ผลการค้นหา :

1500 รายวิชา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก เปิดให้เรียนฟรีผ่าน MOOCs ธ.ค.นี้
รายวิชามากกว่า 1500 รายการ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเรียนฟรี บนระบบ MOOCs ในเดือนธันวาคม 2560 นี้ ระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน (Massive Open Online Courses หรือ MOOCs) มากกว่า 1500 รายวิชา ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก จะเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเรียนฟรี ในเดือนธันวาคม 2560 นี้ หลายรายวิชาเมื่อเรียนจบจะมอบประกาศนียับตรแก่ผู้เรียน แต่รายวิชาดังกล่าวอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ตัวอย่างรายวิชาที่เปิดสอน นวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์และทางการแพทย์ โดย University of Minnesota บน Coursera นวัตกรรม: อุตสาหกรรมอาหาร โดย University of Leeds บน FutureLearn ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเรียนรู้การเสริมกำลัง (Reinforcement Learning) - โดย Higher School of Economics บน Coursera การออกแบบการคิดเพื่อประโยชน์ที่ดีขึ้น: นวัตกรรมในภาคสังคม โดย University of Virginia บน Coursera Games, Sensors และ Media โดย University of California บน Irvine on Coursera Graph Search, Shortest Paths และ Data Structures โดย Stanford University บน Coursera วิธีการเขียนเรียงความ โดย University of California, Berkeley บน edX ประวัติความเป็นมา - จาก Big Bang จนถึงวันนี้ โดย University of Amsterdam บน Coursera เครือข่ายทางสังคมและเศรษฐกิจ: โมเดลและการวิเคราะห์ โดย Stanford University บน Coursera ภาวะซึมเศร้าในประชากร: วิธีการสาธารณสุข โดย Johns Hopkins University บน Coursera การรักษาความปลอดภัยของฮาร์ดแวร์ โดย University of Maryland บน Coursera การสืบค้นข้อความและเครื่องมือค้นหา โดย University of Illinois at Urbana-Champaign บน Coursera การเขียนโปรแกรมภาษาจาวา โดย Duke University บน Coursera การเรียนรู้ออนไลน์: การสะท้อนและแบ่งปัน โดย University of Leeds บน FutureLearn คลิกเพื่อดูรายชื่อวิชา
นานาสาระน่ารู้

9 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ให้บริการโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property – IP) เช่น Derwent Innovation PatSnap และ Questel เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศ แต่ราคาโปรแกรมดังกล่าวมักมีราคาสูง ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อโปรแกรมดังกล่าว จึงควรพิจารณาข้อมูลในหลากหลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้ 9 ข้อ ดังนี้ ความครอบคลุมและคุณภาพของข้อมูล ประเด็นแรกและเป็นประเด็นสำคัญที่ควรศึกษาและพิจารณาเมื่อต้องลงทุนซื้อโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา คือ ความครอบคลุมและคุณภาพของข้อมูลที่โปรแกรมมีให้บริการ เช่น โปรแกรมครอบคลุมเอกสารสิทธิบัตรในพื้นที่ประเทศใดบ้าง ผลลัพธ์ของการสืบค้นที่ได้จากโปรแกรมคือข้อมูลเชิงสรุปหรือเนื้อความทั้งหมดเกี่ยวกับสิทธิบัตร ข้อมูลสิทธิบัตรที่อยู่ในโปรแกรมถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือมีเพียงภาษาตามสิทธิบัตรที่ยื่นขอ เช่น ญี่ปุ่น จีน หรือเยอรมัน เป็นต้น หากมีการแปลต้นฉบับเอกสารสิทธิบัตร การแปลนั้นเป็นการแปลเนื้อหาฉบับเต็มโดยทั้งหมดหรือเป็นการแปลเพียงส่วนย่อย จำนวนของวรรณกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิทธิบัตร เช่น วารสาร เอกสารการประชุม วิทยานิพนธ์ บทคัดย่อ และรายงานทางเทคนิค เป็นต้น ที่ถูกรวมอยู่ภายในชุดข้อมูลของโปรแกรมมีประมาณเท่าไหร่ และการเข้าถึงวรรณกรรมดังกล่าว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่ มากน้อยเท่าไหร่ โปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาบางโปรแกรมสามารถค้นหาข้อมูลได้จากทั่วโลก ขณะที่บางโปรแกรมอาจจะคิดค่าบริการเพิ่ม โปรแกรมบางโปรแกรมอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่หรือภูมิภาคที่สำคัญ ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อโปรแกรมดังกล่าว จะต้องแน่ใจว่าผู้ให้บริการให้บริการข้อมูลเอกสารสิทธิบัตรครอบคลุมพื้นที่ที่เราสนใจและต้องการทั้งหมด คุณภาพและความสัมพันธ์ของข้อมูล เอกสารสิทธิบัตรจำนวนมากอาจสะกดชื่อเจ้าของบริษัทเดียวกันซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตรแตกต่างกัน และข้อมูลองค์ประกอบสิทธิบัตรบางอย่างอาจถูกป้อนผิด นอกจากนี้การควบและการเข้าซื้อกิจการเกิดขึ้นได้ในทุกวัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทที่ให้บริการโปรแกรมฯ มีการตรวจสอบและอัพเดทข้อมูลดังกล่าวสม่ำเสมอและต่อเนื่องหรือไม่ เพราะข้อมูลที่คาดเคลื่อนหรือผิดเพี้ยนไปย่อมส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ตัวอย่างประเด็นที่ควรคำนึงถึง เช่น ข้อมูลที่มีให้บริการนั้นพร้อมสำหรับการวิเคราะห์แล้วหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขปรับปรุงข้อมูลด้วยมือก่อน หากมีองค์ประกอบบางอย่างของข้อมูลที่ขาดหายไปสามารถเพิ่มเติมเข้าไปได้หรือไม่ ความถี่ของการอัพเดทข้อมูลสิทธิบัตร กรณีบริษัทหนึ่งซื้อกิจการของบริษัทอื่นๆ ความถี่ของการอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการโอนสิทธิ์ของสิทธิบัตรเป็นอย่างไร ด้วยปริมาณของข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ วัน ทั่วโลก ไม่มีระบบหรือโปรแกรมใดที่จะให้บริการข้อมูลที่อัพเดทและสมบูรณ์แบบ 100% ในทุกๆ ช่วงเวลา เมื่อผู้ใช้บริการพบข้อมูลหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนในระบบหรือโปรแกรมดังกล่าว ระบบหรือโปรแกรมคววรมีช่องทางหรือกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถรายงานเรื่องดังกล่าวได้ เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่มีการอัพเดตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และข้อมูลอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล วิธีการค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตรเริ่มต้นด้วยการค้นหาสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง วิธีการค้นหาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องและมีความมั่นใจในผลลัพธ์ที่ค้นคืนได้มากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการค้นหาข้อมูล เช่น คำค้นที่เป็นมาตรฐานจะช่วยให้สามารถค้นหาและได้รับผลการสืบค้นที่เกี่ยวข้องและต้องการหรือไม่ ผู้ใช้สามารถใช้ตรรกบูลีน เช่น AND NOT หรือ OR และการใช้สัญลักษณ์ (Wildcard) เพื่อช่วยให้การค้นหา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความต้องการมากที่สุดหรือไม่ นอกเหนือจากการค้นหาข้อมูลเอกสารสิทธิบัตรด้วยสำคัญแล้ว โปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถค้นหาข้อมูลด้วยแนวคิดหรือความสัมพันธ์ได้หรือไม่ (Semantic search) ผู้ใช้บริการสามารถค้นหาข้อมูลด้วยเมทาดาทา เช่น รหัสการจัดหมวดหมู่ การอ้างอิง วันที่ ชื่อเจ้าของบริษัท และนักประดิษฐ์ ได้หรือไม่ การค้นหาสิทธิบัตรล่าสุดทั้งหมดที่คู่แข่งเป็นเจ้าของมีความยากง่ายเพียงไร การบันทึกการค้นหาและผลลัพธ์ของการค้นหาง่ายหรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถกลับไปยังข้อมูลดังกล่าวในภายหลังได้ วิธีการค้นหาที่ยืดหยุ่นและรวดเร็วช่วยให้ผู้ใช้ได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องรวดเร็วยิ่งขึ้น และวิธีการค้นหาที่หลากหลายช่วยให้ผู้ใช้มีความยืดหยุ่นในการใช้เทคนิคในการสืบค้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องตรงความต้องการมากที่สุด เครื่องมือค้นพบ เครื่องมือค้นพบ (Discovery tools) มีความจำเป็นต่อการค้นพบคำที่ถูกต้องและมีความจำเป็นต่อการจัดระเบียบสิทธิบัตร ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับเครื่องมือค้นพบ เช่น ผู้ใช้สามารถค้นพบสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ต้องใช้คำสำคัญได้หรือไม่ แต่เริ่มต้นการค้นหาด้วยสิทธิบัตรหรือเอกสารหนึ่งเพื่อหาสิทธิบัตรอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน หรือ ผู้ใช้สามารถค้นพบคำที่ถูกต้องได้โดยเริ่มจากชุดสิทธิบัตรได้หรือไม่ ยังเหลืออีก 5 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ทรัพย์สินทางปัญญา โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป ที่มา: Innography. (2015, July 12). 9 Things to Consider When Selecting IP Analysis Software [Web page]. Retrieved from https://www.innography.com/blog/post/9-things-to-consider-when-selecting-ip-analysis-software
นานาสาระน่ารู้
มารู้ทันอีเมล์หลอกลวงกันดีกว่า !!
มีคำถามมากมายที่ถามกับผู้เขียนว่า "อีเมล์หลอกลวง สังเกตุได้อย่างไร ?" ผู้เขียนเลยขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาจริงของชีวิตมาให้กับทุกท่านได้อ่านแบบย่อกระชับจับใจความกันเลยครับยกตัวอย่าง เหตุการณ์เช้านี้ ผมได้รับอีเมล์จาก Apple ว่า Apple ID ของผมได้เปลี่ยนเมล์เรียบร้อยแล้ว ในวินาทีแรกถ้าคุณเจอแบบนี้ให้ตั้งสตินะครับ โดยปกติเราไม่ควรคลิกเข้าไปอ่านถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ในโพสต์นี้ผมอยากแชร์ครับว่าคุณควรดูอะไรเป็นหลักเพื่อป้องกันตัวคุณ มาดูกันเลยครับจากภาพ ถ้าเราอ่านอีเมล์จาก Subject เราจะตกใจมากแล้วรีบคลิกเข้ามาอ่านผ่าน ๆ ถูกไหมครับ ยิ่งในเมล์นี้ถ้าอ่านเนื้อความเรายิ่งน่าเชื่อถือเพราะมีการอ้างอิงเมล์ผู้ลงทะเบียนพร้อมกับเอกสารยืนยันอีกด้วย เราเรียกวิธีล่อลวงแบบนี้ว่าการ Phishing ครับ คือทำทุกอย่างให้เหมือนจริง เช่น เอกสารหรือหน้าเว็บไซต์ลอกเลียนแบบ แล้วให้เหยื่อทำตามที่ต้องการ แล้วเราจะสังเกตุอย่างไร ทำได้ดังนี้ครับ จุดสังเกตุของคุณที่ควรสังเกตนะครับ 1.ในแถบเหลืองอีเมล์ที่ส่งเห็นไหมครับว่าเป็นเมล์อะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่แอปเปิ้ลจริง (สังเกตุความเสี่ยง 1) 2. ในแถบเหลืองมีเอกสารบางอย่างเพื่อหลอกให้คลิกอ่าน ซึ่งคุณเปิดปุ๊ปติดปั๊ปที่ติดนั้นอาจจะเป็นไวรัสหรือมัลแวร์ก็ได้ครับ (สังเกตความเสี่ยง 2) 3. เมล์จะบังคับหรือล่อลวงให้คุณคลิกเพื่อเปิดคอนเฟิร์มหรือล็อกอินรหัสของคุณ ซึ่งนั้น คุณจะโดนเก็บข้อมูลไปแล้ว (สังเกตความเสี่ยง 3) ดังนั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ในอีเมล์ของคุณ ให้เลือกว่า แอคเค้าท์นี้เป็น spam และไม่รับเมล์จาก account นี้ รวมถึงต้องจดจำพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อป้องกันตัวคุณด้วยครับ เพราะผู้ร้ายลงทุนแค่อีเมล์หลอกลวงแต่อาจได้ข้อมูลของคุณไปเรียกค่าไถ่ซึ่งสำคัญกับคุณทั้งชีวิตก็เป็นได้ ผมแนะนำวิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างความตระหนักในสิ่งเหล่านี้ แล้วคุณจะรอดพ้นจากทุกความเสี่ยงครับขอความปลอดภัยทุกสิ่งในชีวิตจงอยู่คู่กับคุณครับ จาก ชัยวุฒิ STKS
นานาสาระน่ารู้

Harvard University เปิด 8 รายวิชา ให้ผู้สนใจเข้าเรียนออนไลน์ ฟรี
Harvard University เปิดห้องเรียนออนไลน์จำนวน 8 รายวิชา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั่วไปที่สนใจเข้าเรียนรายวิชาดังกล่าวของมหาวิทยาลัย ผ่านระบบออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วิทยาการคอมพิวเตอร์เบื้องต้น วิชานี้เน้นสอนเรื่อง การคิดเชิงคำนวณอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาการเขียนโปรแกรม โครงสร้างข้อมูล และการพัฒนาเว็บ เป็นต้น หลังจากจบรายวิชานี้ผู้เรียนจะสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้หลายภาษา ได้แก่ ภาษา C Python และ Java เวลาที่ใช้ในการเรียนประมาณ 10-20 ชั่วโมง ซึ่งจะมีชุดปัญหาจำนวน 9 ชุด และโครงการที่ผู้เรียนจะต้องฝึก ทั้งหมดนี้ในรูปแบบออนไลน์ จินตนาการทางสถาปัตยกรรม ศิลปะและวิทยาศาสตร์มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน แต่ในทางสถาปัตยกรรม ศิลปะและวิทยาศาสตร์พบกันอย่างสวยงาม ในรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนทั้งด้านเทคนิคและด้านวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรม และได้รับความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าอาคารสิ่งก่อสร้างที่เราอาศัยอยู่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ค่านิยม และความกังวลในทางปฏิบัติอย่างไร เวลาที่ใช้ในการเรียนประมาณ 3-5 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 10 สัปดาห์ โดยเป็นการเรียนด้วยตนเอง Super-Earths and Life ในหลักสูตรนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบ และทำไมดาวเคราะห์เหล่านี้จึงมีความน่าสนใจ การรวมแนวคิดเรื่องดาราศาสตร์และชีววิทยาเข้าด้วยกันอย่างในหลักสูตรนี้ (ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นมาก่อน) คือบทนำที่ยอดเยี่ยมของยุคที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในชีวดาราศาสตร์ (Astrobiology) รายวิชานี้เป็นการเรียนด้วยตนเองของผู้เรียน ใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 6 สัปดาห์ ความยุติธรรม รายวิชานี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้มุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความยุติธรรมจากนักคิดชื่อดัง เช่น Aristotle, John Locke, Immanuel Kant, John Stuart Mill และ John Rawls การสอนจะใช้ภาษาอังกฤษในการสอน แต่มีคำบรรยายภาษาจีน ภาษาเยอรมัน ภาษาโปรตุเกส และภาษาสเปน การเรียนจะใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผู้นำของการเรียนรู้ ในรายวิชานี้ผู้เรียนจะได้ค้นหาและระบุสไตล์การเรียนรู้ของตนเอง รวมถึงค้นหาว่าสไตล์การเรียนรู้ดังกล่าวจะเข้ากับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของการศึกษาอย่างไร จากนั้นการบรรยายจะเน้นการนำความรู้มาประยุกต์ใช้อย่างไรต่อการเป็นผู้นำ โครงสร้างองค์กร และอนาคตของการเรียนรู้ การเรียนจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ การใช้ Python เพื่อการวิจัย ในหลักสูตรนี้ผู้เรียนจะได้ทบทวนพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมอย่าง ไพรอน (Python) และเรียนรู้วิธีใช้ความรู้ดังกล่าวกับโครงการวิจัย เช่น NumPy และ SciPy รายวิชานี้เป็นรายวิชาในระดับกลาง ดังนั้นผู้เรียนจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาไพรอนมาก่อน รายวิชานี้เป็นการเรียนด้วยตัวเองและใช้เวลาเรียนประมาณ 4-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ รัฐบาลอเมริกัน วิชานี้จะแนะนำผู้เรียนเกี่ยวฟังก์ชั่น ประวัติศาสตร์ สถาบัน และผลงานภายในของรัฐบาลอเมริกัน หลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 16 สัปดาห์ การตอบสนองด้านมนุษยธรรมต่อความขัดแย้งและภัยพิบัติ เราอยู่ในโลกที่มีวิกฤตด้านมนุษยธรรม และการตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวยังคงขาดแคลน ในชั้นเรียนนี้ ผู้เรียนจะตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีจัดการกับภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมผ่านกรณีศึกษาของประเทศ ซาอีร์ (ซาอีร์) ซีเรีย บอลข่าน และที่อื่น ๆ วิชานี้ยังครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์ของการตอบสนองด้านมนุษยธรรม และกรอบการทำงานเรื่องการตอบสนองด้านมนุษยธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลักสูตรนี้ใช้เวลา 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง วิกฤตการณ์โอปิออยด์ (Opioid) ในอเมริกา โอปิออยด์ คือสารสังเคราะห์ประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ทำยาประเภทแก้ปวด มีอิทธิพลต่อสมอง ระบบประสาทส่วนปลายของร่าง กาย และระบบทางเดินอาหาร การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์มีข้อพึงระวังสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การติดยา ซึ่งจะเกิดเมื่อมีการใช้ยาครั้งละมากๆ หรือใช้ยาเป็นเวลานานๆ ทั้งนี้ มีหลายรายการของสารโอปิออยด์ที่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษ หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญในปัจจุบันคือการเพิ่มขึ้นของการติดยาโอปิออยด์ ในหลักสูตรนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จะอธิบายสาเหตุของวิกฤติ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกัยการติดยาเสพติด ความเป็นจริงของการติดยา ทางเลือกในการรักษา และอื่น ๆ หลักสูตรนี้เป็นให้ผู้สนใจเข้าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังให้เครดิตสำหรับ SHRM Certified Professional (SHRM-CP) หลักสูตรนี้ต้องใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ที่มา: Heddricks, S. (2017, November 22). 8 Harvard University Courses You Can Take Right Now, for Free [Web page]. Retrieved from http://bigthink.com/scotty-hendricks/8-harvard-university-courses-you-can-take-right-now-for-fre
นานาสาระน่ารู้

ประสบความสำเร็จในการขัดขวางยีนดื้อยาปฏิชีวนะ
คณะนักวิจัยจาก University of Montreal พัฒนาวิธีการใหม่ขัดขวางการขนส่งยีนดื้อยาปฏิชีวนะ การศึกษาครั้งนี้เผยแพร่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนในวารสาร Scientific Reports หนึ่งวิธีที่ยีนดื้อยาปฏิชีวนะกระจายในโรงพยาบาลและในสิ่งแวดล้อมได้คือ พลาสมิดที่มียีนนั้นอยู่ถูกขนส่งระหว่างแบคทีเรีย พลาสมิดเป็นชิ้นดีเอ็นเอพบในแบคทีเรียหรือยีสต์ ซึ่งมียีนที่มีประโยชน์กับแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยีนที่สร้างโปรตีนทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ คณะนักวิจัยได้ค้นหาโมเลกุลเคมีขนาดเล็กซึ่งจับกับโปรตีน TraE ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำให้เกิดการขนส่งพลาสมิด การวิเคราะห์โดย X-ray crystallography แสดงบริเวณจับ (binding site) ที่แน่นอนของโมเลกุลเหล่านั้นบน TraE ด้วยมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับบริเวณจับทำให้คณะนักวิจัยสามารถออกแบบโมเลกุลที่จะจับได้ดีกว่า ซึ่งในที่สุดทำให้การขนส่งพลาสมิดที่มียีนดื้อยาปฏิชีวนะลดลง Christian Baron หนึ่งในคณะนักวิจัย หวังว่าวิธีนี้สามารถทำให้ค้นพบตัวยับยั้ง (inhibitor) ของการขนส่งยีนดื้อยาปฏิชีวนะได้มากขึ้น ตัวยับยั้งที่มีประสิทธิภาพวันหนึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งการดื้อยา ที่มา: University of Montreal (2017, November 22). Antibiotics resistance: Researchers succeed to block genes of resistance. ScienceDaily. Retrieved November 23, 2017, from https://www.sciencedaily.com/releases/2017/11/171122093030.htm
นานาสาระน่ารู้

วิธีการรักษาใหม่ได้ผลกับไวรัสหลายตัว
คณะนักวิจัยจาก RMIT University ที่ Melbourne ออสเตรเลีย ได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ได้ผลกับไวรัสหลายโรครวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้หวัดธรรมดา ผลการศึกษาเผยแพร่ในวารสาร Nature Communications คณะนักวิจัยเริ่มด้วยการศึกษาไวรัสทำให้คนเกิดโรคได้อย่างไร และค้นพบว่า ขบวนการทางชีววิทยาของเซลล์อายุ 1.5 พันล้านปี ซึ่งพบในพืช รา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้เกิดโรคไวรัสมากขึ้นในหนูและนอกจากนี้ในคน คณะนักวิจัยได้แยกโปรตีนชื่อ Nox2 oxidase ซึ่งถูกกระตุ้นโดยไวรัสหลายตัว ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้หวัดธรรมดา ไวร้สไข้เลือดออก และไวรัสโรคเอดส์ เมื่อถูกกระตุ้น Nox2 oxidase จะยับยั้งปฏิกิริยากำจัดไวรัสหลักของร่างกายและความสามารถในการต่อสู้และกำจัดการติดเชื้อไวรัส ซึ่งผลคือโรคที่รุนแรงมากขึ้นในหนู คณะนักวิจัยค้นพบว่า โปรตีน Nox2 oxidase เมื่อถูกกระตุ้นโดยไวรัสอยู่ในส่วน endosomes ของเซลล์ คณะนักวิจัยค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างของสารเคมีซึ่งยับยั้งการทำงานของ Nox2 oxidase เพื่อให้ได้ยาใหม่ที่รักษาโรคเหล่านี้ ยาที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมพบว่ามีประสิทธิภาพดีมากในการยับยั้งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ วิธีการรักษาในปัจจุบันมีข้อจำกัดคือมีเป้าหมายเป็นไวรัสที่หมุนเวียนในร่างกายและไม่มีผลหรือมีเล็กน้อยต่อไวรัสใหม่ซึ่งเข้าสู่ร่างกาย แต่ในการศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายเป็นไวรัสใหม่ ที่มา: RMIT University (2017, July 12). New research points to treatment breakthrough for viruses. ScienceDaily. Retrieved November 23, 2017, from https://www.sciencedaily.com/releases/2017/07/170712072807.htm
นานาสาระน่ารู้

British Library Sounds
หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (British Library) พัฒนาคลังรวบรวมเสียงบันทึกต่างๆ เช่น สำเนียงท้องถิ่น ศิลปะ วรรณคดี และการแสดง ดนตรีคลาสสิก เพลงสากล ดนตรีพื้นบ้านเสียงสัตว์ เสียงธรรมชาติ รวมถึงเสียงพูดบอกเล่าเรื่องราวของผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือประวัติศาสตร์คำบอก (Oral History) รวมมากกว่า 90,000 รายการ จัดแบ่งตามประเภท และมีระบบสืบค้นทั้งแบบขั้นพื้นฐานและแบบขั้นสูงเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาและเข้าถึงรายการเสียงที่ต้องการ รายการเสียงแต่ละรายการจะมีคำอธิบายประกอบ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นของเทคโนโลยีเว็บ 2.0 เช่น Tag cloud การเพิ่มบันทึก (Note) และการแชร์รายการเสียงบันทึกผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ British Library Sounds
นานาสาระน่ารู้

OER Search Engines
เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) เพื่อค้นหา แหล่งทรัพยาการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resource: OER) Creative Commons Search ค้นหาสื่อการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ผู้ใช้ยังสามารถค้นหาสื่อการเรียนการสอนที่ต้องการผ่านเว็บไซต์ที่เป็นที่รู้จัก เช่น Google Images YouTube Flickr เป็นต้น Digital Public Library of America ค้นหาและเข้าถึงสื่อดิจิทัลจากห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา DOER บัญชีรายชื่อ (Directory) ของ OER Google University Learning ค้นหาและเข้าถึง OER และ OCW หรือ Open Courseware ซึ่งใช้ Google Custom Search HippoCampus โครงการของ Monterey Institute of Technology and Education (MITE) เน้นกลุ่มผู้ใช้ระดับมัธยมศึกษาและวิทยาลัย Internet Archive ค้นหาและเข้าถึงหลักสูตร วิดีโอการบรรยาย และสื่อการเรียนการสอนอื่นๆ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในยูโรปและสหรัฐอเมริกา Mason OER Metafinder ค้นหาและเข้าถึงตำราและสื่อการเรียนการสอนแบบเปิดจากคลัง OER (OER repository) มากกว่า 15 แหล่ง MERLOT OER พอร์ทัล (Portal) OER Commons โครงการริเริ่มโดย Institute for the Study of Knowledge Management in Education (ISKME) สามารถค้นหาสื่อการเรียนการสอนใหม่ที่ถูกรวบรวมและเผยแพร่ หรือค้นหาด้วยเทคนิคการสืบค้นขั้นสูงตามความต้องการ OER Dynamic Search Engine wiki ของเว็บไซต์ OER พร้อมด้วยเสิร์ชเอนจิน Open Course Library Open Course Ware Consortium ค้นหาและเข้าถึงบทเรียนมากกว่า 30,000 รายวิชา จากสถาบันกว่า 280 แห่งทั่วโลก Open Culture เน้นค้นหาและเข้าถึสื่อการเรียนการสอน เช่น ตำรา กิจกรรมตามหลักสูตร แบบทดสอบและการประเมินผลการเรียนการสอน จากสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 80 แห่ง OpenStax เน้นค้นหาและเข้าถึงตำราเรียน บทความ และสื่อการเรียนรู้อื่นๆ ที่เปิดให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย Temoa OER พอร์ทัล (Portal) XPERT ค้นหาฐานข้อมูลการเรียนรู้แบบเปิด เหมาะสำหรับนักเรียนทุกระดับ ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา
นานาสาระน่ารู้

ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสามารถแสดงให้เห็นว่าห้องสมุดเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ได้อย่างไร
บริษัท ศูนย์ห้องสมุดคอมพิวเตอร์ออนไลน์ จำกัด (Online Computer Library Center - OCLC) และ สมาคมห้องสมุดวิจัยและวิทยาลัยแห่งสหรัฐอเมริกา (Association of College and Research Libraries - ARCL) ได้จัดพิมพ์รายงาน เรื่อง ผลกระทบของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา : การปรับปรุงการปฏิบัติงานและหัวข้อที่สำคัญเพื่อการวิจัย (Academic Library Impact: Improving Practice and Essential Areas to Research) ซึ่งเสนอแนวทางการพัฒนาบริการของห้องสมุดที่เน้นความสำเร็จของนักเรียนแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าห้องสมุด บทนำของรายงานดังกล่าวประกอบด้วยคำถามสำคัญที่บรรณารักษ์คุ้นเคย คือ ผู้บริหารห้องสมุดและเจ้าหน้าที่ห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาสามารถแสดงให้เห็นว่าห้องสมุดเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาได้อย่างไร OCLC และ ARCL ได้ระบุ 6 หัวข้อซึ่งอธิบายวิธีการตอบคำถามดังกล่าว หัวข้อเหล่านี้สอดคล้องกับบทบาทของผู้บริหารห้องสมุด เจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่ดูแลเรื่องการตลาด และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลการเรียนของนักศึกษา ผู้บริหารห้องสมุด ผู้บริหารห้องสมุดควรเปรียบเทียบการประเมินผลงานของห้องสมุดกับภารกิจของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในการประเมินและการสื่อสารผลงานของห้องสมุดต่อความสำเร็จของนักศึกษา ผู้บริหารห้องสมุดจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ นักการตลาดห้องสมุด การติดต่อสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด นักการตลาดห้องสมุดจำเป็นต้องสื่อสารผลงานของห้องสมุดโดยเริ่มต้นจากตัวเลขและคำศัพท์ที่ใช้ในชุมชนวิชาการ จากการหารือกับผู้บริหารห้องสมุดและการทบทวนวรรณกรรม พบว่าบรรณารักษ์ใช้คำว่า "บริการ" มากกว่าคนอื่นๆ ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา บรรณารักษ์ใช้คำเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่น "การเรียนการสอน" "การบริการลูกค้า" และ "พื้นที่" โดย OCLC และ ARCL แนะนำว่านักการตลาดห้องสมุดควรหารือกับผู้บริหารห้องสมุดและศึกษาดูว่าจะเชื่อมโยงกิจกรรมของห้องสมุดเข้ากับภารกิจของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร บรรณารักษ์ผู้สอนและเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ข้อมูลคือสิ่งสำคัญสำหรับห้องสมุดเพื่อให้เหตุผลในการดำเนินงานของห้องสมุดแก่ผู้บริหาร อาจารย์ผู้สอน และผู้ให้เงินสนับสนุน บรรณารักษ์ควรรวมข้อมูลของห้องสมุดเข้าไปในคอลเลคชั่นของข้อมูลของมหาวิทยาลัยจากการศึกษาของ OCLC และ ARCL พบว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยมักเชื่อมโยงห้องสมุดเข้ากับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบริการ คอลเล็กชั่น และพื้นที่ของห้องสมุด ตรงข้ามกับการเชื่อมโยงห้องสมุดเข้ากับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาในเรื่องการสนับสนุนการสอนเช่นทักษะการวิจัยและวิธีการแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นบรรณารักษ์ควรมีการบันทึกข้อมูลงานที่เกี่ยวข้องกับการสอนของบรรณารักษ์ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องสมุดมีส่วนร่วมในการปรับปรุงการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ที่มา: Lynn Silipigni Connaway, L. S. (2017, November 21). The three types of library professionals who absolutely must read the new ACRL/OCLC Academic Library Impact report [Web page]. Retrieved from http://www.oclc.org/blog/main/the-3-types-of-library-professionals-who-absolutely-must-read-the-new-acrloclc-academic-library-impact-report/
นานาสาระน่ารู้

จากแนวคิดสู่การปฏิบัติเกี่ยวกับ OER ด้วย 5P
5 กลยุทธ์สำคัญ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติเกี่ยวกับคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resource – OER) Purpose (วัตถุประสงค์) ความเข้าใจและการยอมรับของบุคลากรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการนำ OER มาใช้ คือสิ่งสำคัญ ดังนั้นการนำ OER มาใช้ จึงควรมีการพัฒนาแผนงานที่หลักแหลม “SMART plan” ซึ่งประกอบด้วย Specific – มีความชัดเจน Measurable – สามารถวัดผลได้ Agreed Upon – ได้รับการเห็นพ้อง Results Focused – มุ่งเน้นผลลัพธ์และความสำเร็จ Time Bound – มีกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะวันที่ที่เป้าหมายบรรลุผล การมีวัตถุประสงค์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ชัดเจน และหนักแน่น จะนำไปสู่กระบวนการของการทำให้ OER นั้นเกิดผล และการวัดผลกระทบของ OER ต่อการสอนและการเรียนรู้ Program (แผนงาน) การกำหนดว่าอะไรคือแผนงานในภาพรวม หรือ ปัจจัยอะไรที่กำหนดว่าโรงเรียนจะใช้ OER และจะทำให้เกิดประโยชน์หรือสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่ควรคำนึง แผนงานสามารถมุ่งเน้นเนื้อหาของ OER ในบางสาขาวิชาก่อน เช่น เนื้อหาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics - STEM) หรือ ศิลป์ภาษา หรือเนื้อหาตามระดับชั้นเรียน เช่น ชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา หลังจากการกำหนดแผนงานแรกแล้ว สิ่งต่อมาคือควรมีการประเมินโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technology infrastructure) เพื่อตรวจสอบเรื่องนโยบายของพื้นที่ที่จะนำ OER มาใช้ เครือข่ายโทรคมนาคม และอุปกรณ์ที่จะสนับสนุนแผนการใช้เนื้อหาในรูปแบบดิจิทัลที่ได้วางไว้ จากนั้นคือการประเมินหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา กลุ่มสาขาวิชาใดของหลักสูตรที่ต้องการถูกออกแบบหรือถูกปรับเพื่อให้การใช้เนื้อหาในรูปแบบดิจิทัลเป็นไปอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ควรมีการประเมินว่าเนื้อหาประเภทใดที่จะใช้ เช่น จะเป็นเนื้อหาเชิงการค้าหรือพาณิชย์ เนื้อหาที่สามารถใช้งานฟรี OER เนื้อหาที่ครูผู้สอนเป็นผู้สร้าง หรือการผสมผสานของประเภทเนื้อหาที่กล่าวมา Process (กระบวนการ) หลังจากที่เข้าใจวัตถุประสงค์และแผนงานสำหรับการใช้เนื้อหาในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนดกระบวนการ หรือ วิธีการที่ครูผู้สอนและนักเรียนจะสามารถค้นหาและใช้ OER ควรมีการให้แนวทางในการนำ OER ไปใช้ในรูปแบบที่สนับสนุนเป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ของพื้นที่ที่นำ OER ไปใช้ Platform (แพลตฟอร์ม) การพิจารณาแพลตฟอร์มเพื่อจัดวางเนื้อหาและข้อมูลเมทาดาทาทั้งหมด จะต้องพิจาณาว่าเครื่องมือใดมีการใช้งานอยู่บ้าง เช่น ระบบการจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System - LMS) คลังสื่อการเรียนรู้ (Learning Object Repository - LOR) หรือ ระบบการจัดการเนื้อหา (Content Management System - CMS) People (คน) การจัดตั้งกลุ่มของผู้ทำงานและผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้นำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลในพื้นที่ที่นำ OER ไปใช้ การพิจารณาการแต่งตั้งผู้จัดการโครงการสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์และหลักสูตร หรือการจัดตั้งคณะกรรมการที่จัดสรรเนื้อหาในรูปแบบดิจิทัลสำหรับแผนงานที่ออกแบบและกำหนดไว้ โดยคณะกรรมการอาจรวมตัวกันในระหว่างขั้นตอนการวางแผนเพื่อทำความเข้าใจว่า OER จะถูกนำมาปฏิบัติอย่างไร ที่มา: Wilhelm, R. (2017, November 19). A Playbook to Go Open: 5 Steps to Adopting OER [Web page]. Retrieved from https://www.edsurge.com/news/2017-11-19-a-playbook-to-go-open-5-steps-to-adopting-oer?utm_content=buffera0a78&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer
นานาสาระน่ารู้

แผนพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
การทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในรูปแบบของแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ถือเป็นแนวทางการบริหารที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินงานบริหารเป็นไปอย่างมีระบบ ตามกรอบที่เป็นเป้าหมายมุ่งร่วมกัน มหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่า แผนที่ดีจำเป็นต้องมีการคิดพิจารณาที่เป็นระบบประกอบไปด้วยทั้งเหตุผลและประสบการณ์ ซึ่งแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ฉบับนี้ ได้สังเคราะห์ขึ้นจากการประมวลข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม/วัฒนธรรม การเมือง วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ครอบคลุมสภาวการณ์อนาคต จากระดับการเปลี่ยนแปลงในกระแสทั่วโลก พลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21 บริบทประเทศไทย และการปฏิรูปตลอดจนภาวะความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก้าวเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของอาเซียน สู่ “มหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม”
เอกสารฉบับเต็ม
THAILAND 4.0

แผนกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2565
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานของการจัดการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ สอดคล้องกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต และด้วยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 3 ในมาตรา 14 ได้กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดททำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี เพื่อแปลงเป็นแผนปฏิบัติราชการประจำปีและกำหนดแนวในการจัดสรรงบประมาณตอบสนองต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐที่ปรับเปลี่ยน ประกอบกับแผนกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประจำปี พ.ศ. 2556-2560 ได้สิ้นสุดลง ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรจึงได้ทำการทบทวนและจัดทำแผนกลยุทธ์ ประจำปี พ.ศ. 2561-2565 เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีแผนกลยุทธ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในระยะที่ 1 พ.ศ. 2561-2565 และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2565) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ยุทธศาสตร์กระทรวง นโยบายการปรับยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้เป็นกรอบแนวทางที่แสดงถึงยุทธศาสตร์รวมถึง กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แผนกลยุทธ์ฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยใช้แนวทางกระบวนการพัฒนาแผนตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแผนจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกของมหาวิทยาลัย ระดมความคิดเห็นผ่านการประชุมสัมมนาและได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560
เอกสารฉบับเต็ม
THAILAND 4.0