หน้าแรก สวทช. ประกาศผลรางวัล YSC2023 การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25
สวทช. ประกาศผลรางวัล YSC2023 การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25
4 มี.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

4 มี.ค. 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงานภูมิภาค ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25 รอบชิงชนะเลิศ (The 25th Young Scientist Competition: YSC 2023) ระหว่างวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2566 ชิงถ้วยพระราชทานฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโอกาสในการเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศกรรมศาสตร์ ระดับนานชาติ พร้อมเงินรางวัลและตั๋วเครื่องบินเดินทางและที่พักมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นางสาวอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหาร มหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงานภูมิภาค ร่วมมอบโล่รางวัลสำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันในครั้งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ทำงานกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงาน จัดประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและในปีนี้ มีจำนวนข้อเสนอโครงงานทั้งสิ้น 1,621 โครงงาน (นักเรียน 3,908 คน จาก 208 โรงเรียน) และผ่านการเฟ้นหาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในส่วนภูมิภาค จนได้ผลงานรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคและผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 64 โครงงาน (นักเรียน 155 คน จาก 36 โรงเรียน)

โดยโครงการฯดังกล่าว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนพัฒนาผลงานผ่านมหาวิทยาลัยเครือข่าย พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนเยาวชนให้เข้าร่วมการประกวด Regeneron ISEF 2023  ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนพฤษภาคม 2566 ณ เมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ในระดับนานาชาติ โดยสอดคล้องกับภารกิจของ สวทช. ในการสนับสนุนเยาวชนเพื่อเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ เริ่มต้นจากการบ่มเพาะพัฒนาเยาวชนให้มีโอกาสเรียนรู้และสนุกไปกับการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน รวมถึงพัฒนาทักษะและสมรรถนะของเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอย่างยั่งยืน

เป็นการเสริมแกร่งทั้งด้านการศึกษาและคุณธรรมแก่เยาวชน อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการได้รับโจทย์สำคัญคือ ผลงานของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละภูมิภาค ควรจะแสดงถึงการแก้ไขโจทย์ปัญหาของพื้นที่ที่เป็นอัตลักษณ์ของภูมิภาค เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และแก้ไขปัญหาเกษตรกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม อันจะนำมาซึ่งผลงานที่สร้างความความยั่งยืนให้กับประเทศ อยากให้แนวคิดดีๆ ของนักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาต่อยอด และส่งต่อไปถึงมือผู้ใช้จริง ไม่ควรจบอยู่แค่รางวัลหรือเกียรติบัตรที่ได้จากการแข่งขันในเวทีต่างๆ

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมงานกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงาน ดำเนินโครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์  ซึ่งจัดเป็นปีที่ 25 เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาให้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรม และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ พร้อมทั้งคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ในระดับนานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair หรือ Regeneron ISEF และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์นานาชาติอื่น ๆ

นอกจากกิจกรรมการประกวดแข่งขันแล้ว ในรอบการแข่งขันในระดับภูมิภาค โครงการฯ ได้มีการจัดอบรมเสริมทักษะให้กับนักเรียน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน พร้อมทั้งนำเยาวชนโครงการ YSC ร่วมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานวิทยาศาสตร์ ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและยกระดับการพัฒนาผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการวิจัย และนวัตกรรมในมิติต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัย และนวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ซึ่ง วช. เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างโอกาสให้กับเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับโครงการประกวดโครงงาน ของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ วช .ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนในการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน การวิจัย และนวัตกรรม ในลักษณะของการให้ทุน แก่ สวทช. และดำเนินงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเด็ก และเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายตามความร่วมมือทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นางสาวอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ มีนโยบายในการดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคม ด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเยาวชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking) ทักษะการทำงานเป็นทีม (Collaboration) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การพัฒนาทักษะด้าน เทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงมีจิตอาสาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดีควบคู่กันไป โดยได้รับความร่วมมือจาก สวทช. ซึ่งเป็นองค์กรภาคีที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเยาวชนสร้างรากฐานทางเทคโนโลยีในประเทศ ที่ให้การสนับสนุนนักวิจัยพี่เลี้ยงและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา มาให้คำแนะนำเยาวชนในการทำโครงงานอย่างใกล้ชิด

สำหรับการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่ทาง สวทช. จัดในครั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้การสนับสนุนเยาวชนเพื่อเดินทางเข้าร่วม ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ เริ่มต้นจากการบ่มเพาะพัฒนาเยาวชนให้มีโอกาสเรียนรู้และสนุกไปกับการทํากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน รวมถึงพัฒนาทักษะ และสมรรถนะของเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อแสดงศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทยผ่านผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่มาตรฐานระดับโลกใน

สำหรับด้านผู้เข้าประกวดการแข่งขันโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition YSC) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แบ่งออกเป็น 9 สาขา 10 รางวัล

โดยในปีนี้โครงงานรางวัลที่ 1 จำนวน 3 รางวัล จากสาขาเคมี และสาขาสหสาขา ซึ่งนอกจากจะได้รับรางวัลชนะเลิศ (Top Award) ซึ่งคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นที่สุดจากโครงงานที่ได้รับรางวัลใน 9 สาขา จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ (Top Award) แล้วยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair 2023 (Regeneron ISEF 2023) ระหว่าง 13  – 19 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา  ได้แก่

รางวัลที่ 1 สาขาเคมี ได้แก่ โครงงานแนวคิดใหม่แห่งวงการชีวเคมีทางการแพทย์: การตรวจสอบ DNA ของมะเร็งบนผิวเม็ดเลือดแดงโดยใช้เลือดไก่เป็นแบบในการศึกษาเพื่อพัฒนาสู่นวัตกรรมใหม่ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่รวดเร็ว

รางวัลที่ 1  สาขาสหสาขา ได้แก่ โครงงานการปรับปรุงแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อทำนายการเสริมฤทธิ์ของยาคู่ผสมสำหรับรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างโมเลกุลยาและพหุโอมิกส์

รางวัลที่ 1 ร่วมในสาขาสหสาขา ได้แก่ โครงงานแนวทางผสมผสานเพื่อการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ และการใช้แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์เชิงลึกในการทำนายต้นกำเนิดของมะเร็งจากข้อมูลการเติมหมู่เมทิลของสายดีเอ็นเอ

และยังมีโครงงานที่ 1 สาขาอีก 3 รางวัล ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติ Regeneron ISEF อีกด้วย ได้แก่

รางวัลที่ 1 สาขาคอมพิวเตอร์ ได้แก่ โครงงานการพัฒนาวิธีการในการตรวจจับท่าภาษามือเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบอุปกรณ์

รางวัลที่ 1 สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ โครงงานนวัตกรรมอุปกรณ์การตรวจปริมาณแคลเซียมจากเศษเล็บโดยใช้หลักการวิเคราะห์เชิงสีและการดูดกลืนเชิงแสงเพื่อการประเมินภาวะสมดุลแคลเซียมและความเสี่ยงโรคกระดูก

รางวัลที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงงานวัสดุดูดซับน้ำมันและสารอินทรีย์จากยางพาราผสมเซลลูโลสและซิลิกา

พร้อมทั้งโครงงานรางวัลที่ 1 สาขาอีก 4 รางวัล ได้แก่

รางวัลที่ 1 สาขาคณิตศาสตร์ ได้แก่ โครงงานเทคนิคการตอบเชิงสุ่มสำหรับแบบสอบถามที่มีระดับและวิธีเลื่อนเชิงเส้นที่ดีที่สุด

รางวัลที่ 1 สาขาชีววิทยา ได้แก่ โครงงานคุณสมบัติของสารสกัดจากใบบัวบกในการป้องกันการเสื่อมสภาพทางระบบประสาทที่เกิดจากสารโทลูอีนในสัตว์ทดลอง C. elegans

รางวัลที่ 1 สาขาวัสดุศาสตร์  ได้แก่ โครงงานคาร์บอนรูพรุนตัวเก็บประจุยิ่งยวดจากเปลือกต้นกระถินณรงค์

รางวัลที่ 1 สาขาฟิสิกส์ พลังงานและดาราศาสตร์  ได้แก่ โครงงานการศึกษาพฤติกรรมของอนุภาคนาโนแม่เหล็กภายใต้กระแสวนในระบบหมุนเวียนเลือดโดยใช้โปรแกรมจำลองพลวัตเชิงโมเลกุล LAMMPS

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการจัดงาน YSC ยังได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ครูที่ปรึกษาผลงานโดดเด่น ซึ่งนอกจากจะมีผลงานเยาวชนภายใต้การดูแลผ่านเข้ารอบเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีผลงานในการสนับสนุนเยาวชน และมีการส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน และโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ นายขุนทอง คล้ายทอง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี  พร้อมทั้งได้มอบรางวัล โรงเรียนสถาบันการศึกษาหน้าใหม่ สำหรับที่ปรึกษาโครงงานซึ่งเป็นที่ปรึกษาในโรงเรียน ที่นำพาผลงานของโรงเรียนผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เป็นครั้งแรก ได้แก่ นายภูวนัย ดอกไธสง ครูโรงเรียนจอมพระประชาสรรค์  นายเจตณรงค์ ทาคำวงศ์ ครูโรงเรียนวารินชำราบ นายอาจอง  ขาวเธียร ครูโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา  ครูศิริ เอียดตรง  โรงเรียนตันหยงมัส  และนายศุภณัฐ พัฒนสารินทร์ ครูโรงเรียน พิริยาลัยจังหวัดแพร่  อีกด้วย

 

4 มี.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: