สวทช. จับมือ สพฐ. เสริมสร้างศักยภาพครูพื้นที่ EEC ให้มีความเข้มแข็ง ในศาสตร์ด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่สอดคล้องนโยบาย BCG ต่อยอดในชั้นเรียน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการแพทย์และสุขภาพ ระหว่างวันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม zoom
![]() |
![]() |
![]() |
หลักสูตรออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับความสามารถในการแข่งขันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ตามบริบทของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ “คุณครู” ผู้ถ่ายทอดความรู้ โดยนำเนื้อหาความรู้พื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเชื่อมโยงสู่ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) หรือ การแพทย์แม่นยำ และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ” ผ่านสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลาย นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสู่โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ต่อไป ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นครูในระดับมัธยมศึกษา ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 80 โรงเรียน จำนวน 160 คน
![]() |
![]() |
![]() |
โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวเปิดการอบรม พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ จารุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ร่วมกล่าวต้อนรับ
![]() |
![]() |
เริ่มการอบรมเชิงปฏิบัติการด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เสริมพลังเชื่อมโยงสู่ศาสตร์การเรียนการสอน โดย ดร.กมลรัตน์ ฉิมพาลี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนถนนหักพิทยาคม
และการบรรยายหัวข้อ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่วนสำคัญของการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดย ภญ. ดร.กนกวรรณ ศันสนะพงษ์ปรีชา นักวิจัย ทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้ยกตัวอย่างผลงานวิจัย อิมัลเจลที่มีส่วนประกอบของอนุภาคนาโนอิมัลชันบรรจุสารสกัดจากเหง้าขิงและอนุภาคนาโนทองคำ เพื่อยับยั้งการอักเสบและสมานแผล ที่สามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ผลักดันเพิ่มคุณค่าสมุนไพร พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชน ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งหลักการอิมัลชันดังกล่าวผู้เข้าอบรมจะได้ทำการทดลองในวันสุดท้ายของการอบรม
![]() |
![]() |
ต่อด้วยการบรรยาย จาก ร.ต.ท.หญิง แพทย์หญิง อติพร เทอดโยธิน หัวข้อ เส้นทาง การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สู่การเป็นแพทย์ และอาจารย์แพทย์ และ กิจกรรมเรียนรู้ระบบร่างกาย และภูมิคุ้มกันสร้างสุข สุขภาพดี อย่างยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการแพทย์ เนื้อหาเชื่อมโยงสาระสำคัญที่เกี่ยวกับกระบวนการสรีรวิทยาของระบบหมุนเวียนโลหิตและระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ รวมถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านพันธุศาสตร์กับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด องค์ประกอบของเลือด หมู่เลือด โรคทางพันธุกรรมผ่านกิจกรรม สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ชุด เชอร์ล็อก โฮมส์ กับคดีปริศนา ประยุกต์เข้ากับการแพทย์และนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการไขคดีปริศนา ซึ่งเนื้อหาสามารถนำไปเสริมการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้น่าสนใจและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
![]() |
![]() |
วันที่ 2 ของการอบรมเริ่มด้วยการบรรยายพิเศษ “การแพทย์จีโนมิกส์ โฉมหน้าใหม่ของการรักษาแห่งโลกอนาคต” ปูพื้นฐานภาพรวมการแพทย์โฉมใหม่ ที่เน้นการการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม ที่จำเพาะต่อผู้ป่วย และรักษาได้ตรงจุด โดย ศ. เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
![]() |
![]() |
![]() |
ต่อด้วยการบรรยายและกิจกรรม หัวข้อ เจาะลึกพันธุศาสตร์กับไวรัสโคโรน่า สู่การพัฒนาชุดตรวจและวัคซีน เพื่อเรียนรู้กลไกการทำงานของสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่า และการนำความรู้ทางพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ และพัฒนาวัคซีน เสริมด้วยกิจกรรมฝึกทักษะปฏิบัติการ การแยกสารด้วยชุดสื่อการเรียนรู้จำลองหลักการเคลื่อนที่ของสารบนเจลภายใต้สนามไฟฟ้า (Gel electrophoresis) โดย น.ส.สุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช.
![]() |
![]() |
วันสุดท้ายของการอบรม เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับ นวัตกรรมเวชสำอาง ซึ่งเป็นการบรรยายปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีกับเครื่องสำอางและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดย รศ.ภญ.ดร.จิตติมา ลัคนากุล รองคณบดีฝ่ายพันธกิจสากลและวิรัชกิจ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกิจกรรมปฏิบัติการ เตรียม “Nano emulsions” และการประเมินผลิตภัณฑ์ โดย ผศ.ภญ.ดร.ดุษฎี ชาญวาณิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต และทีมวิทยากร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ในกลุ่มย่อยผ่านการทดลองปฏิบัติการอย่างสนุกสนาน ระดมสมองในกลุ่มย่อย และฝึกปฏิบัติการสร้างตำรับครีมทาผิว โดยใช้หลักการนาโนอิมัลชัน ซึ่งมีประโยชน์ทางเวชสำอาง เช่น ช่วยเพิ่มการดูดซึมของสารสำคัญผ่านผิวหนัง ช่วยกักเก็บน้ำในผิวหนัง ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นอย่างยาวนาน เป็นต้น โดยแลกเปลี่ยนผลงานผ่าน padlet พร้อมนำเสนอในรูปแบบ pitching และรับฟังคำแนะนำจากทีมวิทยากร
![]() |
![]() |
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม
“เป็นกิจกรรมที่ดีมาก สนุก สามารถนำมาประยุกต์กับโครงงานและบริบทชุมชนได้”
“อยากให้จัดทุกปี ถ้ามีโอกาส ทางโรงเรียนขอเข้าร่วมทุกปี”
“เนื้อหาและกิจกรรมจากการอบรม สามารถนำมาเขียนแผนการจัดการเรียนการสอนได้”
“การอบรมนำเสนอเนื้อหาชีววิทยาที่ยากและเยอะ ให้สนุก น่าสนใจ ในรูปแบบกิจกรรมและสื่อรวมถึงเทคนิคการใช้ quiz ในการสอน”