หน้าแรก นายกฯ ชมผลงานวิจัย “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562 และนวัตกรรมตอบโจทย์ BCG ของ สวทช
นายกฯ ชมผลงานวิจัย “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562 และนวัตกรรมตอบโจทย์ BCG ของ สวทช
18 ธ.ค. 2562
0
BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์

นายกฯ ชมผลงานวิจัย “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562 และนวัตกรรมตอบโจทย์ BCG ของ สวทช. อว. เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟสูง และเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรอง PM2.5  ของ บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด,  เครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ PAC SolarAire และเครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ PAC Frenergy รถมินิบัสอลูมิเนียม และโครงการ KidBright” โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ – ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ชมตัวอย่างผลงาน “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย และ “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านการบูรณาการระบบเพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม” เพื่อเชิดชูเกียรติและแสดงความยินดีต่อนักเทคโนโลยีไทยที่สร้างผลงานด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันให้ผลงานวิจัยได้เชื่อมโยงไปสู่ตลาดธุรกิจได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะผลงานที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟสูง และเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรอง PM2.5 บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และนวัตกรรมประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ PAC SolarAire และเครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ PAC Frenergy

      

รถมินิบัสอลูมิเนียม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความซับซ้อนในการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง ลอกเลียนแบบได้ยาก ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ“โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Powered by KidBright)” โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขาติ (สวทช.) นักวิจัย และกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อนำเสนอผลงานที่สร้างโอกาสด้วยนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในท้องตลาดหนุนเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์ BCG

สำหรับผลงานที่นำเสนอประกอบด้วย 1. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย เป็นงานวิจัยที่ช่วยลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ ประกอบด้วยเครื่องเดนตีสแกน ที่ได้ติดตั้งใช้งานไปแล้วราว 60 เครื่องในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยและมีการใช้งานไปแล้วกว่า 7,000 ครั้ง ทำให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและคนพิการได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์เพื่องานทันตกรรมรากฟันเทียม รวมทั้งด้านการวินิจฉัยโรคอื่นๆ อีกด้วย อาทิเช่น ขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ มะเร็งกรามข้าง ฟันฝัง ถุงน้ำ และไซนัสอักเสบ เป็นต้น ส่วนเครื่องโมบีสแกน ช่วยงานด้านการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมทั้งผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ใช้งานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะทันตแพทยศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยกับผู้ป่วยกว่า 1,000 ครั้ง ส่วนเครื่องมินีสแกนช่วยลดระยะเวลาในการใช้ห้องผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ส่งผลให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยเนื่องจากการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งเต้านมซ้ำใช้กับผู้ป่วยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปแล้วกว่า 100 ครั้ง ช่วยลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ

2. การพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานด้านกรบูรณาการระบบ (System Integration) เพื่องานหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใช้งานในระบบอุตสาหกรรม 4.0 (CiRACORE Platform) เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฐานที่ครบวงจรด้วยซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ (ROS) ที่เกี่ยวข้องกับทั้งระบบควบคุมหุ่นยนต์แบบเรียลไทม์ และระบบปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นเองอย่างหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทุกระดับตั้งแต่ระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย จนถึงคนทำงานในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็กจิ๋วจนถึงขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้เองได้ง่าย ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

3. เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟสูง High SEER ซึ่งสามารถต่อ internet ได้ และกรอง PM2.5 ได้ ของ บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย ศูนย์บริการปรึกษาออกแบบและวิศวกรรม (DECC) สวทช. ให้การสนับสนุนการวิเคราะห์และออกแบบชุดระบายความร้อนของ คอมเพรสเซอร์ ด้วยเทคโนโลยีการคำนวณพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD : Computational fluid dynamics เพื่อให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและประหยัดไฟสูง และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในปี 2561 โดยได้มีการติดตั้งให้กับกรมสรรพากร สำนักงานใหญ่ มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน และจัดการฝุ่น PM2.5 พร้อมด้วยเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรอง PM2.5 ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

4. เครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ PAC SolarAire และเครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ PAC Frenergy สนับสนุน BCG กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ เป็นเครื่องปรับอากาศระบบ Hybrid ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เป็นพลังงานทางเลือกในการเดินเครื่องแทนพลังงานไฟฟ้า หรือสามารถใช้พลังงานทั้งสองอย่างร่วมกัน ทำให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่แสงแดดเพียงพอ เมื่อเครื่องปรับอากาศทำงานจะมีการปล่อยความร้อนเหลือทิ้งออกมา ก็นำความร้อนดังกล่าวมาใช้ใหม่โดยนำมาถ่ายเทความร้อนให้กับเครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ PAC Frenergy ผ่านระบบ Heat Exchanger ออกแบบพิเศษ ทำให้ได้น้ำร้อนอุณหภูมิสูงสุดถึง 70 องศาเซลเซียส โดยไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า และช่วยลดค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศที่มาต่อพ่วง ทำให้ระบบเป็น Near Zero Waste Energy Solution โดย ศูนย์บริการปรึกษาออกแบบและวิศวกรรม (DECC) และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. ให้การสนับสนุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม บริการออกแบบและวิเคราะห์ด้านความแข็งแรงของเครื่องและชุดท่อน้ำยาแอร์ภายในถัง ด้วยเทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD : Computational fluid dynamics เพื่อให้มีความแข็งแรงปลอดภัยต่อแรงดันและน้ำร้อนที่ผลิตขึ้น รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้การศึกษาและทดสอบ ความสามารถการผลิตน้ำร้อนและการประหยัดพลังงาน ซึ่งเครื่องทำน้ำร้อนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย

  

5. รถมินิบัสอลูมิเนียม บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมวิจัยกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นมินิบัสอะลูมิเนียมปั๊มขึ้นรูปสัญชาติไทยคันแรกในตลาดโลก ที่ออกแบบและผลิต ตามมาตรฐานสากลรุ่น C Bus เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ สกุลฎ์ซี (sakun.c) ที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังอะลูมิเนียมปั๊มขึ้นรูปและประกอบด้วยหุ่นยนต์ “มินิบัสสกุลฎ์ซี” มีคุณสมบัติ น้ำหนักเบา ประหยัดน้ำมัน แข็งแรง ทนทาน ปลอดภัยสูง ไม่เป็นสนิม การบำรุงรักษาน้อย มีอายุการใช้งานยาว และยังรองรับการเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการใช้โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ (ITAP) สวทช. ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกแบบและทดสอบ หลังจากการเปิดตัวรถจริงในงาน Bus & Truck ที่ไบเทคบางนา มียอดจองจนถึงปัจจุบันรวม 370 คัน ซึ่งเตรียมส่งมอบรถล็อตแรก 25 คัน ในเดือนมกราคมปี 2563 และอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเสนอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย

6. “โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Powered by KidBright)” โครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) ที่ส่งมอบ KidBright จำนวน 2 แสนบอร์ด ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมต้นทั่วประเทศ สามารถสร้างระบบนิเวศในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อมุ่งตอบโจทย์ 3 นโยบายหลัก “วิทย์สร้างคน-วิทย์แก้จน-วิทย์เสริมแกร่ง และต่อยอดเข้าสู่ AI Nation พร้อมเปิดตัวหุ่นยนต์สอนปัญญาประดิษฐ์ KidBright AIBot ซึ่งเป็นการผสมผสานการเขียนโค้ดดิ้ง แบบบล็อกเข้ากับการสอนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับนักเรียน ตามนโยบายสำคัญที่รัฐบาลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการจัดทำเรื่อง AI for All สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในสาขา AI และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการสร้างสรรค์งานที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานรากการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน มุ่งสู่ความเป็น AI Nation
รวมทั้งได้สนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถนำผลงานวิจัยนี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศและเอกชนไทยสามารถแข่งขันได้ ในปี 2562 KidBright ได้ขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรมบอร์ดสมองกลฝังตัวมีการมีการผลิตบอร์ดขยายความสามารถไม่ต่ำกว่า 10,000 ชิ้น และเกิดการพัฒนาต่อยอด เช่น IKB-1, GoGo Bright และ KB-IDE อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน โดยในปีนี้ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มอีกบริษัท 3 คือ บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็กเพอรีเม้นท์ จำกัด และ บริษัท ไทย ดอม คอม จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำบอร์ด KidBright ไปผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่ง KidBright แนวคิด “คนผลิตเทคโนโลยี เทคโนโลยีผลิตคน” นี้ สร้างโอกาสการเกิดอุตสาหกรรม Science Toy ขึ้นในประเทศ และรองรับอุตสาหกรรม Skill Workforce ที่พัฒนาด้วย Science Toy นอกจากนี้ สวทช. ยังสนับสนุนรูปแบบนี้ในการผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น Fabrication Lab (FabLab) IoT (netpie.io) และ AI (aiforthai.th) อีกด้วย

18 ธ.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: