การรถไฟจับมือ สวทช. ขอช่วยทดสอบ ตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ในระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสามารถนำไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟสายอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและอุตสาหกรรมในประเทศ
7 มกราคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) : นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมมือกันด้านการวิจัยพัฒนาในการส่งเสริมมาตรฐานและการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้เร่งลงทุนและพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการโครงสร้างด้านระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศในการให้บริการประชาชน ตลอดจนลดต้นทุนด้านการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งที่สนับสนุนการลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและการให้บริการที่ปลอดภัยสร้างความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการ โดยมีการบริหารจัดการที่สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดไว้ตลอดอายุการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นอีกโครงการที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและอุตสาหกรรมในประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดและระบุเงื่อนไขในการจัดซื้อให้รัฐบาลจีนทำการถ่ายโอนเทคโนโลยีฯ ประกอบด้วย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องที่จะใช้ในการซ่อมบำรุง การบริหารจัดการระบบการเดินรถ การอบรมวิศวกร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางรางและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องที่ใช้ในระบบดังกล่าวของประเทศต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับ สวทช. ซึ่งร่วมเป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการผู้แทนไทยในการเจรจากับฝ่ายจีนและจัดทำแผนแม่บทการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบของไทยจะเป็นประโยชน์สำคัญที่สนับสนุนให้การเดินรถและการซ่อมบำรุงมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยจะมีการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจีนมาช่วยให้คำปรึกษา ฝึกอบรม พัฒนากำลังความสามารถของบุคลากร ตลอดจนองค์กรด้านทดสอบของไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจนสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์/อุปกรณ์ใหม่เหล่านั้นก่อนจะนำมาใช้งานในระบบการซ่อมบำรุงในศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อยในอนาคตต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับการลงนามในครั้งนี้ สวทช. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของการรถไฟอย่างเต็มที่ โดย สวทช. อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเชียงรากน้อยเพียง 3 กิโลเมตร ซึ่งในอนาคตบริเวณดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อม ซึ่ง สวทช. จะช่วยทั้งเรื่องการทำงานวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนเพื่อป้อนเข้าสู่โรงซ่อมแห่งนี้ โดยในขอบเขตความร่วมมือ สวทช. จะทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศเพื่อให้บริการทดสอบ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในระบบราง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถนำไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต
ทั้งนี้สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงแรก (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สวทช. ในฐานะคณะอนุกรรมการจัดทำสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งขบวนรถไฟและการฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับจีนภายใต้สัญญา 2.3 โดยนำร่องในผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม ใน 26 รายการ
นอกเหนือจากนี้ สวทช. ยังมีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้คำปรึกษาแก่ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และผู้จัด จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทดสอบและการตรวจสอบรับรองเครื่องหมายรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง รวมถึงการสนับสนุนและผลักดันให้ใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านระบบรางตามประกาศของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นบรรทัดฐานในการผลิตและการพิจาณาจัดซื้อผลิตภัณฑ์ด้านระบบรางต่อไปอีกด้วย และภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ การรถไฟฯ และ สวทช. ยังจะได้ร่วมมือกันเร่งให้เกิดการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีระบบรางอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสามารถรองรับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนี้ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศรวมถึงภูมิภาคนี้
อนึ่ง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศขณะนี้ สวทช. ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจังหวัดปทุมธานี วางแผนการทำSmart City เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่รอบสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ ระบบป้อนผู้โดยสาร (Feeder) ด้วยระบบรางเบา และอื่นๆ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการในปี 2564 อีกด้วย