หน้าแรก เด็กคืออนาคตสำคัญของชาติ ชวนเด็กเล่นอย่างไรให้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์
เด็กคืออนาคตสำคัญของชาติ ชวนเด็กเล่นอย่างไรให้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์
13 ม.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปี พ.ศ.2567 ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวทช. ดำเนินงานตอบสนองนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนดี มีความสุข มีรายได้ เนื่องจาก ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจและคณะผู้บริหาร สวทช. เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ Global Young Scientists Summit 2024 ณ สิงคโปร์ จึงได้ใช้โอกาสนี้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้นักวิชาการสิงคโปร์และเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่อโครงการว่า “KidsSTOP” ซึ่งเป็นสถานที่เรียนรู้เล่นและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นชื่นชอบอย่างมากของเด็กๆ

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า KidsSTOP ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านนิทรรศการและนักการศึกษาที่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างน่าสนใจ เด็กๆ ได้เข้าไปทำกิจกรรมเรียนรู้ในฐานต่างๆ เช่น ฐานผู้ปีนผู้พิชิตความฝันอันยิ่งใหญ่ ( The Big Dream Climber) เด็กๆ สามารถปีนและสำรวจได้อย่างปลอดภัยเพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย ฐานการบินและอวกาศ (Flight and Space) เด็กๆ สนุกกับเรียนรู้เกี่ยวกับการบินและอวกาศผ่านกิจกรรมและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ฐานมาสร้างบ้านและสิ่งแวดล้อมกันเถอะ (Built Environment) เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ สร้างและออกแบบบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างด้วยตัวเอง ซุปเปอร์มาร์เก็ตจำลอง (Supermarket) ที่เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยและเศรษฐกิจ ซึ่งบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปประยุกต์ในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในการเล่นและเรียนรู้สำหรับเด็กไทยในอนาคตได้

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวว่า นักวิจัยศูนย์วิจัยแห่งชาติและนักวิชาการ สวทช. พัฒนานวัตกรรมสื่อการศึกษาและหลักสูตรสะเต็มศึกษาที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright เลนส์มิวอาย ตุ๊กตาวัดไฟ กล่องปลูกพืชไมโครกรีน และชุดการทดลองต่างๆ เพื่อให้เด็กได้สนุกกับการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา การมาเยี่ยมชมและได้พูดคุยกับนักวิชาการด้านการศึกษาสร้างแรงบันดาลใจให้นำไปพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสื่อที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย และในปี 2567 นี้ สวทช. เปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรมากขึ้น โดยจะมีการเปิดตัวกิจกรรมค่าย Next STEP รูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่บ้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น กิจกรรมแนะแนวการศึกษาและอาชีพที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทย กิจกรรมส่งเสริมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวจะเน้นให้เด็กได้พัฒนาความรู้ ความเข้าใจและทักษะสำคัญ และมีความสุขกับการเรียนรู้

13 ม.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: