอกจากงานประเภทสืบค้นข้อมูลและร่างเอกสารที่ต้องใช้เวลาและพลังในการทำงานสูงแล้ว อีกหนึ่งงานที่ใช้เวลาทำงานมาก จนหลายคนเลือกใช้เงินแก้ปัญหา คือ การถอดเทปหรือการถอดข้อความจากไฟล์เสียงหรือวิดีโอ ซึ่งโดยปกติเทปความยาวประมาณ​ 1 ชั่วโมง จะใช้เวลาในการถอดนาน 3-5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของผู้ถอดเทป

ดร.ศราวุธ เล่าต่อว่า เทคโนโลยีเด่นสุดท้ายที่เปิดตัวในคราวนี้ คือ PartiiNote เว็บแอปพลิเคชันสำหรับถอดเทปที่ถอดได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน นอกจากนี้ยังแปลจากภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยได้ด้วย (กรณีภาษาจีน สามารถเลือกแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วแปลเป็นภาษาไทยต่อได้) PartiiNote รองรับทั้งการถอดเทปจากไฟล์ MP3, MP4, WAV และ MPEG4 ขนาดไฟล์ไม่เกิน 200 MB และคลิปวิดีโอจาก YouTube ความยาวสูงสุด 1 ชั่วโมง ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการถอดหลักวินาที โดยหากเสียงมีความชัดเจน ความแม่นยำในการถอดเทปจะมากกว่าร้อยละ 95 (กรณีมีผู้ใช้บริการ ณ​ ขณะนั้นมากอาจใช้เวลาในการประมวลผลมากขึ้น เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร) ผู้ที่สนใจทดลองใช้งานได้ที่ https://meo.abdul.in.th/asr/

 

ภาพอินโฟกราฟิกสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ PartiiNote ว่าฟังก์ชันหลักคือถอดเทปได้ 3 ภาษาไทย อังกฤษ และจีน ถอดได้จากทั้งไฟล์เสียงและวิดีโอ และลิงก์คลิปวิดีโอจาก YouTube ขนาดไฟล์ไม่เกิน 200 MB ความยาวสูงสุดไม่เกิน 1 ชั่วโมง

ภาพตัวอย่างการใช้งาน PartiiNote ช่วยถอดเทป โดยระบบจะแสดงผลเป็นข้อความตามช่วงเวลาในเทป

 

 ‘Pathumma LLM’ เตรียมฉลาดขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ดร.ศราวุธ เล่าว่า ปัจจุบัน Pathumma LLM เรียนรู้ข้อมูลภาษาไทยแล้วมากกว่าสองหมื่นล้านโทเคน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ Generative AI ระดับโลกที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เช่น GPT-4 ซึ่งเรียนรู้ข้อมูลแล้วมากกว่าหลายล้านล้านโทเคน อย่างไรก็ตามทีมวิจัยกำลังดำเนินงานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนไทยในการพัฒนา foundation model หรือโมเดลพื้นฐานสำหรับประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณข้อมูลและพารามิเตอร์ที่ใช้ในการเทรนโมเดล โดยเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถนำโมเดลพื้นฐานที่พัฒนานี้มาใช้เพิ่มศักยภาพให้แก่ Pathumma LLM ได้ คาดว่าในอนาคตอันใกล้ Pathumma LLM จะได้เรียนรู้ข้อมูลภาษาไทยมากกว่าแสนล้านโทเคน หรือมากกว่าข้อมูลภาษาไทยที่ระบบ Generative AI ของชาติอื่นจะเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ซึ่งการดำเนินงานข้างต้นนี้จะสำเร็จได้ด้วยดีหากได้รับการอนุเคราะห์เอกสารและสื่อการเรียนรู้ภาษาไทย และการสนับสนุนทุนทรัพย์ในการใช้งานระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา AI จากทั้งภาครัฐและเอกชนไทย

 

ภาพประกอบสื่อถึง Large Language Model

 

แม้ปัจจุบัน Pathumma LLM จะยังเป็นเวอร์ชัน 1.0.0 หรือยังคงอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา แต่ทีมวิจัยได้เลือกเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าทดลองใช้งานและดาวน์โหลดโมเดลไปพัฒนาต่อแล้ว โดยเป้าหมายของการเปิดให้ใช้งานเทคโนโลยี คือ การส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนไทยเข้าถึงการใช้งาน AI ในการขับเคลื่อนองค์กรได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

ดร.ศราวุธ เล่าต่อว่า การใช้งาน Pathumma LLM, DocChat, DocGen และ PartiiNote แบบส่วนบุคคลผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานในรูปเว็บแอปพลิเคชันได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตทั่วไป แต่สำหรับหน่วยงานที่สนใจนำโมเดล Pathumma LLM ไปพัฒนาต่อเพื่อใช้งานภายในองค์กรหรือพัฒนาเป็นระบบบริการของตัวเอง แต่ยังขาดความพร้อมด้านทรัพยากรในการประมวลผล เช่น GPU (Graphics Processing Unit) ประสิทธิภาพสูง อาจเลือกใช้บริการระบบ private cloud ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ส่วนบุคคลหรือใช้งานเฉพาะภายในองค์กร จากผู้ให้บริการไทยหรือต่างประเทศเพื่อลดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และหากต้องการใช้บริการด้านการพัฒนาระบบ Generative AI ขององค์กร ติดต่อขอใช้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาได้ที่เนคเทค สวทช.

ผู้ที่สนใจเทคโนโลยี Pathumma LLM, DocChat, DocGen และ PartiiNote เข้าใช้งานทั้งรูปแบบ APP, API, open model โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่ https://aiforthai.in.th/pathumma-llm/ และติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Pathumma LLM ได้ที่ sarawoot.kon@nstda.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง : ‘Pathumma LLM’ โมเดลเพื่อการสร้าง Generative AI ที่เชี่ยวชาญทั้งภาษา ข้อมูล และบริบทไทย


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์, เนคเทค และจาก Adobe Stock

แชร์หน้านี้: