หน้าแรก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
14 ม.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๒.๓๐ น. : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน ผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และคณะกรรมการอำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ คณาจารย์และบุคลากร เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ และเสด็จฯ เข้าสู่พลับพลาพิธี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารสถิติผู้ป่วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารสถิติการใช้เทคโนโลยีของ สวทช. ผศ.นพ.กฤษณ์ ขวัญเงิน ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมรายงานความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์แก้ไขความพิการบนในหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกราบบังคมทูลเบิกคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้แทนคณะกรรมการอำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ เข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึก จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณด้านหน้าอาคารสุจิณโณ ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะรูปเหมือนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการ ผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนิน ไปยังสำนักงานศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ บริเวณชั้น ๓ อาคารตะวัน กังวานพงศ์ ทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ได้แก่ การดำเนินงานด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ การดำเนินงานด้านการรักษาผู้ป่วยทางคลินิกและผลลัพธ์การรักษา การติดตามผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาตามนัดผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อเนื่อง รวดเร็ว ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และการดำเนินงานด้านเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการบริเวณใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน จากนั้นทรงเยี่ยมผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ

การดำเนินงานด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสนับสนุนและวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดง อาทิ

• เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติลำรังสีทรงกรวยแบบเคลื่อนย้ายได้ ภายใต้ชื่อ MobiiScan (โมบีสแกน) ผลงานวิจัยและพัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเครื่อง MobiiScan ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางด้านรังสีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และผ่านการทดสอบคลินิกเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ง่ายและผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่น้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ ใช้ถ่ายอวัยวะภายในบริเวณใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที ซึ่งเครื่อง MobiiScan ที่นำมาติดตั้งที่ศูนย์แก้ไขความพิการบนในหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเป็นงบประมาณที่ทางมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ ได้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เพื่อสนับสนุนการสร้างเครื่อง MobiiScan รวมทั้งอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นให้แก่ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ

• การใช้เครื่องพิมพ์ ๓ มิติ (3D Printing) ในการสร้างแบบจำลอง ๓ มิติเสมือนจริงจากภาพถ่ายรังสีทางการแพทย์ของผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาและการผ่าตัด ซึ่งข้อดีของการสร้างแบบจำลอง ๓ มิติ ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และสามารถคาดการณ์ผลการผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น

• โปรแกรม Thai Cleft Link เป็น Web application ที่สามารถใช้งานผ่าน Browser ทั่วไปเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทีมเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ในเชิงบูรณาการแบบสหวิทยาการ ซึ่งใช้ข้อมูลเดินทางแทนการเดินทางจริงของผู้ป่วย โดยทีมผู้รักษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นศูนย์กลางการดูแล รักษาผู้ป่วยยากไร้กลุ่มโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการอื่น ๆ บนใบหน้าหรือกะโหลกศีรษะแต่กำเนิด เช่น โรคงวงช้าง โรคใบหน้าเล็ก โรคใบหน้าแหว่ง เป็นต้น โดยศูนย์ฯได้สร้างเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมในเขตพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน และพะเยา รวมทั้งขอบชายแดนไทย-เมียนมาร์ (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) ผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการใช้นวัตกรรมเพื่อตรวจรักษาและผ่าตัดแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะให้แก่ผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.

แชร์หน้านี้: