หน้าแรก สวทช. จัดงานเสวนา “นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next generation battery technologies powering the future industries)”
สวทช. จัดงานเสวนา “นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next generation battery technologies powering the future industries)”
18 พ.ย. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้อง MR 213 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) นำโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์กรเอกชน กำหนดจัดงานเสวนา “นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next generation battery technologies powering the future industries)” ภายใต้งาน METALEX 2022 มหกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลโลหการอันดับหนึ่งของอาเซียน เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งในเชิงนโยบายภาครัฐ และเชิงเทคนิค รวมทั้งแนวโน้มเทคโนโลยีในมุมมองของภาคเอกชน

การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีให้ผู้มีประสบการณ์ในสายงานนวัตกรรม เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ทั้งนักวิจัย ผู้บริหาร และนักนโยบาย มาให้คำแนะนำ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาทุกท่านได้มีแนวคิดใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอด ในสายงานวิจัย สร้างการเติบโตและความได้เปรียบในเชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานได้

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การเสวนาภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมแบตเตอรี่ยุคใหม่เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต” เป็นการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular and Green Economy) อันเป็นโจทย์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจเมื่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

ระบบกักเก็บพลังงานคือระบบ อุปกรณ์ วิธีการ หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มีการดำเนินการกำกับดูแลหรือมีธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid energy storage) ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม จะมีความผันผวนค่อนข้างมาก ระบบกักเก็บพลังงานนั้นสามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองต่อระดับความต้องการผลิตและความต้องการใช้ที่มีความผันแปรได้อย่างทันท่วงที เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานโดยเฉพาะแบตเตอรี่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน

รูปแบบหนึ่งของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่มีการประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายคือ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีสมรรถนะที่ดีและได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและสามารถประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ อย่างไรก็ตามแบตเตอรีลิเธียมยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน ในเรื่องของความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความจำกัดของแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรที่ใช้

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มว่า หนึ่งในสิ่งส่งมอบผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) คือ การรับมือต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน ซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับแนวโน้มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในปัจจุบัน โดยมีการดำเนินการจัดตั้งโรงงานต้นแบบวิจัยแบตเตอรี่วัสดุทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูง ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยแบตเตอรี่วัสดุทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูง และสามารถเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Platform) สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ปลอดภัยทางเลือกใหม่เพื่อความมั่นคงและการใช้งานเชิงพาณิชย์ และสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทางเลือกภายในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาแบตเตอรี่ทางเลือกเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage system) ที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ NSD ยังมีเครือข่ายพันธมิตรจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์กรเอกชน ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน โดยเฉพาะแบตเตอรี่ มีส่วนร่วมผลักดันงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การวิจัยพัฒนาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูงที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงโดยพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศ ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ร่วมกับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด, และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสี-แมงกานีสไดออกไซด์ในประเทศไทย กับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ดร.อดิสร กล่าวตอนท้าย

18 พ.ย. 2565
0
แชร์หน้านี้: