หน้าแรก ‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด
‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด
5 ก.ย. 2567
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

 

เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะด้าน computer vision หรือการประมวลผลภาพเพื่อแยกประเภทวัตถุ ตรวจจับตำแหน่ง หรือระบุพื้นที่ภายในภาพ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตาว่าจะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เพราะเทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยลดเวลาการตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา NomadML (โนแมดเอ็มแอล) แพลตฟอร์มผลิตโมเดล AI ฟังก์ชัน computer vision ในรูปแบบใช้งานง่าย วิธีเทรนไม่ซับซ้อน ที่สำคัญไม่ต้องเขียนโคด เหมาะทั้งการใช้ทดสอบระบบหรือ Proof of Concept (PoC) และการผลิตโมเดล AI เพื่อใช้งานจริง โดยแพลตฟอร์มนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก AI for Thai Platform และโครงการยกระดับแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลทางการแพทย์ภายใต้ Medical AI Consortium

 

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด
ดร.ธีศิษฏ์ ลีลาสวัสดิ์สุข นักวิจัยทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน เนคเทค สวทช.

 

ดร.ธีศิษฏ์ ลีลาสวัสดิ์สุข นักวิจัยทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน เนคเทค สวทช. อธิบายว่า NomadML เป็นแพลตฟอร์มสำหรับผลิตโมเดล AI ด้าน computer vision ที่ใช้งานได้ง่ายแค่เพียงทำ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกคือการนำชุดข้อมูลภาพที่ผ่านการคัดประเภทแล้วเข้าสู่ระบบ ขั้นที่สองปรับแต่งฟังก์ชันหรือพารามิเตอร์ (parameter) สำหรับประมวลผล หรือเลือกใช้ NomadML-Auto ฟังก์ชันปรับแต่งอัตโนมัติที่ออกแบบให้มีความแม่นยำสูงในการปรับแต่งพารามิเตอร์เสมือนผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ปรับแต่งให้ โดยหลังจากเลือกปรับแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วให้คลิกปุ่มเริ่มเทรนโมเดล เมื่อระบบประมวลผลสร้างโมเดล AI เสร็จแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายให้ผู้ใช้งานตรวจสอบความแม่นยำของโมเดลว่าวิเคราะห์ได้มีประสิทธิภาพเพียงไร หากผลเป็นที่พึงพอใจ ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดโมเดลไปใช้งานจริงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถเขียนซอฟต์แวร์เรียกใช้งานโมเดลตามตัวอย่างที่ทีมวิจัยเตรียมไว้ให้และต่อยอดนำโมเดลไปใช้งานบนอุปกรณ์อื่น ๆ ได้

 

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

 

“NomadML ผ่านการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงลดการใช้เวลาและงบประมาณในการพัฒนาระบบ ซึ่งเดิมต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นผู้ที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์มนี้แต่ไม่มีพื้นฐานด้านการเทรนโมเดล AI มาก่อนก็สามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานด้วยตัวเองจากคู่มือที่ทีมวิจัยจัดเตรียมไว้ให้ได้ ส่วนทางด้านโปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ หรือ SI (system integrator) NomadML จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดเวลาการทำงาน ทำให้มีเวลาทำ PoC หลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น และได้โมเดล AI ที่ตอบโจทย์การใช้งานในเวลาอันรวดเร็ว

“ทั้งนี้ผู้ใช้งาน NomadML ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เพราะระบบผ่านการออกแบบด้านการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบ SSO (Single-Sign-On) หรือการต้อง log in เข้าสู่ระบบก่อนใช้งานเสมอ โดยผู้ใช้งานและผู้ดูแลระบบจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นได้ การดึงข้อมูลของผู้ใช้งานจากเครื่องแม่ข่ายมาแสดงผลจะเป็นรูปแบบ API (Application Programming Interfaces) ที่ต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบ SSO ทุกครั้งที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูล ดังนั้นระบบจึงมีความปลอดภัยสูง”

ปัจจุบัน NomadML เริ่มมีการทดลองใช้งานแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเหล็ก เป็นการใช้โมเดล AI เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าว่ามีตำหนิประเภทต่าง ๆ หรือไม่ อาทิ รอยขีดข่วน การพ่นสีที่ไม่สม่ำเสมอ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง คือโมเดล AI เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าว่าขนาดและรูปทรงตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ ทีมวิจัยเคยทดสอบกับฐานข้อมูลแบบเปิด (open source dataset) เช่น การวิเคราะห์ฟิล์มรังสีเอกซ์ เพื่อจำแนกโรคโควิด-19 วัณโรค และปอดอักเสบ หรือประมวลผลภาพถ่ายรูม่านตาเพื่อวิเคราะห์การเป็นโรคต้อชนิดต่าง ๆ เช่น ต้อหิน ต้อลม

 

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

‘NomadML’ แพลตฟอร์มเทรน AI เทรนง่าย ไม่ต้องเขียนโคด

 

ดร.ธีศิษฏ์ เล่าต่อว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์ม NomadML เปิดให้ทดสอบใช้งานระบบแล้ว ผู้ที่สนใจใช้บริการได้ที่ www.nomadml.in.th โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบระบบ ทีมวิจัยจะเปิดให้ใช้งาน 2 รูปแบบ คือ แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลทั่วไป และแบบสมาชิกที่จะมีการเรียกเก็บค่าบริการรายปี โดยสิ่งที่สมาชิกจะได้รับคือพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้อมูลในระบบ และระยะเวลาในการทำงานสูงสุดต่องานมากกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึงไม่ต้องรอคิวในการใช้งานระบบร่วมกับผู้ใช้งานทั่วไปด้วย

“ส่วนทางด้านการพัฒนา NomadML ต่อไปในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนที่จะอัปเดตประสิทธิภาพระบบ parameter setting อย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบผู้ใช้งานเป็นผู้ปรับแต่งเอง และแบบฟังก์ชัน NomadML-Auto นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเชื่อมต่อแพลตฟอร์มกับเทคโนโลยี High-Performance Computing (HPC) หรือ Cloud GPU เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการประมวลผล”

NomadML เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญภายใต้โพรเจกต์ AI Thailand หรือโพรเจกต์ที่มุ่งสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี AI ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการเรียนรู้ การทำงาน การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือการยกระดับคุณภาพของคนไทย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ได้ที่ www.nomadml.in.th

 

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์

แชร์หน้านี้: