หน้าแรก ค้นหา
ผลการค้นหา :
‘ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร’ เตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023 ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยหนุนครัวไทยสู่ครัวโลก
For English-version news, please visit : NSTDA’s joint research center on a mission to enhance food security   การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มจำนวนของประชากรโลก รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านภาวะขาดแคลนอาหารกระจายตัวอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก หรือการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอต่อความต้องการและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายของนานาประเทศที่ต้องการแก้ปัญหาร่วมกัน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast (QUB) สหราชอาณาจักร จัดตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตงานวิจัยระดับโลกที่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดเตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023: Global Summit on the Future of Future Food ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต   [caption id="attachment_48543" align="aligncenter" width="700"] ศ.ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ไบโอเทค สวทช. ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร และศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Queen’s University Belfast[/caption]   ศ.ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร และศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Queen’s University  Belfast กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ แม้ว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย แต่ที่จริงแล้วไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหาร เพราะความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่แค่มีอาหารเพียงพอ แต่ต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย อีกทั้งประเทศไทยยังตั้งเป้าที่จะเป็นครัวของโลก ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอ ด้วยวิธีที่ปลอดภัยและยั่งยืน “ต่างชาติชื่นชมและชื่นชอบอาหารไทยมาก เราใช้อาหารไทยเป็นทูต เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ชวนให้เขาอยากมาเที่ยวเมืองไทย ทำไมเขาถึงเลือกรับประทานอาหารไทย เพราะนอกจากอาหารไทยอร่อยแล้ว เขายังมั่นใจในคุณภาพด้วย หรือเมื่อไปซูเปอร์มาร์เก็ตเขาก็จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศไทยเพราะเขามั่นใจในคุณภาพแม้ว่าจะราคาสูงกว่าที่มาจากประเทศอื่น อย่างเช่น กุ้ง กุ้งไทยเป็นกุ้งที่อร่อยและมีคุณภาพดีกว่ากุ้งของที่อื่น เพราะเราเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพแตกต่างจากคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ทั่วโลกมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่เป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรจนไปถึงเป็นอาหาร มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย” ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. มีความร่วมมือกับ Queen’s University Belfast ซึ่งมีความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารในระดับโลก ในการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางอาหารมายาวนานกว่า 10 ปี และในปี 2565 ได้ขยายความร่วมมือสู่การจัดตั้ง ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ มีความรู้ความสามารถพร้อมสำหรับทำงานในภาคอุตสาหกรรม   [caption id="attachment_48544" align="aligncenter" width="700"] ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร หรือ IJC-FOODSEC ความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast[/caption]   “ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารทำให้เรามีเครือข่ายทั้งในเอเชียและยุโรป สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ อย่างเราเชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้ง เขาก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นได้ หรือเราอาจจะนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของอาหารในแป้งสาลีของเขามาประยุกต์ใช้กับข้าวหรือผลิตภัณฑ์อื่นของเราได้ นอกจากนี้ศูนย์วิจัยฯ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต้องการได้ง่ายขึ้น รวมถึงสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม” ศ.ดร.นิศรา กล่าว   [caption id="attachment_48546" align="aligncenter" width="700"] ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในเอเชียและยุโรป[/caption]   ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารมุ่งวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต เพื่อลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร รวมทั้งมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเทศและศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในเรื่องสารพิษจากรา เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยและอาเซียนให้มีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในระดับโลก   [caption id="attachment_48545" align="aligncenter" width="700"] ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) มีความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องมือวิจัยที่ทันสมัย[/caption]   ศ.ดร.นิศรา กล่าวว่า ตัวอย่างเทคโนโลยีและงานวิจัยที่พัฒนาโดยนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารหลายเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ (biocontrol technology) ชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมโรคพืชรวมทั้งย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดินทางการเกษตร เทคโนโลยี MycoSMART ชุดตรวจสารพิษจากเชื้อราในอาหารหรือวัตถุดิบการเกษตรด้วยเทคนิคไมโครอะเรย์ที่ตรวจสารพิษจากราได้หลายชนิดพร้อมกัน และเทคโนโลยี Agri-Mycotoxin binder วัสดุลดสารพิษจากราในอาหารสัตว์ เช่น อะฟลาท็อกซิน บี1 (Aflatoxin B1) ซีราลีโนน (Zearalenone) โอคราท๊อกซิน เอ (Ochratoxin A) ฟูโมนิซิน บี1 (Fumonisin B1) และดีอ็อกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol)   [caption id="attachment_48547" align="aligncenter" width="500"] ‘MycoSMART ชุดตรวจสารพิษจากเชื้อราในอาหารหรือวัตถุดิบการเกษตร’ ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นของ IJC-FOODSEC[/caption]   “นอกจากนี้ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารกำลังจะจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023 : Global Summit on the Future of Future Food ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ วิธีการจัดหาอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกผ่านการคิดเชิงนวัตกรรม การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารเพื่ออนาคต และความปลอดภัยของอาหารเพื่ออนาคตจากแหล่งต่างๆ หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในระดับนานาชาติที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการผลิตอาหารของโลกที่มีความเพียงพอ ปลอดภัยและยั่งยืน” ผู้สนใจร่วมงานสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.biotec.or.th/asean-asset2023/ หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 08 2198 9699 หรือ info.asean.asset2023@gmail.com, asean-asset2023@biotec.or.th   [caption id="attachment_48548" align="aligncenter" width="1000"] งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023: Global Summit on the Future of Future Food จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ[/caption]   เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.
ข่าว
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
บทความ
 
ขอเชิญผู้ประกอบการ Startups และ SMEs เข้าร่วมงาน Entrepreneur Day (E-Day) 2023 (หมดเขต 8 พฤศจิกายน 2566)
สวทช. ขอเชิญผู้ประกอบการ Startups และ SMEs เข้าร่วมงาน Entrepreneur Day (E-Day) 2023 ในวันที่ 7-8 ธันวาคม 2566 ที่ Hong Kong Convention & Exhibition (HKCEC) ภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดงเทคโนโลยีและสินค้าเชิงนวัตกรรมจากทาง Start-ups และ SMEs จากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น Healthcare Biotech Fintech Green-Tech Emerging Technology Proptech และ อื่นๆ รวมถึงบริการต่างๆ ครบวงจรสําหรับ Start-ups พร้อมรับ Hotel Sponsorship ตามเงื่อนไขกำหนด . สนใจกรอกใบสมัครได้ที่ https://shorturl.at/aovy6 หมดเขต 8 พฤศจิกายน 2566 **รับจำนวนจำกัด** สอบถามเพิ่มเติมโทร. 081-814-0886
โปรแกรมฝึกอบรม
 
รับสมัคร ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ต้องการรับสมัคร ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มีภารกิจในการดำเนินการวิจัย การสนับสนุนการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างสูงต่อความสามารถในการผลิตและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในการนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงใคร่เชิญชวนผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 โดยมีรายละเอียดตามเอกสารดาวน์โหลด ประกาศ สวทช. เรื่องการรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็น ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ใบสมัคร ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ [PDF] | [DOCX] (เปิดรับสมัคร จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566) แบบเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (เปิดรับเสนอชื่อ จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566)   ติดต่อขอรายละเอียดประกาศรับสมัครและเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวโสภิดา เนตรวิจิตร e-mail: sopidan@nstda.or.th โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 71144  
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
สวทช. ผนึก สมาคมทีคอส (TCOS) ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยแพลตฟอร์ม FoodSERP บริการแบบครบวงจร
For English-version news, please visit : NSTDA teams up with Thai Cosmetic Cluster, introducing FoodSERP to service Thai cosmetic industry (วันที่ 31 ตุลาคม 2566) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวง อว  :: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) ร่วมลงนาม และดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. พร้อมด้วย ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย เป็นพยานในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยพัฒนาชั้นนำของประเทศและบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามหลักมาตรฐานสากล สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สวทช. ในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพในประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและเวชสำอาง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานการผลิต สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค สำหรับผลิต functional ingredients หรือ active ingredients และโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง สำหรับผลิตเวชสำอางที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นอกจากนี้ สวทช. ยังมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย  สวทช. ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี ในรูปแบบ One-stop service ตั้งแต่การผลิต วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบตลาด บริการขยายขนาดการผลิต และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG  และ Speedy Economy  ให้มีศักยภาพการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต “เจตนารมณ์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เวชสำอางของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ผนึกกำลังร่วมกันผ่านเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ที่จะช่วยสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว ดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามมีการพัฒนา และตลาดมีความต้องการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อม และตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความร่วมมือและผลักดันองค์ความรู้เทคโนโลยีนำผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนกลุ่มแพลตฟอร์ม FoodSERP นำโดย ดร. กอบกุล เหล่าเท้ง และทีมวิจัยจากศูนย์แห่งชาติของ สวทช. มีความพร้อมทั้งด้านความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในด้านประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “สารสำคัญเชิงหน้าที่ (Functional ingredient)” เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เวชสำอางออกสู่ตลาด รวมทั้งให้บริการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ การขยายขนาดการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบที่มีมาตรฐานสากลสำหรับทดลองตลาด ทดสอบทางคลินิกหรือทดสอบภาคสนาม และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กลุ่มส่วนผสมฟังก์ชัน และสารสกัด (functional extracts) เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้เพิ่มแก่ผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเวชสำอางของไทย ด้าน นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) กล่าวว่า ความร่วมมือกับองค์กรวิจัยระดับชาติ อย่าง สวทช. เป็นอีกมิติที่สำคัญของสมาคมฯ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและทรัพยากร การร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมการผลิต รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ซึ่งการที่สมาคมฯ และ สวทช. ได้ร่วมลงนามมือกันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ด้วยความร่วมมือและให้บริการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงเป้าหมายในการสร้างความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม คุณภาพ และความปลอดภัยของเครื่องสำอางไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของไทย อาทิเช่น สมุนไพร วัตถุดิบทางการเกษตรและจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่เป็น soft power อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในเวทีโลก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม “อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและมีอนาคตที่สดใสในตลาดโลก แต่ในเวลาเดียวกันต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1.การแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและการตลาดที่ดีกว่า 2.การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน และ 3.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและความชอบของผู้บริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งสมาคมฯ เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ เช่น การใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ใช้ไบโอเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ” นายกสมาคม TCOS กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ ภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือฯ ได้เปิดเวทีเสวนา เรื่อง “ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามด้วย FoodSERP for sustainable health and beauty” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 2 หน่วยงาน นำโดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร. กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน สวทช. และ ดร. อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) คุณลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ดร.ธนธรรศ สนธีระ และคุณกฤษณ์ แจ้งจรัส อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย เพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นในการผลักดันอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรมแก่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผู้ประกอบการไทยบนเวทีนานาชาติ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FoodSERP สำหรับ FoodSERP จัดตั้งขึ้นในปลายปี 2565 โดยเป็นหนึ่งใน core business ของ สวทช. มีพันธกิจหลักในการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความพร้อมด้านต่างๆ ไปสู่การใช้ประโยชน์จริงและส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มากของประเทศ ผ่านการให้บริการการผลิตและวิเคราะห์ทดสอบอาหาร เวชสำอาง และส่วนผสมฟังก์ชัน ตามโจทย์ที่เป็นความต้องการเฉพาะ (Tailor made) ของลูกค้า ในรูปแบบ One-stop service โดยทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากสาขา มีวิทยาการความรู้ (know-how) และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการ รวมถึงเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและมีมาตรฐานการผลิต ที่จะช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาต่าง ๆ ในห่วงโซ่การผลิต เพิ่มความพร้อมของเทคโนโลยี การวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงในการดำเนินงานกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชัน และสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมส่วนผสมฟังก์ชัน (Functional ingredients ) สมุนไพร และเวชสำอาง จากฐานทรัพยากรชีวภาพด้านการเกษตรและจุลินทรีย์ของประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
เทคโนโลยีเวชสำอางไทยผงาดสู่เวทีโลก! ในงาน COSMETIC360 ที่ฝรั่งเศส
สวทช. ร่วมกับ TCELS และ วว. นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน COSMETIC360 จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์เวชสำอางและสมุนไพรไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานจัดแสดงสู่เวทีตลาดโลก   โดยภายในงานมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง บริษัท สไปก์ อาร์ชิ เทคโทนิคส์ จำกัด (Spike Architectonics) กับ DR. MICHÈLE AOUIZERATE PELLETIER นวัตกรและแพทย์ชาวฝรั่งเศส ซึ่ง บริษัท สไปก์ อาร์ชิ เทคโทนิคส์ จำกัด เป็น Deep-tech สตาร์ตอัปไทย โดยใช้ผลงานวิจัยของ สวทช. ที่พัฒนาเทคโนโลยีสร้างช่องทางสู่ผิวหนังขนาดไมโครด้วยแสงบนวัสดุผืนผ้า ในรูปแบบมาสก์หรือแผ่นแปะ ที่มีลักษณะพิเศษสามารถดีไซน์ได้ตามความต้องการของลูกค้า นับเป็นความสำเร็จของการพัฒนาความร่วมมือทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส
คลิปสั้นทันเหตุการณ์
 
จัดการโรคพืชทุเรียน ด้วย “ชีวภัณฑ์” จากจุลินทรีย์
ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ จ.ระยอง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรเรื่อง "การเรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์" เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำชีวภัณฑ์ที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์ มาใช้ประโยชน์ทดแทนการใช้สารเคมีในการป้องกันโรคพืชและกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไบโอเทคได้รวบรวมองค์ความรู้ จัดทำเป็นแบบมาตรฐาน หรือคู่มือสำหรับการจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร
คลิปสั้นทันเหตุการณ์
 
“เทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่าง” นวัตกรรมกู้วิกฤตอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย
For English-version news, please visit : Diagnostic technology offers solutions for combating cassava mosaic disease   “มันสำปะหลัง” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพราะเป็นทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ และเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องเผชิญวิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อนำมาปลูกต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศในไม่ช้าหากไม่เร่งป้องกันและแก้ไข สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่าง และช่วยลดความเสี่ยงของการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ   ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ วิกฤตใหญ่ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทย   [caption id="attachment_48448" align="aligncenter" width="700"] นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการ สท. สวทช. ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล นักวิจัยไบโอเทค ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยไบโอเทค และ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ นักวิจัยไบโอเทค[/caption]   ดร.อรประไพ คชนันทน์ หัวหน้าทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ซึ่งมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค โดยเริ่มพบการระบาดบริเวณชายแดนของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 แต่ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลัง สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นวงกว้างเกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ หากระบาดรุนแรงอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้มากถึง 30-80 เปอร์เซ็นต์   [caption id="attachment_48454" align="aligncenter" width="600"] ต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค[/caption]   [caption id="attachment_48453" align="aligncenter" width="600"] ต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค[/caption]   “มันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างจะมีลักษณะใบด่างเหลือง ใบหงิก ลดรูป ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต จำนวนหัวและขนาดของผลผลิตลดลง คุณภาพของแป้งลดลง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรสูญเสียผลผลิตและรายได้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับป้อนเข้าโรงงาน นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดสำหรับปลูกในฤดูกาลถัดไป ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาอีกมาก ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. จึงได้พัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังเพื่อช่วยเกษตรกรเฝ้าระวังโรคใบด่างในแปลงปลูกและใช้คัดกรองท่อนพันธุ์ก่อนนำไปปลูกเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปกับท่อนพันธุ์”   ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง อาวุธสกัดโรคระบาดในไร่มัน ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล นักวิจัย ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคนิคการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง 2 รูปแบบ แบบแรกใช้เทคนิคอิไลซา (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความถูกต้อง ราคาไม่แพง มีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถตรวจได้ 96 ตัวอย่างในคราวเดียว โดยเทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการโรงแป้งมันสำปะหลัง หน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ตรวจที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรในการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่เพาะปลูกและการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค   [caption id="attachment_48449" align="aligncenter" width="650"] ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง[/caption]   ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ ชุดตรวจแบบรวดเร็วหรือสตริปเทสต์ (Strip test) ที่ใช้งานง่าย มีความไวสูง ความแม่นยำสูง และรู้ผลเร็ว เกษตรกรนำไปใช้ตรวจได้เองในแปลงปลูก โดยนำใบพืชมาบดในสารละลายที่เตรียมไว้ในชุดตรวจ จากนั้นจุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืช และรออ่านผล 15 นาที หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C เพียงที่เดียว แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง T และ C แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากเกษตรกรตรวจพบว่ามีโรคใบด่างในแปลงได้เร็วก็สามารถทำลายต้นที่เป็นโรคได้ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือแพร่กระจายเชื้อไปในวงกว้าง   [caption id="attachment_48455" align="aligncenter" width="800"] วิธีใช้ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบ strip test[/caption]   สวทช. ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน ช่วยเกษตรกรสู้โรคใบด่างมันสำปะหลัง นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันโรคใบด่างมันสำปะหลังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทย โดยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาโรคนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก เทคโนโลยีป้องกันและควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีความต้องการมากที่สุดในขณะนี้ “ชุดตรวจโรคใบด่างที่ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.พัฒนาขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าแปลงมันสำปะหลังของตนเองนั้นติดโรคใบด่างหรือไม่ หากพบว่าติดโรคใบด่างก็สามารถถอนทำลายต้นพันธุ์ทิ้งได้ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แปลงปลูกข้างเคียงและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยปัจจุบัน สท. ได้นำเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการแปลงมันสำปะหลังอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่ดังกล่าว”   [caption id="attachment_48452" align="aligncenter" width="650"] เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ทดลองการใช้ชุดตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ที่ทีมนักวิชาการ สวทช. ลงไปอบรมในพื้นที่[/caption]   นอกจากนี้ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ นักวิจัย ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิค ELISA แล้ว 6 แห่ง คือ บริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดนครราชสีมา บริษัทเอฟ ดี กรีน ในเครือบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร บริษัทเอเซียโมดิไฟด์สตาร์ช จำกัด จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยทีมวิจัยไบโอเทคทำหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำเชิงเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่รับถ่ายทอดนำเทคโนโลยีชุดตรวจไปใช้ในการตรวจสอบโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ   [caption id="attachment_48458" align="aligncenter" width="1000"] การตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงของการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ[/caption]   การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงทีอย่างเช่นเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ช่วยลดผลกระทบรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของไทย และทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤต สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่สนใจเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหัง สามารถติดต่อทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โทรศัพท์ 025646700 ต่อ 3342     เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.
BCG
 
ข่าว
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
บทความ
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
เยาวชนไทยเจ๋ง ! คว้าอันดับ 3 ศึกชิงแชมป์นานาชาติเขียนโปรแกรม ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ของ NASA
For English-version news, please visit : Thai youth team takes third place in the Kibo Robot Programming Challenge   เยาวชนตัวแทนประเทศไทย ‘ทีมกาแล็กติก 4’ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลอันดับ 3 จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 4 (The 4th Kibo Robot Programming Challenge) ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 10 ประเทศ     กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการจัดแข่งขันโครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย โดยทีมกาแล็กติก 4 (Galactic 4) เป็นทีมชนะเลิศ และเป็นทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจากบริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด, บริษัทสตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทสเปซ อินเวนเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทแมพพอยท์เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด   [caption id="attachment_48443" align="aligncenter" width="765"] ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช.[/caption]   ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ทีมกาแล็กติก 4 ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ (หัวหน้าทีม) นายเดชาธร ดาศรี นายกษิดิศ ศานต์รักษ์ และนายชีวานนท์ ชุลีคร นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมการแข่งขัน The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) และถ่ายทอดสดทาง YouTube ช่อง JAXA จากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศ ดร.ซาโตชิ ฟุรุกะวะ (Satoshi Furukawa) ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนห้องทดลองคิโบะโมดูล สถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชนจากทั่วโลก ที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ให้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนจาก 10 ชาติ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังคลาเทศ, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหรัฐอเมริกา และไทย     “ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมกาแล็กติก 4 จากประเทศไทย คว้ารางวัลอันดับสามมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่สามของการแข่งขัน รองจากไต้หวันและสิงคโปร์ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากความสำเร็จของเยาวชนไทยในครั้งนี้ สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนทั้งสี่คนจะได้เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถนำมาแบ่งปัน ต่อยอด รวมทั้งถ่ายทอดให้แก่เพื่อน ๆ เยาวชนไทยรุ่นต่อไป”     ด้าน นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมกาแล็กติก 4 กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับสมาชิกในทีมทุกคนที่ได้ร่วมพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา จนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศ และได้นำไปประมวลผลโปรแกรมบนสถานีอวกาศนานาชาติจริง อีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลอันดับที่สามกลับมาได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก เนื่องจากแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการเก็บคะแนน และแต่ละกลยุทธ์ทำคะแนนได้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เห็นได้จากทุกทีม คือ ความตั้งใจทำผลงานให้ออกมามีประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าแต่ละทีมไม่ได้รู้สึกเสียดายผลคะแนนจากการแข่งขันที่ได้รับ     “นอกจากการแข่งขัน พวกเรายังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นการทำงานของแผนกภาคพื้นดินที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เห็นกระบวนการคัดเลือกนักบินอวกาศ และได้รับประโยชน์มากมายในด้านองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการในอวกาศ ที่สำคัญตลอดการทำกิจกรรมยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างชาติมากมาย ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน สุดท้ายต้องขอขอบคุณ สวทช. และ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา รวมทั้งขอขอบคุณบริษัทเอกชนและผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ ที่สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ และมีโอกาสพูดคุยกับนักบินอวกาศ ดร.โคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata) ที่มีประสบการณ์ภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง” ทั้งนี้ ทีมกาแล็กติก 4  สามารถคว้ารางวัลอันดับสามมาครอง ด้วยคะแนน 94.79 คะแนน ส่วนทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมฟลายอิง ยูนิคอร์นส์ (Flying Unicorns) จากไต้หวัน คะแนน 110.77 คะแนน และทีมอันดับที่สอง ได้แก่ ทีมเอสเอสทีวัน (SST1) จากสิงคโปร์ 98.54 คะแนน รับชมการแข่งขันย้อนหลังได้ทาง YouTube ของ JAXA ที่ลิงก์ https://youtube.com/live/DBKVAojl0GQ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชนได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education   เรียบเรียงโดย ปริทัศน์ เทียนทอง ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.
ข่าว
 
บทความ
 
สวทช. วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราช
(๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๖) ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และ (รักษาการ) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้แทนผู้บริหารและพนักงาน สวทช. วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราช ๒๕๖๖ ณ พระลานพระราชวังดุสิต "วันปิยมหาราช" (๒๓ ตุลาคม ของทุกปี) เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างคุณูปการต่อประเทศไทยและเป็นที่รักยิ่งของเหล่าพสกนิกร ปวงชนชาวไทยพร้อมใจถวายพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" อันมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน"
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ไทย-ฝรั่งเศส ร่วมหารือทวิภาคีด้านวิจัย-นวัตกรรม ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสัมพันธ์ เน้นความเสมอภาคและประโยชน์ร่วมกัน พร้อมเข้าเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
For English-version news, please visit : Thailand and France bolster collaboration in higher education and research วันที่ 20 ตุลาคม 2566 - นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.ชีลวี เรอไตโย (Prof. Dr. Sylvie Retailleau) รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส พร้อมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านการอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม และร่วมลงนาม “แถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัยของทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กระทรวง อว. ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชีลวี รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฯพณฯ ฌ็อง - โกลด ปวงเบิฟ ( H.E. Mr. Jean-Claude Poimboeuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ดร.ซาวิเยร์ โกรแมทร์ (Dr. Xavier Grosmaitre) ผู้ช่วยทูตฝ่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และอุดมศึกษา พร้อมคณะที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ เยือน สวทช. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อหารือความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สร้างโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือกับ สวทช. และชมนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยของธนาคารทรัพยากรชีวพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) และโครงการห้องปฏิบัติการร่วมระหว่าง สวทช. และ Institut de recherche pour le développement (IRD) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สวทช. ได้ร่วมต้อนรับคณะของ ศาสตราจารย์ ดร.ชีลวีฯ โดยมี ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. ได้นำเสนอภาพรวมกิจกรรมวิจัยและความร่วมมือระหว่าง สวทช. และหน่วยงานจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส เช่น ภารกิจการดำเนินกิจกรรมด้าน วทน. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ได้แก่ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ BCG Economy Model โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชีลวี แสดงความสนใจการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักวิจัยร่วมกันซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของ สวทช. ว่าด้วยการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือวิจัยของประเทศในเขตพื้นที่ EECi เช่น Plant Factory และเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV หลังการหารือ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ได้นำคณะรัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยของ NBT ด้านเทคโนโลยีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อรับมือกับการสูญเสียความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพระยะยาว (Long-term Conservation) รวมทั้งเป็นคลังทรัพยากรชีวภาพสำรองของประเทศ (Long-term Biobanking Facility) โดยมี ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการ NBT เป็นผู้ให้ข้อมูล และได้ชมนิทรรศการภายใต้โครงการห้องปฏิบัติการร่วมระหว่าง สวทช. และ IRD ในโครงการ SIMPLE Project ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยังยืน โดยใช้เทคโนโลยี VR เพื่อจำลองโครงการพื้นฐานที่อ้างอิงจากสภาพแวดล้อมจริง และโครงการ GAMA Platform ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมแสดงผลแบบสามมิติผ่านทางแอพลิเคชันเพื่อใช้ศึกษาและออกแบบการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ การวางผังเมือง      
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา ดึง 6 องค์กร ผนึก สวทช.  ถ่ายทอดเทคโนโลยี-นวัตกรรม ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ สู่ ‘สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้’
(วันที่ 20 ตุลาคม 2566) ณ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา(ฝั่งวุฒิสภา) : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เข้าร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” โดยมี นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นายประทีป บินชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ร่วมลงนามความร่วมมือโดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา เป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา กล่าวว่า ตามที่จังหวัดแพร่ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” (เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566) ณ หอประชุมใหญ่โรงเรียนป่าไม้ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งริเริ่มแนวคิดโดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา ในการที่จะฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ในจังหวัดแพร่และสร้างเครือข่ายโดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมนั้น เพื่อให้การดำเนินงานการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้เล็งเห็นว่าควรเชิญให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  มาร่วมดำเนินการ ซึ่ง สวทช. มีภารกิจอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรให้เกิดการขยายผลอย่างทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานและสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและชุมชน กับภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกลไกการดำเนินงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” เพิ่มอีกหนึ่งฉบับ โดยเป็นการลงนาม 7 ฝ่าย คือ กรมป่าไม้ จังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ เทศบาลเมืองแพร่ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา “บันทึกความร่วมมือดังกล่าวมีขอบเขตการดำเนินงานของ สวทช. ได้แก่ 1.พัฒนาและยกระดับทักษะ (re-skill/up-skill) ในการบริหารจัดการป่าชุมชนให้กับกรรมการป่าชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง 2.ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ชุมชน 3. ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ และ 4. สนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้และให้คำปรึกษาในการสร้างมูลค่าจากการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากสิ่งแวดล้อม (คาร์บอนเครดิต) รวมถึงการลดการสร้างมลพิษจากการเผาป่าและวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตร ภายใต้การร่วมกันจัดหาทรัพยากรในการดำเนินงาน และการสนับสนุนจากจังหวัดแพร่ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่”  กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา กล่าว ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการยกระดับขีดความสามารถ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ สวทช. โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนภาคการเกษตรสู่ความยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) และมีภารกิจหลักในการทำงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งการเร่งรัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. การทดสอบ การสังเคราะห์เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคการเกษตร ตลอดจนสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่มีความยั่งยืนในพื้นที่ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ คือ ช่วยชุมชนลดต้นทุน สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ด้านสังคม ช่วยลดการอพยพย้ายถิ่น เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นในชุมชน และด้านสิ่งแวดล้อม เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวไปพร้อมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นแนวทางที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย ด้านนางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามความร่วมมือฯ นี้ สวทช. โดย สท.จะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัย สวทช. ในด้านต่าง ๆ เพื่ออบรมให้กับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์และต่อยอดกับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมต่อไป โดยมีจำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ หลักสูตรสำรวจและการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืช พืชป่า พืชหายาก พืชสมุนไพร สำหรับคลังทรัพยากร หลักสูตรสำรวจความหลากหลายของเห็ดกินได้ในป่าชุมชน 2.การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อาทิ หลักสูตรการขยายพันธุ์ไผ่พันธุ์ดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หลักสูตรการผลิตไม้ดอก ไม้ประดับสำหรับแหล่งท่องเที่ยวในป่าชุมชน หลักสูตรถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่ากินได้ หลักสูตรการเลี้ยงชันโรง หลักสูตรการเพาะเลี้ยงครามและฮ่อมสำหรับผลิตสีย้อมธรรมชาติ 3.การประยุกต์ใช้เกษตรสมัยใหม่ อาทิ หลักสูตรการใช้เทคโนโลยี Smart IoT และระบบการให้น้ำในแปลงเพาะชำกล้าไม้ หลักสูตรสำหรับการติดตาม PM2.5 และเฝ้าระวังไฟป่าในป่าชุมชน (เครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่น-Nano Sampler) หลักสูตรการใช้เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อการผลิตพืช (เมล็ดพันธุ์ สมุนไพร พืชผักมูลค่าสูง) และ 4.การท่องเที่ยว อาทิ หลักสูตรการประยุกต์ใช้นวนุรักษ์แพลตฟอร์มเพื่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงหลักสูตรการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
สวทช. ผนึก TCELS-วว. ดันผู้ประกอบการกลุ่มเวชสำอาง-สมุนไพรไทย ร่วมเวที COSMETIC360 ณ ประเทศฝรั่งเศส อวดศักยภาพผลิตภัณฑ์-นวัตกรรมไทย สู่ตลาดโลก
For English-version news, please visit : NSTDA partners with TCELS and TISTR, bringing Thai companies to showcase their cosmetic and herbal products at COSMETIC 360 เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2566 ณ Carrousel du Louvre กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน COSMETIC360 : The international innovation fair for cosmetic and perfume industry เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์เวชสำอางและสมุนไพรไทยที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยจัดแสดงสู่เวทีตลาดโลก ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. และคณะผู้บริหารและนักวิจัยจากหน่วยงานใน อว. ได้แก่ ศ. ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านชีววิทยาศาสตร์ TCELS และ ทีมนักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. พร้อมคณะผู้ประกอบการให้การต้อนรับและเข้าร่วมในพิธีเปิดบูธนิทรรศการ โดยได้รับเกียรติจาก นายบุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์  อัครราชทูต รักษาการแทนเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการพร้อมเยี่ยมชมผลงาน “กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ (Cosmetic Innovation and Business Link) ปี 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สวทช. TCELS และ วว. โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจำนวน 6 ราย เพื่อเข้าร่วมการบ่มเพาะ เรียนรู้และฝึกฝนทักษะในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ให้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการต่อยอดในเชิงธุรกิจสู่ตลาดสากล ก่อนจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพียง 1 ราย เพื่อเข้าร่วมงาน COSMETIC 360 โดยในปีนี้ บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมงาน” ดร.อุรชา กล่าว สำหรับปี 2566 นี้ นับเป็นโอกาสพิเศษที่ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรได้มีความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในโครงการ “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023” หรือ 2023 Thailand –France Year of Innovation ซึ่งเป็นโครงการยกระดับความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นกิจกรรมด้านส่งเสริมการใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ภายใต้แนวคิด "Innovation" goes far beyond any scientific or technological revolution” รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ในส่วนของการเข้าร่วมงาน COSMETIC360 จัดเป็นโครงการความร่วมมือสำคัญที่ฝรั่งเศสและไทยได้มีความร่วมมือกัน โดยนอกจากการออกบูทสินค้านวัตกรรมของไทยแล้ว ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัท สไปก์ อาร์ชิ เทคโทนิคส์ จำกัด (Spike Architectonics) และ DR. MICHÈLE AOUIZERATE PELLETIER ทั้งนี้บริษัท Spike Architectonics เป็นบริษัท Deep-tech สตาร์ตอัปไทย โดยใช้ผลงานวิจัยของ สวทช. ที่มีการใช้เทคโนโลยีสร้างช่องทางสู่ผิวหนังขนาดไมโครด้วยแสงบนวัสดุผืนผ้า ในรูปแบบมาสก์หรือแผ่นแปะ ที่มีลักษณะพิเศษสามารถดีไซน์ได้ตามความต้องการของลูกค้า ขณะที่ DR. PELLETIER เป็นนวัตกรชาวฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Photobiomodulation รวมถึงเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Morphological และ anti-aging medicine โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของการพัฒนาความร่วมมือทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมของทั้ง 2 ประเทศอีกด้วย การเข้าร่วมงาน COSMETIC360 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในครั้งนี้ ทีมประเทศไทยมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น การเจรจาธุรกิจร่วมกับบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำระดับโลก, การสัมมนาวิชาการ,  การเยี่ยมชมธุรกิจ ณ บริษัทชั้นนำ รวมทั้งรับทราบแนวโน้ม/ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและตลาดโลก เป็นต้น เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพและขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการสามารถใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม และประสบการณ์ที่ได้รับ นำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดและพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยสามารถแข่งขันในตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป
ข่าวประชาสัมพันธ์