สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เข้าร่วม พิธีเปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 74 สาขาเคมี ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 74 สาขาเคมี ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นำนักวิทยาศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ จำนวน 6 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทและร่วมงานประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล
![]() |
![]() |
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ได้กล่าวว่า การประชุมอันทรงเกียรติระดับโลกนี้มีกำหนดจัดขึ้นทุกปี ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2568 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากทั่วโลก สำหรับการประชุมในปีนี้ ซึ่งเน้นหนักในสาขาเคมี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประชาสัมพันธ์ สอบสัมภาษณ์กลั่นกรอง และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงคัดเลือกเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ไทยรุ่นใหม่มีศักยภาพ มีความพร้อมทั้งทางด้านความรู้ในสาขาเคมี ทักษะที่จำเป็นต่างๆ และทัศนคติที่เหมาะสมในการเป็นผู้แทนประเทศไทย จำนวน 6 ราย ให้ไปเข้าร่วมการประชุมฯ อันเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนแนวคิด และรับแรงบันดาลใจจากบุคคลสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม เป็นผู้บรรยายในเนื้อหาที่น่าสนใจ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ผู้แทนประเทศไทยทั้ง 6 คน นี้ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก 2 คน และ นักวิจัยหลังปริญญาเอก 4 คน ประกอบด้วย: 1.นางสาวประภัสรา ม่วงโสภา จบการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเคมี (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีงานวิจัยที่น่าสนใจในด้านสีย้อมอินทรีย์, Molecular Imaging และนาโนเทคโนโลยี และกำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ University of Texas สหรัฐอเมริกา 2. ดร.แพรพลอย ชมขุนทด กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขา Materials Science Research ณ Imperial College London สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นปริญญาเอกใบที่สอง โดยงานวิจัยมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบตเตอรี่, Supercapacitors และ Electrocatalysts 3. ดร.ณัชพงษ์ สุวรรณวงศ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์เคมี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Glycochemistry, Medicinal Chemistry, Drug Discovery และ Computational Simulations 4. ดร.ธนากร กิตติกูล นักวิจัยหลังปริญญาเอก กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผลงานวิจัยเด่นด้าน Perovskite solar cell 5. ดร.รชวี แจ่มมี นักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ International School of Engineering คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีประสบการณ์ในด้าน Applied Science and Engineering และ Inorganic Chemistry และ 6. ดร.สกุลรัตน์ มั่นคง นักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ Institut de Génétique et de Biologie Moléculaire et Cellulaire (IGBMC) สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีงานวิจัยสำคัญเกี่ยวกับ Skeletal muscle, Muscular dystrophy diseases และ Sarcomere
โอกาสนี้ ดร.พัชร์ลิตา กล่าวว่า ปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์เยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมงาน 18 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 87 คน โดยมีศิษย์เก่าที่ทำงานแล้ว กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และภาคเอกชน หลายคนมีผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ เช่น ศ.ดร.นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท และทีมวิจัย ประสบผลสำเร็จจากการค้นพบสารสังเคราะห์ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสารชาลโคน (chalcone) ที่พบในสมุนไพรหลายชนิด เช่น ชะเอมเทศ เป็นต้น ช่วยในการป้องกันภาวะไตเสื่อมในสัตว์ทดลองที่เป็นไตจากเบาหวานครั้งแรก โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Biomedicine & Pharmacotherapy” รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิษฐ์ ปราณีนรารัตน์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ระดับอุดมศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ได้รับรางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น โดยทำการวิจัยและพัฒนา สเปรย์ฟิล์ม ลดอุณหภูมินับว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่กระบวนการสเปรย์ถูกนำมาใช้สร้างรูปทรงและรูปร่าง สามารถเพิ่มการระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีอินฟราเรดในช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร และใช้ได้กับลักษณะพื้นผิวที่หลากหลาย
ดร.พัชร์ลิตา กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสอันดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ในการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพงานวิจัยของประเทศไทยให้ก้าวไกลในระดับสากล และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไปในอนาคต และให้กำลังใจนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างเครือข่ายเพื่อนนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ และนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนางานวิจัยและเผยแพร่ความรู้ให้กับเยาวชนและสังคมต่อไป