หน้าแรก แนะนำ 10 ผลงานวิจัยเด่นพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ Investment Pitching ในงาน Thailand Tech Show 2020

แนะนำ 10 ผลงานวิจัยเด่นพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ Investment Pitching ในงาน Thailand Tech Show 2020

25 พ.ย. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์
ขอเชิญผู้สนใจร่วมฟังการนำเสนอ 10 งานวิจัยเด่นพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ Investment Pitching
ภายในงาน Thailand Tech Show 2020 วันที่ 2 ธันวาคม 2563 นี้ เวลา 10.00-11.30 น.
พร้อมร่วมโหวตและลุ้นผลงานวิจัยที่น่าลงทุนได้ที่นี่ (คลิก)
1. ไฮบริดชัวร์ การตรวจความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์อย่างแม่นยำและรวดเร็ว (HybridSure)
HybridSure เป็นงานบริการตรวจเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสม เช่น แตงกวา แตงโม แตงเทศ มะเขือเทศ มะระ และพริก โดยจะทำการตรวจความบริสุทธิ์ด้วยเครื่องหมายโมเลกุลสนิปที่จำเพาะเจาะจงกับลูกผสมแต่ละคู่ วิธีการตรวจสอบนี้รวดเร็วและแม่นยำกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาก  HybridSure สามารถตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ผลิตกันอย่างแพร่หลายในแทบ Southeast Asia ได้เกือบทุกสายพันธุ์ แม้กระทั่งสายพันธุ์ที่มีฐานพันธุกรรมใกล้เคียงกัน
2. เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน (PETE เปลปกป้อง)
เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเหมาะสมสำหรับการใช้งานในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย (1) ระบบสร้างและควบคุมแรงดันลบแบบโมดูล ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อสูงถึง 99.995% มีขนาดเล็กทำให้เคลื่อนย้ายได้สะดวก ประหยัดพลังงานสามารถติดตั้งได้เข้ากับเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหลายขนาด (2) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ผลิจากวัสดุที่สามารถนำเปลเข้าเครื่อง X-ray  และ อุโมงค์ CT scan ได้ ทำให้สามารถลดขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถพับเก็บได้เป็นชุดให้สามารถลากคล้ายกระเป๋าเดินทางหรือสะพายหลัง ประหยัดพื้นที่เหมาะกับการใช้งานบนรถพยาบาลร่วมกับเตียงพยาบาล แผ่นรองหลัง หรือเปลตัก ที่มีมีอยู่เดิม มีความแข็งแรงรองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้กว่า 250 กิโลกรัม และ (3) ระบบสร้างและควบคุมแรงดันลบอัตโนมัติที่สามารถควบคุมแรงดันอากาศให้เหมาะสมตามการใช้งานได้โดยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่
3. เครื่องบำบัดและฆ่าเชื้อในอากาศภายในอาคาร (Innovative Air Cleaner)
อินโนเวทีฟแอร์คลีนเนอร์ (Innovative Air Cleaner) เป็นเครื่องบำบัดและฆ่าเชื้อโรคในอากาศภายในอาคารที่ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีทางไฟฟ้าสถิต (electrostatic technology) ที่ให้ประสิทธิภาพสูงถึง 99% สำหรับฝุ่นในช่วงขนาด 0.1 – 50 ไมครอน  สามารถกำจัดกลิ่นและเชื้อโรคบางชนิดในอากาศได้ มีการปลดปล่อยโอโซน (O3) ต่ำ กำจัดโอโซนด้วยเทคโนโลยี Ozone Trapper หรือ Ozone Absorber มีการบำรุงรักษาต่ำกว่า ออกแบบให้เหมาะสมต่อการใช้งานในโรงพยาบาล ครัวเรือน สำนักงานทั่วไป และโรงเรียน
4. ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COXY-AMP)
COXY-AMP หรือ ชุดตรวจ COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค โดยนำเอาเทคนิคแลมป์ หรือ Loop-mediated isothermal amplification (LAMP) มาใช้ร่วมกับสีบ่งชี้ปฏิกิริยา Xylenol Orange เพื่อให้สามารถอ่านผลการตรวจได้ด้วยตาเปล่า โดยสังเกตจากสีที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ด้วยเทคนิคแลมป์ในหลอดทดสอบ โดยหากตัวอย่างส่งตรวจมีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สีของสารละลายจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง แต่ถ้าไม่มีการติดเชื้อ สีของสารละลายจะยังคงเป็นสีม่วง เทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียวนี้ มีความไว ความจำเพาะและความแม่นยำสูง ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ราคาแพง เป็นการทำงานแบบขั้นตอนเดียว ที่ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาทดสอบเพียง 75 นาที
5. โมเดลการผลิตสารทางชีวภาพเป้าหมาย (Smart-BIOact)

Smart-BIOact ใช้ข้อมูลในระดับ Big data ของสิ่งมีชีวิต เพื่อวิเคราะห์-ทำนายความสามารถในการสร้างสารชีวภัณฑ์ (bioproduct) หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเป้าหมายของจุลชีพ ด้วยเทคนิคด้าน ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) วิเคราะห์ด้วยแบบจำลองสารชีวเคมีในเซลล์ (Metabolic model) และปัญญาประดิษฐ์ (AI optimization method) ช่วยทำนายสภาวะการเลี้ยงที่เหมาะสมกับจุลชีพในการผลิตสารชีวภัณฑ์เป้าหมาย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการค้นหาสารชีวภัณฑ์ใหม่ ปรับปรุงการผลิตสารชีวภัณฑ์ที่สนใจ หรือค้นหาการออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจในจุลชีพ (microorganism)

หมายเหตุ: ในกรณีนี้ใช้สาหร่ายเป็นโมเดล แต่ Platform สามารถปรับใช้กับจุลชีพอื่นๆ นอกจากสาหร่ายได้

6. มหัศจรรย์สีสันยางพารา (The Amazing Rubber Paint)
สีเพ้นท์จากน้ำยางธรรมชาติ คือ สีเพ้นท์ที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก สามารถนำมาใช้ในการเพ้นท์บนผ้าชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าไหม ผ้าดิบ ผ้ามัสลิน ผ้าสาลู เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการลดต้นทุนของการผลิต ลดมลพิษ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปให้ผู้ต้องการฝึกปฏิบัติการเพ้นท์หรือการทำงานศิลปะได้อีกทางหนึ่ง และเป็นการเพิ่มทางเลือกของการเพ้นท์ผ้า ไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้งาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
7. หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบแหล่งกำเนิดรังสีเคลื่อนที่ (AGV-Cobot UVC)

การฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซี (UVC) ซึ่งมีความยาวคลื่นในช่วง 200-280 นาโนเมตร มีความสามารถในการฆ่าเชื้อได้ทั้งกลุ่มของ แบคทีเรีย (Bacteria) เชื้อรา (Molds) โปรโตซัว (Protozoa) ไวรัส (Virus) และยีสต์ (Yeast) ความสามารถในการฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี จะมีประสิทธิภาพบนพื้นผิวของวัตถุ ภายใต้ค่าความเข้ม (Power Density) และเวลา (Time) ของการฉายรังสีต่อการกำเนิดพลังงาน (Energy) ที่เพียงพอในการฆ่าเชื้อแต่ละชนิด โดยในปัจจุบันมีตู้อบยูวีซีเพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อจำนวนมากโดยเป็นการรับรังสีจากแหล่งกำเนิดติดตรึง (Stationary Radiation Source) โดยที่ระยะห่างของพื้นผิววัตถุจะมีผลของการรับความเข้มของรังสีที่แตกต่างกัน ดังนั้นประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อจะมีค่าไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ กรณีพื้นผิวใกล้แหล่งกำเนิด (หลอดยูวีซี) จะได้รับความเข้มสูงการกำจัดเชื้อมีประสิทธิภาพสูง ในทางกลับกันหากพื้นผิววางอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดจะทำให้ความเข้มของรังสีต่ำจนบางครั้งไม่สามารถที่จะกำจัดเชื้อได้ สำหรับวัตถุที่ต้องการนำมาฆ่าเชื้อกรณีมีขนาดเล็ก สามารถนำเข้าตู้อบยูวีซีได้นั้นจะไม่พบปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในกรณีของการเกิดโรคระบาด อาทิ วิกฤติ COVID-19 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัสสู่พื้นผิวต่างๆได้ตลอด สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นต้น การใช้รังสียูวีซีในการฆ่าเชื้อจะต้องมีการเข้าถึงของแหล่งกำเนิดให้ใกล้กับพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อมากที่สุด (ระยะห่างขึ้นกับกำลัง (Watt) ของหลอดยูวีซี) ซึ่งวิธีการนำหลอดยูวีซีมาติดตั้งอยู่กับที่ แล้วแผ่รังสีเป็นระยะเวลานาน ไม่เป็นผลที่ดี เนื่องจากความเข้มของยูวีซีที่ลดลงดังที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าจะมีการจัดหาหลอดยูวีซีที่มีค่ากำลังวัตต์สูงมาใช้นั้น เป็นการสูญเสียทรัพยากรทางกำลังไฟฟ้า มีต้นทุนที่สูง รวมถึงอันตรายต่อเนื้อเยื่อและดวงตาของมนุษย์หากต้องมีแรงงานมนุษย์ในกระบวนการฆ่าเชื้อ เพื่อเลื่อนแหล่งกำเนิดไปในพื้นที่ต่างๆจุดเด่นของเทคโนโลยี (Innovation Statement)

8. นวัตกรรมการคงสภาพสมุนไพรสดโดยใช้ RF Dry Blanching ยับยั้งการทำงาน ของเอนไซม์คงสภาพสีและกลิ่นรสของสมุนไพรในฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุง (RF Dry Blanching)
“นวัตกรรมการคงสภาพสมุนไพรสดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และการใช้ฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุงที่ผสมวัตถุกันหืนจากธรรมชาติ” ได้มีการพัฒนาต่อยอดจากนวัตกรรมเดิม ได้แก่ การใช้ฟิล์มบริโภคได้ร่วมกับกระบวนการคงสภาพสมุนไพรอบแห้งพร้อมปรุง โดยนวัตกรรมนี้ได้นำเทคโนโลยีการใช้คลื่นความถี่วิทยุมายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระบวนการ dry blanching ที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นการสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยที่ไม่เคยมีในโลก และเป็นการทดแทนวิธี wet blanching ด้วยน้ำร่วมกับอุณหภูมิสูงที่ใช้ดั้งเดิมในอุตสาหกรรมอาหารอบแห้ง ซึ่งวิธี RF dry blanching นี้ เป็นการลดต้นทุนและระยะเวลาในการผลิตโดยไม่ต้องใช้น้ำหรือไอน้ำอุณหภูมิสูง และสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คงสภาพความสดของสมุนไพรทั้งสี กลิ่น และรส สามารถยืดอายุการเก็บรักษาสมุนไพรทั้งชนิดที่ใช้ประกอบอาหาร หรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติโภชนเภสัชไว้ได้ สามารถขนส่งภายใต้อุณหภูมิปกติ ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการลด carbon footprint
9. แผ่นฟิล์มถนอมอาหารและยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ (Activ-Pack-19)
บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางธรรมชาติกำลังเป็นที่สนใจในการนำมาใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมที่ผลิตมาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งมาสามารถย่อยสลายได้ โดยแป้งถือเป็นวัสดุทางชีวภาพอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นพิษ และย่อยสลายได้ง่าย แป้งยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น สมบัติการต้านทานน้ำและสมบัติเชิงกลต่ำ จึงมีการนำแป้งมาผสมร่วมกับวัสดุที่ย่อยสลายทางธรรมชาติ โดยนำไพลิไวนิลแอลกอฮอล์มาผสมกับแป้งมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตเป็นบรรจุซึ่งภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เนื่องจากความเข้ากันได้ดีและสามารถขึ้นรูปฟิล์มได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีการนำน้ำมันหอมระเหยได้จากการสกัดพืชมาประยุกต์ใช้ร่วมกับบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ จะมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย แต่จะส่งผลให้คุณสมบัติทางกลของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ลดลง ผู้ประดิษฐ์จึงได้พัฒนาแผ่นฟิล์มยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ที่ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยจากพืช เพื่อให้ได้แผ่นฟิล์มที่นำไปประยุกต์ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับถนอมอาหาร
10. ออฟติบอท (Optibot)
Optibot (ออฟติบอท) เป็น Software ที่นำหลักการคำนวณทางวิศวกรรมหรือ Algorithm มาสร้างเป็นโปรแกรมคำนวณการจัดเรียงกล่องสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เกิดพื้นที่เหลือว่างน้อยที่สุดและนำกล่องบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ให้ได้มากที่สุด โดยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นได้ใช้อัลกอริทึมที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมาใช้ในการกำหนดตำแหน่ง ของกล่องสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เพื่อพัฒนา Software ที่ช่วยในการตัดสินใจ (Decision making Tools) โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเรียงกล่องสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ให้เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 5% หรือปรับปรุงกระบวนการจัดเรียงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ให้เหมาะสม
ลงทะเบียนร่วมงานที่ https://www.tts2020-online.com/
25 พ.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: