หน้าแรก ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’
ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’
26 ธ.ค. 2565
0
บทความ

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’

 

Tech: สุดเจ๋ง! กับผลงานนวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย “วีลแชร์ยืนได้” และ “เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการ ผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแล ผลงานนวัตกรรมร่วมจัดแสดงในงาน APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022) ซึ่งจัดโดย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรกว่า 40 หน่วยงาน

BIZ: #นวัตกรรมพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ พัฒนาโดยทีมวิจัยบริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด บริษัทสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมการแพทย์ที่เริ่มต้นจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่ตลาดสินค้านวัตกรรมของประเทศ ติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์มือถือ : 08-7028-4784 เว็บไซต์ : www.cmedmedical.com อีเมล : Teerapong.s@cmedmedical.com หรือไลน์ : @cmed

 

‘วีลแชร์ยืนได้’ ทางเลือกใหม่ของผู้ป่วยและคนพิการ

ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ ผู้ก่อตั้งบริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด เล่าว่า ‘วีลแชร์ยืนได้’ หรือ Standing Wheelchair  เป็นนวัตกรรมตัวแรกของบริษัทซึ่งต่อยอดมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับทุนวิจัยพัฒนา Research Gap Fund จาก สวทช. ในการพัฒนาผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยหรือคนพิการที่ต้องนั่งวีลแชร์สามารถลุกยืนได้ โดยเราออกแบบวีลแชร์ให้มีกลไกที่ผู้ใช้งานสามารถปรับยืนได้เองโดยออกแรงเพียงเล็กน้อย หรือให้คนในครอบครัวช่วยปรับเป็นท่ายืนให้โดยที่ผู้ป่วยหรือคนพิการไม่จำเป็นต้องออกแรงหรือขยับแขนเลย นอกจากนี้การยืนยังถือเป็นการกายภาพบำบัดอย่างหนึ่ง ช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น และลดปัญหาแผลกดทับ

 

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’
ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์

 

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’

 

จุดเด่นของวีลแชร์ปรับยืนได้ คือสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก คนพิการอัมพาตท่อนล่าง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการทางระบบประสาทอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีแรงแขนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยใช้แรงแขนช่วยในการยืน ข้างละ 5-8 กิโลกรัม ไม่ต้องใช้แรงขาในการยืน สำหรับผู้ป่วยที่แขนไม่มีแรงหรือผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตระดับสูงกว่า C7 คือแขนไม่มีความรู้สึก จำเป็นต้องให้ผู้ดูแลช่วยในการปรับยืน สามารถใช้ทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยและใช้แทนรถเข็นคนป่วยได้

 

ผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วย “เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

หลังจากผลิตและจำหน่ายวีลแชร์ยืนได้แล้วประมาณ 2-3 ปี ธีรพงศ์ พบว่าปัญหาของคนพิการและผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงแค่นั่งวีลแชร์แล้วต้องการยืนเท่านั้น แต่เริ่มต้นจาก ‘ทำอย่างไรจึงจะให้เขาสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากเตียงลงมานั่งวีลแชร์ได้’ จึงได้พัฒนานวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมาคือ ‘เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย’ หรือ CMED Hoist ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ดูแลในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากเตียง และช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการที่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการอยู่แต่บนเตียง ปัจจุบันมีการนำไปใช้งานแล้วมากกว่า 600 เครื่อง ในโรงพยาบาลหลายแห่งและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐขนาดใหญ่ 12 ศูนย์ทั่วประเทศ และแม้ว่าเทคโนโลยีเครื่องยกผู้ป่วยมีการใช้งานมานานกว่า 30 ปีแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป แต่ยังมีอยู่อีกโจทย์หนึ่งที่เทคโนโลยีเดิมยังทำไม่ได้ คือไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ใช้วีลแชร์ไปที่รถยนต์ได้ จึงได้พัฒนา CMED Hoist – Multi Lift ที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ใช้วีลแชร์ไปนั่งในรถยนต์ได้ เพื่อความสะดวกในการพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือเดินทางไปยังที่ต่างๆ  สามารถเคลื่อนย้ายได้กับรถยนต์ทุกรุ่นและทุกขนาด โดยไม่ต้องดัดแปลงสภาพรถยนต์ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับการคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญหาเรียบร้อยแล้ว

 

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’

 

จุดเด่นของนวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คือสามารถยกผู้ป่วยได้อย่างเอนกประสงค์ ด้วยกลไกการยกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสามารถปรับมุมจัดท่านั่งเป็นท่านอนในระหว่างทำการยก ช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายผู้ใช้วีลแชร์ขึ้นลงรถยนต์ได้สะดวก หลักการทำงานก็คือใส่ผ้ายกผู้ป่วยเข้ากับตัวผู้ป่วยในท่านอนบนเตียง ท่านั่งวีลแชร์ หรือในขณะนั่งบนรถยนต์ ควบคุมการยกผู้ป่วยด้วยระบบไฟฟ้าและรีโมท ตัวเครื่องได้รับการออกแบบให้มีโครงสร้างแข็งแรง สามารถยกผู้ป่วยได้สูงสุด 150 กิโลกรัม เข็นเคลื่อนที่ได้ง่ายด้วยระบบล้อ และพับเก็บเพื่อนำเข้ารถยนต์ไปพร้อมกับผู้ป่วยได้

 

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้ป่วยด้วย ‘นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย’

 

‘วีลแชร์ยืนได้’ ได้ผ่านการทดสอบความแข็งแรงและความคงทน ภายใต้เงื่อนไขการทดสอบมาตรฐาน ISO 7176 และ ‘เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย’ ได้รับการรับรองมาตรฐาน IEC 60601-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในยุโรป และทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกับสากลในราคาที่ย่อมเยากว่า

แชร์หน้านี้: