หน้าแรก “Para Plearn” นวัตกรรมของเล่นจากยางพารา เสริมพัฒนาการเด็ก เล่นและเรียนรู้อย่างปลอดภัย
“Para Plearn” นวัตกรรมของเล่นจากยางพารา เสริมพัฒนาการเด็ก เล่นและเรียนรู้อย่างปลอดภัย
18 ก.พ. 2564
0
บทความ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเอ็มเทค สวทช. พัฒนา “Para Plearn ต้นแบบนวัตกรรมของเล่นปลอดภัยจากยางพารา มีหลากหลายถึง 3 ผลิตภัณฑ์ คือ ยางพาราสำหรับขีดเขียนคล้ายชอล์ก ดินปั้นจากยางพารา รวมถึงยางพาราผงคล้ายสไลม์แบบผง นับเป็นแนวทางการเพิ่มมูลค่ายางพารารูปแบบใหม่ ช่วยเสริมสร้างทักษะและกระบวนการเรียนรู้เด็กอย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลใจเรื่องสารเคมี

ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง เอ็มเทค สวทช.

ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ภายในงานแถลงข่าวสรุปผลงาน สวทช. ประจำปี 2563 ภายใต้งาน NSTDA Beyond Limits: 3 Decades of Impacts (3 ทศวรรษ แห่งความต่อเนื่อง ความสำคัญและผลกระทบ) เอ็มเทค สวทช. เปิดตัวผลงานวิจัย Para Plearn ซึ่งเป็นนวัตกรรมของเล่นปลอดภัยที่ใช้ยางพาราเป็นวัสดุหลักในการผลิต โดยมีแนวคิดมาจากความต้องการนำยางพาราซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่และมีความหลากหลายมากขึ้น

“ความเชี่ยวชาญด้านหนึ่งของเอ็มเทคคือการคิดค้นสูตรยางพารา คล้ายกับการพัฒนาสูตรอาหาร นำวัตถุดิบต่างๆ มาผสมกันเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นเดียวกับยางพารา เรามีการทดลองปรับสภาพยางให้แข็งที่สุด หรืออ่อนที่สุด เพื่อดูความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งาน พร้อมทั้งคิดค้นสูตรส่วนผสมต่างๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย”

Para Note

ดร.สุรพิชญ กล่าวว่า Para Plearn ประกอบด้วยของเล่นเด็กจากยางพาราทั้งหมด 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Para Note คือการนำยางพารามาทำให้แข็ง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง สามารถใช้เขียนกระดานหรือพื้นผิวที่มีความขรุขระได้คล้ายกับชอล์ก โดยทั่วไปชอล์กตามท้องตลาดมักทำจากแร่ยิปซัม หรือเกลือจืด ซึ่งเป็นแคลเซียมซัลเฟต เวลาเขียนจะเลอะมือ เกิดฝุ่นได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ Para Note ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนั้น เขียนได้ไม่เลอะมือ ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย และไม่เป็นอันตราย อีกทั้งยังแตกหักได้ยากกว่าชอล์กที่วางจำหน่ายทั่วไป ที่สำคัญคือสามารถลบได้สะอาดด้วยยางพาราที่มีความอ่อนตัวน้อยกว่า และขึ้นรูปเป็นลักษณะต่างๆ ได้ตามรูปแบบแม่พิมพ์”

Para Dough

“ผลิตภัณฑ์ที่ 2 คือ Para Dough เกิดจากการทดลองนำแผ่นยางพารามาทำให้อ่อนตัวมากที่สุด จากนั้นทดลองผสมกับน้ำมันปาล์มและแป้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จนเกิดเป็น Para Dough หรือยางสำหรับปั้น มีลักษณะคล้ายกับดินน้ำมัน แต่ไม่มีกลิ่นและปลอดภัยกว่าดินน้ำมันทั่วไป เพราะปราศจากสารที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังสามารถคงสภาพอยู่ได้โดยไม่แห้งแข็ง ทนความร้อน-เย็นได้ ไม่ขึ้นรา และไม่มีกลิ่นแม้จะทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังสามารถเติมสีและกลิ่นต่างๆ ได้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจมากขึ้น

Para Sand

ผลิตภัณฑ์ชิ้นสุดท้ายคือ Para Sand ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีลักษณะเป็นผงเหมือนทรายแต่มีความหนืดไม่แตกตัว ลักษณะคล้ายสไลม์แบบผง มีรูปแบบการพัฒนาเช่นเดียวกับ Para Dough แต่มีการผสมวัตถุดิบในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน สามารถนำผงยางพารามาปั้นหรืออัดขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆ และเปลี่ยนรูปให้กลับมาเป็นผงเช่นเดิมได้ โดยนำกลับมาปั้นขึ้นรูปใหม่ได้มากกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งเติมสีและกลิ่นต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือของเล่นสำหรับเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กที่ไม่เป็นอันตรายเพราะปราศจากสารเคมีเจือปน”

ดร.สุรพิชญ กล่าวเพิ่มเติมว่า Para Plearn ถือเป็นการริเริ่มการแปรรูปยางสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เด็กไทยมีของเล่นเสริมการเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เอ็มเทคสนใจและให้ความสำคัญ ยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของเล่นเสริมพัฒนาการที่บ้านจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเพื่อลดการไปยังพื้นที่เสี่ยง ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา อันจะส่งผลที่ดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราต่อไปในอนาคต

ผู้ที่สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี Para Plearn สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4301 หรือ อีเมล:netchanp@mtec.or.th

 

Para Plearn

////////////////////

ผู้เรียบเรียง: นางสาวณัฐมน ทีฆาวงศ์, นางสาววัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

ภาพ: ทีมประชาสัมพันธ์ สวทช.

กราฟิก: นางสาวฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

แชร์หน้านี้: