หน้าแรก ‘City Nature Challenge 2022’ สวทช. และพันธมิตรร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิตในเมือง
‘City Nature Challenge 2022’ สวทช. และพันธมิตรร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิตในเมือง
19 พ.ค. 2565
0
ข่าว
บทความ

 

City Nature Challenge คือ กิจกรรมตะลุยสำรวจธรรมชาติในเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่จัดขึ้นโดย California Academy of Sciences, National Geographic Society และหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งในปีนี้มีการจัดงานอย่างพร้อมเพรียงใน 445 เมือง 47 ประเทศ 6 ทวีปทั่วโลก เมื่อวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2565 โดยมีแอปพลิเคชัน iNaturalist เครื่องมือบันทึกการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพที่ผู้จัดงานหลักเป็นผู้พัฒนาขึ้นเพื่อให้คนทั่วโลกได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.
กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

 

กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ด้วย สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และการสนับสนุนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน “ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022 : CNC2022)” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ได้มีการจัดงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองระยอง เมืองขอนแก่น เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่ โดยในงานนี้ สวทช. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและจุลินทรีย์จากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ไปร่วมเป็นวิทยากรนำสำรวจธรรมชาติในพื้นที่สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ สวทช. ยังได้สนับสนุนให้ประชาชนไทยเข้าถึงการใช้งานแอปพลิเคชัน iNaturalist ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาคู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันฉบับภาษาไทยขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้นำมาใช้เป็นคู่มืออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งในอนาคตจะใช้สนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป”

 

iNaturalist
iNaturalist

 

สำหรับองค์กรร่วมจัดกิจกรรม CNC2022 ในประเทศไทย ได้แก่ Decathlon Thailand ดีแคทลอน ประเทศไทย, กลุ่มบริษัทดาว และโครงการ Dow Thailand Mangrove Alliance, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), Nature Plearn Club, มูลนิธิโลกสีเขียว, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), SOS EARTH, กลุ่มนก หนู งูเห่า, GYBN Thailand, โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต และเถื่อน Channel ฯลฯ

 

CNC 2022 เปิดประตูสำรวจเมือง

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มักใช้กล่าวถึงป่าเขาที่มีพรรณไม้ให้พบได้หลากหลาย หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ยังคงมีสัตว์อุดมสมบูรณ์ แล้วเมืองใหญ่อย่างบางกอกความหลายทางชีวภาพยังสำคัญอยู่หรือไม่

 

สมนึก ซันประสิทธิ์ หรือ ‘ไม้เอก’ ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียว
สมนึก ซันประสิทธิ์ หรือ ‘ไม้เอก’ ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียว

 

 

สมนึก ซันประสิทธิ์ หรือ ‘ไม้เอก’ ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียว หนึ่งในผู้จัดงานหลักเล่าว่า คำว่าความหลากหลายทางชีวภาพอาจเป็นคำไกลตัวคนเมือง แต่ความจริงแล้วความหมายของคำนี้สะท้อนผ่านความอุดมสมบูรณ์ในจานอาหาร คุณภาพอากาศ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน พึ่งพากันเป็นระบบนิเวศ การสำรวจความเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพจึงสำคัญมาก เพราะหากเราไม่ตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงก็อาจอยู่ในสภาวะ ‘กบต้ม (Boiled Frog Theory)’ หนาวก็ใส่เสื้อ ร้อนก็เปิดแอร์ เหมือนกบที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนผิวหนังให้เหมาะกับอุณหภูมิน้ำ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่จุดเกิดเหตุ…รู้ตัวอีกทีก็สุกตายแล้ว อยากให้ลองเปิดประตูบานใหม่ในใจ มองสิ่งต่างๆ รอบตัวให้ละเอียดมากขึ้น และหยุดเพื่อจะคิดถึงเหตุผลของการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น ว่ามีความสัมพันธ์และสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร ก่อนจะทำลายให้หายไปจากระบบ ถือเป็นความท้าทายในการค้นหาวิธีอยู่อาศัยร่วมกัน

การเริ่มต้นสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในวันนี้ง่ายกว่าที่เคย ใครๆ ก็ทำได้ ด้วยความสะดวกสบายของเทคโนโลยี

อุเทน ภุมรินทร์ หรือ ‘ทอม’ นักสื่อสารธรรมชาติและนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ กลุ่มเนเจอร์ เพลิน อีกหนึ่งในผู้จัดงานหลักเล่าว่า การจัดงานในวันนี้ทีมผู้จัดได้ออกแบบกิจกรรมให้คนเมืองได้มารวมตัวทำกิจกรรมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์หน้าดิน นก ปลา แมลง พืช จุลินทรีย์ ไลเคน ฯลฯ มาร่วมเปิดประสบการณ์การสำรวจให้แก่ผู้เข้าร่วม โดยวิทยากรหลายท่านนอกจากจะพกพาความรู้และประสบการณ์มาอย่างเต็มที่แล้ว ยังพกเอาอุปกรณ์การเรียนรู้ และหนังสือคู่มือต่างๆ มาให้ผู้เข้าร่วมได้ค้นหาข้อมูลอีกด้วย ทั้งนี้ในการบันทึกข้อมูลสิ่งมีชีวิตลงใน iNaturalist แอปพลิเคชันจะช่วยระบุพิกัด วันที่ และเวลาที่ถ่ายภาพสิ่งที่พบ รวมถึงช่วยแนะนำชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับภาพที่ผู้เข้าร่วมบันทึกให้ โดยผู้สำรวจไม่จำเป็นต้องระบุชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหากไม่ทราบข้อมูลหรือไม่แน่ใจ เพราะระบบ iNaturalist จะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาร่วมกรอกข้อมูลของสิ่งมีชีวิตและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

“บรรยากาศในการสำรวจ CNC 2022 ที่กรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความสนุกและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันดังคำว่า ‘เล่นเป็นเรียน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ทีมผู้จัดอยากให้เป็น ในปีนี้ผู้เข้าร่วมพบสิ่งมีชีวิตมากมาย หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญคือไลเคน (Lichen) ในปีนี้ผู้เข้าร่วมพบ 12 ชนิด หากในปีหน้ามาสำรวจซ้ำ ข้อมูลใหม่ที่พบก็จะสะท้อนถึงคุณภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป…ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อให้เมืองพัฒนาก้าวล้ำเพียงใด เราก็ยังต้องการอากาศบริสุทธิ์ในการหายใจ

 

อุเทน ภุมรินทร์ หรือ ‘ทอม’ นักสื่อสารธรรมชาติและนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ กลุ่มเนเจอร์ เพลิน
อุเทน ภุมรินทร์ หรือ ‘ทอม’ นักสื่อสารธรรมชาติและนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ กลุ่มเนเจอร์ เพลิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทุกข้อมูลการร่วมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและการร่วมสร้างฐานข้อมูล จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนา รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ

ดร.คมสิทธิ์ วิศิษฐ์รัศมีวงศ์ หรือ ‘ตั้ม’ นักวิจัย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สวทช. หนึ่งในวิทยากรสะท้อนว่า การที่ภาคประชาชนช่วยสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยอย่างมาก เพราะการมีฐานข้อมูลที่มากพอจะช่วยให้นักวิจัยสามารถอนุมานการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นและต่างถิ่น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์ได้ ทาง NBT เองก็กำลังวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้นำข้อมูลทรัพยากรชีวภาพภายในประเทศไปใช้ประโยชน์เช่นกัน

 

ดร.คมสิทธิ์ วิศิษฐ์รัศมีวงศ์ หรือ ‘ตั้ม’ นักวิจัย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สวทช.
ดร.คมสิทธิ์ วิศิษฐ์รัศมีวงศ์ หรือ ‘ตั้ม’ นักวิจัย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สวทช.

 

พลังประชาชนร่วมขับเคลื่อน

หนึ่งในเป้าหมายของการจัดกิจกรรมนี้คือการกระตุ้นให้เกิดพลังประชาชนที่จะร่วมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่รอบตัว เพื่อขับเคลื่อนการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้

 

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ ‘อาจารย์เจษฎ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครอบครัว
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ ‘อาจารย์เจษฎ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครอบครัว

 

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ ‘อาจารย์เจษฎ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ ‘อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์’  หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมให้คนในสังคมเห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศมักเล่าด้วยภาพของป่าเขาหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งไกลตัวจากคนเมือง การมีกิจกรรมให้คนเมืองได้สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะช่วยให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ภายในระบบนิเวศมากขึ้น แม้ในสวนเล็กๆ แห่งนี้เราก็สามารถเห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน ทางด้าน ภริษฐ์ชา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ ‘พรีส’ ลูกสาว ดร.เจษฎา เล่าถึงกิจกรรมว่า วันนี้ได้พบสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ทั้งลูกอ๊อดที่อยู่ในร่างที่กำลังจะกลายเป็นกบ ผีเสื้อกลางวัน หนอนผีเสื้อกลางคืน คราบของจักจั่นและแมลงปอ สนุกมาก หลังจากวันนี้ก็จะยังใช้แอป iNaturalist สำรวจสิ่งมีชีวิตต่างๆ ต่อไปถ้าเจอปูที่ทะเลก็จะไปส่องดูว่าเป็นปูสายพันธุ์อะไรด้วย

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต่างต้องการคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถสูดอากาศหายใจได้เต็มปอดในทุกวัน กับข้าวในจานอาหารมีความอุดมสมบูรณ์ หญิงสาวคนนี้ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงแห่งนี้ก็มีความต้องการนั้นเช่นกัน

 

สาธิตา ธาราทิศ หรือ ‘มาย’ ช่างภาพอิสระ
สาธิตา ธาราทิศ หรือ ‘มาย’ ช่างภาพอิสระ

 

สาธิตา ธาราทิศ หรือ ‘มาย’ ช่างภาพอิสระ หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานเล่าว่า สาเหตุที่มาเข้าร่วมงานนี้เพราะแม้จะมีความสนใจเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม แต่ก็ยังไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านนี้อย่างจริงจังมาก่อน จึงอยากลองเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ส่วนตัวรู้สึกว่าหากคุณภาพของสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตก็จะดีตามไปด้วย จึงอยากร่วมเป็นอีกแรงหนึ่งในการพัฒนากรุงเทพฯ เมืองที่เราเข้ามาอยู่อาศัยให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ‘คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี’ หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็จะสำรวจธรรมชาติรอบตัวต่อไป เพื่อสนับสนุนการสำรวจและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่แน่วันหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่เราพบอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนก็เป็นได้

แม้กิจกรรม ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)” ในปีนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ทุกคนยังมีสามารถส่วนร่วมในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของไทยและของโลกได้ผ่านการบันทึกข้อมูลลงแอปพลิเคชัน iNaturalist ดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานฉบับภาษาไทยได้ที่ https://bit.ly/3ky1Qrx

 

 

 

 

ผลการสำรวจธรรมชาติในเมืองปี 2565 (2022) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วโลกรวม 67,220 คน โดยมีการบันทึกการสำรวจไว้ 1,694,877 ครั้ง จำนวนสิ่งมีชีวิตที่บันทึกได้ 50,176 ชนิด ในจำนวนนี้มี 2,244 ชนิดที่เป็นชนิดหายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือถูกคุกคาม (ตามการจัดสถานภาพของ IUCN Red List)

แชร์หน้านี้: