หน้าแรก ‘Acamp’ แพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (CFO) แบบอัตโนมัติ ใช้งานง่าย ปรับตัวทันนโยบายภาษีคาร์บอน

‘Acamp’ แพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (CFO) แบบอัตโนมัติ ใช้งานง่าย ปรับตัวทันนโยบายภาษีคาร์บอน

8 เม.ย. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

‘Acamp’ แพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (CFO) แบบอัตโนมัติ ใช้งานง่าย ปรับตัวทันนโยบายภาษีคาร์บอน

ปัจจุบันผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตต่างเริ่มหันมาคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และผลิตภัณฑ์​ (Carbon Footprint for Product: CFP)  กันมากขึ้น เพราะไม่เพียงช่วยให้การส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศที่มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดเป็นไปด้วยความราบรื่น ข้อมูลค่า CFO ยังช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นถึงลู่ทางลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) ทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

 

ภาพผู้ประกอบการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ มีกราฟแสดงอัตราการลดการปล่อยคาร์บอนลดลงในทุก ๆ ปี

 

อย่างไรก็ตามการจัดทำค่า CFO เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะกระบวนการมีความซับซ้อนสูง นอกจากผู้จัดทำจะต้องเก็บข้อมูลกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดแล้ว ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจำแนกรูปแบบการปล่อยคาร์บอนตาม Greenhouse Gas Protocol (GHG Protocol) หรือระเบียบวิธีวัดและรายงานก๊าซเรือนกระจกอย่างลึกซึ้ง ต้องเข้าใจวิธีคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอน และยังต้องอัปเดตค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor: EF) ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอด้วย

เพื่อลดภาระดังกล่าวให้ผู้ประกอบการไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา Automated Carbon Accounting Management Platform (Acamp) หรือเอแคมป์ แพลตฟอร์มสำหรับคำนวณค่า CFO แบบอัตโนมัติและติดตามผลแบบเรียลไทม์ พร้อมแสดงผลข้อมูลในรูปแบบแดชบอร์ด (dashboard) ที่เข้าใจง่าย พร้อมใช้งาน การคำนวณค่า CFO สอดคล้องกับ GHG Protocol และค่า EF ของอุตสาหกรรมไทย

 

Acamp คำนวณค่า CFO แบบอัตโนมัติและเรียลไทม์ ข้อมูลพร้อมใช้งาน

 

ภาพ ดร.อัมพร โพธิ์ใย นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการลดคาร์บอน เนคเทค สวทช.
ดร.อัมพร โพธิ์ใย นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการลดคาร์บอน เนคเทค สวทช.

ดร.อัมพร โพธิ์ใย นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการลดคาร์บอน เนคเทค สวทช. อธิบายว่า ทีมวิจัยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญทั้งความยากในการจัดเก็บข้อมูล การจำแนกประเภท และการคำนวณ ก่อนรวมเอาปัญหาเหล่านั้นมาออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การดำเนินงานสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การนำข้อมูลการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ระบบโดยอัตโนมัติ และการพัฒนาแพลตฟอร์ม Acamp เพื่อการคำนวณค่า CFO แบบอัตโนมัติและเรียลไทม์

 

ภาพโรงงานอุตสาหกรรม

 

“การนำเข้าข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า ในส่วนนี้ทีมวิจัยได้พัฒนา ZCARBON (ซีคาร์บอน) ซึ่งเป็นเอดจ์คอมพิวเตอร์ (edge computer) ที่มาพร้อมซอฟต์แวร์สำหรับจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าของแต่ละอุปกรณ์จากเครื่องวัดกำลังไฟฟ้า (power meter) แบบเรียลไทม์ และคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าทันที โดยหลังจากคำนวณเสร็จสิ้น ระบบจะส่งเฉพาะข้อมูลค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ขึ้นคลาวด์ เพื่อให้แพลตฟอร์ม Acamp เรียกข้อมูลจากคลาวด์ไปใช้คำนวณค่า CFO ขององค์กรต่อโดยอัตโนมัติ

“ส่วนที่สองคือข้อมูลจากระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลชนิดและปริมาณของในคลัง เช่น วัตถุดิบ เชื้อเพลิง และข้อมูลการนำทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ โดยทีมวิจัยได้ออกแบบกระบวนการส่งข้อมูล ERP ที่จำเป็นต่อการคำนวณค่า CFO เข้าสู่คลาวด์อัตโนมัติไว้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือส่งผ่าน API (Application Programming Interface) และรูปแบบที่สองคือการตั้งค่าสร้างรายงาน (print out) ไปไว้ที่คลาวด์แบบอัตโนมัติ เพื่อให้แพลตฟอร์ม Acamp เรียกข้อมูลจากคลาวด์ไปใช้คำนวณค่า CFO ขององค์กรต่อได้โดยอัตโนมัติ

“ส่วนที่สามจะเป็นข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการคำนวณค่า CFO แต่ไม่ได้มีบันทึกไว้ในระบบทั้งสอง ผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลเข้าสู่ Acamp โดยตรงผ่านหน้าเว็บแอปพลิเคชัน ตัวอย่างข้อมูล เช่น ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งสินค้า ปริมาณเชื้อเพลิงในการเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิต”

 

ภาพพนักงานโรงงานเปิด tablet เช็คประสิทธิภาพการผลิต

ภาพอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม

ภาพอุตสาหกรรมยานยนต์

ภาพอินโฟกราฟิกแสดงการทำงานของแพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอนอัตโนมัติ

 

หลังจากนำเข้าข้อมูลที่จำเป็นต่อการคำนวณค่า CFO เข้าสู่ระบบทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว Acamp จะคำนวณข้อมูล CFO ขององค์กรให้โดยอัตโนมัติ

ดร.อัมพร อธิบายว่า ในการเริ่มต้นใช้งานระบบ Acamp ครั้งแรก จะมีทีมที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและระบบโรงงานที่ผ่านการอบรมโดยเนคเทค สวทช. (ปัจจุบันมีมากกว่า 70 คน) เข้าช่วยตั้งค่าระบบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และวางแผนการคำนวณค่า CFO ของโรงงานให้ตรงตาม GHG Protocol ให้ก่อน (เช่น การจำแนกการปล่อยคาร์บอนตามขอบเขต (scope) ที่ต้องใช้ในการรายงานผล, การเลือกค่า EF ที่เหมาะสมมาใช้คำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนของแต่ละวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์​ หรือกิจกรรม) ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ​ 2-3 สัปดาห์ในการวางระบบ หลังจากที่ปรึกษาช่วยวางระบบทั้งหมดให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว Acamp จะคำนวณค่า CFO จากข้อมูลหลักทั้ง 3 ส่วนให้อัตโนมัติและติดตามผลแบบเรียลไทม์ พร้อมแสดงผลข้อมูลการคำนวณในรูปแบบแดชบอร์ดที่เข้าใจง่าย ทำให้สะดวกต่อการรายงานค่า CFO และการนำข้อมูลไปใช้วางแผนปรับปรุงการทำงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

“นอกจากความสะดวกที่กล่าวถึงข้างต้น Acamp ยังเป็นระบบ adaptive หรือปรับแต่งสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับค่า EF ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด ณ ขณะนั้นได้โดยอัตโนมัติ ทำให้การคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เป็นไปตามค่า EF ที่อัปเดตเสมอ อีกจุดเด่นที่สำคัญไม่แพ้กันคือการจัดเก็บ วิเคราะห์ และคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของ Acamp เป็นไปตาม ISO 14064-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปใช้ยื่นเพื่อการทำการค้ากับต่างประเทศได้ทันที”

 

จาก CFO สู่ Net Zero Emission

ดร.อัมพร อธิบายว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีผู้ประกอบการจากบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องจัดทำค่า CFO เพื่อนำไปคำนวณค่า CFP เพื่อใช้ยื่นเป็นข้อมูลประกอบเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่มีมาตรการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) มีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) ก่อน ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะมีอีกหลายประเทศที่ใช้มาตรการลักษณะนี้เช่นกัน

“สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ​ รวมไปถึงภาคบริการ การจัดทำข้อมูลค่า CFO และ CFP จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้สินค้าและบริการที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม​ นอกจากนี้หากในอนาคตประเทศไทยมีการออกมาตรการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนรายบุคคลดังที่มีผลบังคับใช้แล้วในสวีเดน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น สินค้าและบริการที่ระบุค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ได้และมีค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำก็จะยิ่งได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย (กรณีที่เลือกใช้สินค้าและบริการที่ไม่ระบุค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าภาษีคาร์บอนในอัตราที่รัฐบาลของประเทศนั้นกำหนด)”

 

ภาพสัญลักษณ์ที่สื่อถึง CBAM

ภาพสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเก็บภาษีคาร์บอน

 

นอกจากค่า CFO และ CFP จะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือมาตรการภาษีทั้งระดับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแล้ว การที่ผู้ประกอบการทราบถึงค่า CFO และ CFP ของสินค้าและบริการ ยังส่งผลดีต่อการลดต้นทุนการผลิตในภาพรวม และลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

ดร.อัมพร อธิบายทิ้งท้ายว่า เป้าหมายปลายทางของทีมวิจัยในการพัฒนา Acamp คือ การทำให้ผู้ประกอบการตระหนักรู้ถึงค่า CFO และ CFP ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การประเมินความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยคาร์บอนในแต่ละกิจกรรมขององค์กร โดยอาจเริ่มต้นจากจุดที่แก้ไขได้ง่าย เช่น การปรับอุณหภูมิตู้แช่วัตถุดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยไม่ใช้อุณหภูมิระดับต่ำเกินความจำเป็น เพื่อลดการใช้พลังงานและยืดอายุตู้แช่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีแผนจะร่วมกับทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแขนงต่าง ๆ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อมุ่งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ต่อไป

ปัจจุบันทีมวิจัยเปิดให้บริการเทคโนโลยี Acamp และ ZCARBON ผ่าน IDA Platform ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนำร่องติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nectec.or.th/smc/ida-platform/ โดยในปี 2568 นี้ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) สวทช. มีแผนที่จะจัดแคมเปญเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับโรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่าน IDA Platform ทั้งผ่านการให้คำปรึกษา การสนับสนุนเทคโนโลยี รวมถึงการช่วยเชื่อมต่อกับแหล่งเงินทุน และสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจในเทคโนโลยี Acamp และ ZCARBON สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งสองได้ที่ DTIRT อีเมล iiarg-dti@nectec.or.th, Line @DTIRT

ภาพสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอุตสาหกรรมสีเขียว


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ Adobe Stock

แชร์หน้านี้: