สวทช. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ภูฏาน เสริมศักยภาพการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (TECE) ได้จัดการฝึกอบรมภายใต้โครงการ “Bhutan-Thailand Training on Energy Transition”เพื่อยกระดับศักยภาพด้านพลังงานให้แก่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศภูฏาน จำนวน 9 คน โดยจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 23 และวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2568 เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านเทคนิคและการจัดการองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และผู้แทนจากกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ร่วมงานครั้งนี้
ปัจจุบันประเทศภูฏานให้ความสำคัญกับการพัฒนาและศึกษาโซลูชันด้านพลังงานสะอาดในหลากหลายรูปแบบ อาทิ เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงทางเลือก ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานภายในประเทศ ซึ่ง ENTEC และ TECE สวทช. ได้รับคัดเลือกให้เป็นพันธมิตรหลักในการจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด การวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงขั้นสูง รวมถึงประสบการณ์ในการจัดอบรมระดับภูมิภาค การฝึกอบรมดังกล่าวมุ่งหวังถ่ายทอดความรู้ทั้งทางเทคนิคและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ภูฏานสามารถกำหนดกลยุทธ์ด้านพลังงานระดับประเทศที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับภูฏาน และความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านพลังงานอย่างยั่งยืนร่วมกัน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานระหว่างภูฏานและประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเวทีแลกเปลี่ยนเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงมิตรภาพอันมั่นคงและยั่งยืนระหว่างสองประเทศ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ซึ่งยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ และได้นำทางความร่วมมือในหลากหลายด้านมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดต่อการเติบโตอย่างเท่าเทียมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สวทช. เชื่อมั่นว่า นวัตกรรมและความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้
ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการ ENTEC กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานในครั้งนี้ว่า ENTEC ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ “Energy Week” ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศภูฏาน เมื่อปี ค.ศ. 2022 การมีส่วนร่วมในครั้งนั้นได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ และนำมาสู่การจัดการฝึกอบรมครั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางเทคนิคและภาคปฏิบัติ สะท้อนถึงภารกิจที่กว้างขึ้นของ สวทช. ในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในด้านที่จำเป็น และมีส่วนร่วมในการแก้ไขความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเข้าถึงพลังงานสะอาด ความร่วมมือครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อภูฏานในการก้าวสู่พลังงานที่ยั่งยืน แต่ยังเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์อันดีและมุ่งมั่นสู่เป้าหมายด้านพลังงานที่ยั่งยืนร่วมกันของทั้งสองประเทศและในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านพลังงานอย่างยั่งยืนร่วมกัน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |