หน้าแรก การค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก กับการต่อยอดสู่ ‘โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี’
การค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก กับการต่อยอดสู่ ‘โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี’
16 ก.ค. 2564
0
บทความ

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพ และมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งไปถึงภูเขา ล่าสุดมีการค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

ทว่าจะมีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพืชวงศ์ขิง โดยเริ่มพัฒนาจากเศรษฐกิจฐานราก ตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีได้อย่างไร เป็นที่มาของการตั้งวงเสวนา “การค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิดใหม่ของโลก กับการต่อยอดการใช้ประโยชน์ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจBCG” ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน โดยมีนางรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการอาวุโสโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สวทช. ดำเนินรายการ

ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ความหลากหลายทางชีวภาพ อธิบายว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย กับการค้นพบพืชวงศ์ขิงครั้งนี้ทำให้เห็นประโยชน์มากๆ ว่าหากมีการค้นพบชนิดใหม่ๆ เพิ่มเติมจะทำให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ซึ่งจะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ทุ่งดอกกระเจียวจากต้นปทุมมา ซึ่งมีดอกสวยงามคงทนและเป็นพืชในวงศ์ขิง เป็นทั้งไม้ดอกไม้ประดับที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ โดยในแผนพัฒนานาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ให้การสนับสนุนกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว

การค้นพบทั้ง 8 ชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ทุนวิจัย แก่ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะวิจัย เพื่อทำการศึกษาและสำรวจพืชวงศ์ขิงในระดับโครโมโซม ซึ่งมีบางชนิดที่เก็บตัวอย่างมาแล้วไม่ตรงกับชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลกและได้มีการตีพิมพ์ในวารสาร Biodiversitas เป็นที่ยอมรับทั้ง 8 ชนิดใหม่ของโลก

รศ.ดร.สุรพล เปิดเผยว่า ด้วยพืชวงศ์ขิงมีลักษณะที่โดดเด่น มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั่วโลกมีพืชวงศ์ขิง 57 สกุล 1,600 ชนิด และในประเทศไทยมีความหลากหลายมากถึง 26 สกุล 300 ชนิด โดย 8 ชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบ ประกอบด้วย

ชนิดแรก ‘ขมิ้นน้อย’ ทรงต้นเล็ก ลักษณะเด่นมีกีบปากสีขาวและมีสีเหลืองเข้มตรงกลาง แหล่งที่พบ คือ จ.นครนายก ประโยชน์ที่ใช้สามารถนำไปเป็นไม้มงคลและไม้ประดับปลูกได้ทั่วประเทศไทย

ชนิดที่สอง ‘กระเจียวรังสิมา’ หรือ บุษราคัม ลักษณะเด่น ใบประดับมีสีเขียวอ่อน สีชมพูอ่อน ดอกสีเหลือง แหล่งที่พบ คือ นครสวรรค์ สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา ประโยชน์ที่ใช้สามารถนำไปเป็นไม้มงคลและปลูกเป็นไม้ประดับ

ชนิดที่สาม ‘ขมิ้นพวงเพ็ญ’ ลักษณะเด่นคือ เหง้าจะเลื้อย กลีบปากมีสีม่วงอ่อนเป็นแฉกขีดเหลือง แหล่งที่พบ คือ จ.ราชบุรี ปลูกเป็นไม้ประดับไม้มงคล

ชนิดที่สี่ ‘กระเจียวจรัญ’ ลักษณะเด่นคือ กลีบปากปลายสีม่วงอมชมพู โคนขาวขนาบด้วยจุดม่วงทั้งสองด้านคล้ายก้างปลา แหล่งที่พบ คือ จ.ลพบุรี ปลูกเป็นไม้ประดับไม้มงคล ปลูกได้ทั่วประเทศไทย

ชนิดที่ห้า ‘พญาว่าน’ เป็นชนิดที่ใช้กันเป็นสมุนไพรพื้นเมืองอย่างแพร่หลาย ลักษณะเด่นคือ กาบใบสีแดงเข้ม ร่องกลางใบแดง ช่อดอกเกิดกลางกลุ่มใบ แหล่งที่พบ คือ จ.นครนายก เป็นพืชแก้ผดผื่นคัน โรคผิวหนัง แก้พิษ

ชนิดที่หก ‘กระเจียวม่วง’ ลักษณะเด่นคือ ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ใบประดับสีเขียว ดอกยื่นออกจากช่อดอก กลีบปากสีม่วง ปลายกลีบแฉกลึก มีสีเหลืองตั้งแต่ฐานตรงกลางจนเกือบสุดปลายแฉกทั้งสองข้าง แหล่งที่พบ คือ จ.ศรีสะเกษ นำมาเป็นผักประกอบอาหารและปลูกประดับ

ชนิดที่เจ็ด ‘นิลกาฬ’ อยู่ในสกุลเปราะ ลักษณะเด่นคือ ใบมีสีดำสนิท ดอกสีม่วง แหล่งที่พบ คือ ภาคกลางของประเทศไทย ปลูกเป็นไม้ประดับและนำใบอ่อนมารับประทานเป็นผักสดและเป็นเครื่องเทศดับกลิ่นคาวได้

และชนิดที่แปด ‘ว่านกระชายดำเทียม’ ลักษณะเด่นคือ มีใบเดียว ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกอัดแน่นตรงซอกใบ แหล่งที่พบ คือ ภาคเหนือของประเทศไทย พบมากบริเวณ จ.ตาก ปลูกเป็นไม้ประดับไม้มงคล ใบอ่อนนำมารับประทานเป็นผักได้

“นอกจากนี้ทีมวิจัย ยังพบ ‘ว่านหัวน้อย’  แหล่งที่พบ คือ แถบ จ.อุตรดิตถ์ ลักษณะเด่นคือ ช่อดอกอัดแน่นใกล้ๆ ผิวดิน ดอกมีขาวปนชมพูอ่อน กลีบปากมีแถบสีเหลือง  เป็นพืชที่เคยพบที่ สปป. ลาว และมีการรายงานครั้งแรกในประเทศไทย (New Record in Thailand)”

สำหรับการขยายพันธุ์พืชโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อถือเป็นแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลอดโรคได้ดี

ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมอาจจะเข้าใจวิธีการเอาตาเหง้ามาขยายพันธุ์ ซึ่งทำได้ยาก โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชทำได้ง่ายกว่าจาก 5 ส่วนของพืช ได้แก่ 1.ตาเหง้าแก่ และตาเหง้าใหม่ๆ ที่มีเนื้อเยื่อเจริญเติบโต 2.หน่อย่อย 3. ใบอ่อน 4.การเพาะเลี้ยงจากช่อดอก และ 5. เพาะเลี้ยงจากเมล็ด ซึ่งวิธีสุดท้ายนี้จะยากกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งหมดสามารถนำมาฟอกฆ่าเชื้อตามขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเลี้ยงในอาหารแข็งหรืออาหารเหลว เพื่อให้พืชแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนและเจริญเติบโต

“เมื่อเลี้ยงได้เต็มที่แล้ว จึงย้ายออกจากห้องเพาะเลี้ยงมาวางไว้ข้างนอก 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้พืชปรับสภาพ จากนั้นนำไปล้างอาหารออกให้หมด และมาปลูกในวัสดุปลูกที่แตกต่างกันไปไว้ในเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 2 เดือน ต้นจะตั้งตรงใบแผ่แบน มีการสร้างเหง้าตุ้มและเจริญเติบโตได้ปกติพร้อมออกดอกได้ อย่างไรก็ตามทีมวิจัยยังมีนักศึกษาสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ศึกษาการเจริญเติบโตของพืชในหลอดทดลองและพืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อควบคู่กันไปด้วย”

ไม่เพียงเป็นไม้ดอกไม้ระดับที่มีความสวยงาม พืชวงศ์ขิงยังมีการต่อยอดโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการวิจัยเพิ่มมูลค่าพืชวงศ์ขิงเพื่อใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในพืช ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ    

ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า การเพาะปลูกพืชสมุนไพรของประเทศไทยในระดับต้นน้ำมีมากถึง 12,000 ครัวเรือน ทั้งนี้การนำมาใช้งานมีทั้งการตากแห้ง การใช้ภูมิปัญญา และเป็นรูปแบบสารสกัดสมุนไพรนำไปใช้ในรูปแบบเครื่องดื่ม อาหารเสริม เรื่องการขายในรูปแบบยาและอาหาร ซึ่งในปี 2562 มีมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าส่งออก 400 ล้านบาทต่อปี

สำหรับตัวอย่างของพืชกลุ่มขิง นาโนเทค สวทช. มีการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดจากสมุนไพร ทั้งขมิ้นชันและไพล โดยมีการพัฒนาสูตรตำรับสมุนไพรในรูปแบบอิมัลเจลไพลขมิ้นชัน เพื่อเพิ่มการดูดซึมได้ดีขึ้น ไม่เหนียวเหนอะหนะและลดการเปรอะเปื้อนของสีเหลืองในสมุนไพรไม่ให้เปื้อนเสื้อผ้าได้ดี อย่างไรก็ตามมองว่าการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มมูลค่าได้ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างสตอรี่ของการใช้พืชสมุนไพรด้วย

อย่างไรก็ดีแนวทางที่ยั่งยืนของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพืชวงศ์ขิง ยังต้องอาศัยนักปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ  

นายลิขิต มณีสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ ห้างหุ้นส่วนลัคกี้ซีดส์ อโกร กล่าวว่า ปัจจุบันไม้ดอกวงศ์ขิงมีการส่งออกไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ปทุมมา มีการส่งออกไปยังประเทศฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี และอเมริกา ซึ่งตลาดยุโรปจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้ประโยชน์จากดอกปทุมมา โดยจะเรียกชื่อทางการค้าว่า สยามทิวลิป (SIAM TULIP) ขายในรูปแบบไม้กระถางและไม้ตัดดอก มีหลากหลายพันธุ์ที่ขายอยู่ในตลาดยุโรป ในชุด SIAM SERIES ที่มีลักษณะสีดอกที่หลากหลาย

ดังนั้นงานปรับปรุงพันธุ์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทที่ทำไม้กระถางหรือไม้ตัดดอกนั้นจะต้องมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดทุกปี เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกพันธุ์ต่างๆ ดังนั้นการคัดพันธุ์ต่างๆ จึงเป็นงานที่สำคัญของนักปรับปรุงพันธุ์ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ อธิบายต่อว่า สวทช. ได้เห็นประโยชน์ของการปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จึงร่วมกับ ห้างหุ้นส่วนลัคกี้ซีดส์ อโกร เพื่อปรับปรุงพันธุ์และสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ปทุมมา 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกสกุลขมิ้นเพื่อการค้าพันธุ์ใหม่ เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป และโครงการพัฒนานักปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกปทุมมารุ่นใหม่ เพื่อให้เกษตรกรที่มีประสบการณ์ที่ผลิตปทุมมาอยู่แล้วในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่เคยมีความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ ได้มีโอกาสเรียนรู้การปรับปรุงพันธุ์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งโครงการพัฒนาพันธุ์ปทุมมาได้มีการขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร เพื่อมอบให้เป็นสาธารณชนประโยชน์แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ จ.อุดรธานี และมีขยายองค์ความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ให้กลุ่มเกษตรกรได้พัฒนาพันธุ์ได้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น รวมทั้งหาตลาดรองรับ ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่เห็นคุณค่าของพืชวงศ์ขิง

“เราทำงานวิจัยร่วมกับห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของ สวทช. ในการผลิตต้นพันธุ์ปทุมมาเพื่อให้เหมาะต่อการส่งไปยังต่างประเทศ และเหมาะต่อการใช้เป็นไม้กระถางและไม้ประดับ ซึ่งใช้เพียง 1 ต้นของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่อ 1 กระถาง แทนการใช้หัวพันธุ์ถึง 3 หัวใน 1 กระถาง ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ปทุมมาแต่ละพันธุ์จะสนองต่อการขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้แตกต่างกัน”

 

ศ.ดร.สนิท กล่าวทิ้งท้ายว่า เห็นแนวทางที่เป็นประโยชน์จากการเสวนาครั้งนี้อย่างมาก หากมีพืชที่ปลูกและขยายพันธุ์ได้ง่ายๆ อยากให้ชุมชนได้นำไปขยายพันธุ์ปลูกในพื้นที่พืชเศรษฐกิจชุมชน ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยเฉพาะด้าน Circular Economy ให้มีการนำไปปลูกหมุนเวียนเพิ่มรายได้พัฒนาจากเศรษฐกิจฐานราก เกิดการอนุรักษ์ในชุมชนพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งให้มีการใช้ประโยชน์ในแง่ของ Biorefinery โดยอาจทำเป็นงานวิจัยมุ่งเป้าในเชิงอุตสาหกรรมและสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ในชุมชนเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

16 ก.ค. 2564
0
แชร์หน้านี้: