ผลการค้นหา :

จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.1 – ก.อุตสาหกรรม ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ดันผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนนอก
ก.อุตสาหกรรม ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ดันผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนนอก พร้อมชูไอเดีย “Green SMEs” ในเวทีโลก กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผนึกกำลังกับ 3 หน่วยงานหลักด้านการวิจัยและเทคโนโลยีของไทย ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดึงองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การ ยูนิโด) ดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand เพื่อคัดเลือก SMEs กลุ่ม Start-up เข้าร่วมฝึกอบรมและนำเสนอผลงาน ผ่านการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ชิงเงินทุนพัฒนากิจการกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,100,000 บาท และมีโอกาสเจรจาธุรกิจร่วมลงทุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในงาน Cleantech Open เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/news/21912-greensmes
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.1 – ก.วิทย์ฯ จับมือ 11 หน่วยงาน หนุนจัดงาน Startup Thailand 2016
ก.วิทย์ฯ จับมือ 11 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน หนุนจัดงาน Startup Thailand 2016 เพื่อผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือ 11 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนลงนามบันทึกความร่วมมือ ประกอบด้วยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เครือข่ายประชารัฐ ภาคเอกชน และประชาคมสตาร์ทอัพไทย จัดงาน Startup Thailand 2016 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2559 – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ตามนโยบายของรัฐบาล จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติมอบหมายให้กระทรวงวิทย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการ National Campaign Startup Thailand เพื่อเป็นการระดมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ของประเทศให้มารวมตัวกัน โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานความร่วมมือทั้ง 11 หน่วยงาน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายที่จะตอบโจทย์รัฐบาลด้วยการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ 11 หน่วยงาน สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ โดยการจัดงาน Startup Thailand 2016 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2559 – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ (Scalable) สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด (High growth) ด้วยการระดมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ของประเทศให้มารวมตัวกัน เปิดโอกาสให้พบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน ตลอดจนสร้างความตระหนักและความตื่นตัวให้กับทุกคนในสังคมในการเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา นักเรียนอาชีวะ ผู้ที่จบการศึกษาและทำงานมาระยะหนึ่ง เกษตรกรยุคใหม่ ผู้บริหารองค์กร บริษัท หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีการบ่มเพาะให้บริการหรือมีกิจกรรมส่งเสริม startup และผู้ประกอบการ SMEs อันจะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการขึ้นในประเทศไทยและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน งานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Startup Unite” ซึ่งเป็นการรวบรวม Startup และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับ Startup ทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเน้นการใช้สินค้าและบริการของ Startup ในการจัดงาน อาทิ การใช้แอปพลิเคชันของ Startup นอกจากนี้ยังมีการเสวนาและปาฐกถาพิเศษจากทั้งในและต่างประเทศ เช่น “วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วย Startup Thailand” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “การขับเคลื่อน Startup Thailand : ฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย” โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และการเสวนา “โอกาสของการเติบโตของ Startup ไทยในเวทีโลก” เป็นต้น พร้อมด้วยนิทรรศการแสดงผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการเงิน/การธนาคารมหาวิทยาลัยinternational showcase และ future of industry startup ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ และเกิดแรงบันดาลใจสร้างธุรกิจให้ก้าวหน้าและสร้างรายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.1 – ITAP สวทช. หนุน SME สร้างผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ โชว์ในงาน TIFF2016
ITAP สวทช. หนุน SME สร้างผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ พร้อมอวดโฉมในงาน TIFF2016 ณ งาน TIFF2016 อิมแพ็คเมืองทองธานี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัดพิธีเปิดนำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โครงการ “อัพไซคลิ่ง : สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ด้วยการออกแบบ (Upcycling : Value Creation with Design)” โดยการแปลงเศษวัสดุหรือขยะที่เหลือทิ้งจากการผลิตที่มีจำนวนมหาศาลในโรงงาน สู่แนวคิด ‘การบริหารจัดการกับขยะ’ เป็น ‘การออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืน’ ผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านดีไซน์เท่ สวยงาม ไม่เหมือนใคร พร้อมอวดโฉมผลงานที่ได้สร้างสรรค์โดยผู้ประกอบการ 5 ราย กว่า 30 ชิ้น ในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2559 (TIFF 2016) ระหว่างวันที่ 9 - 13 มีนาคม 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็คเมืองทองธานี นับเป็นอีกหนึ่งแรง ‘ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ’ ตามนโยบายของรัฐบาล อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/news/21909-tiff2016
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.1 – สวทช. ก.วิทย์ จับมือ มทร.ธัญบุรี ขยายเครือข่าย ITAP หนุน SME ในพื้นที่ภาคกลาง
สวทช. ก.วิทย์ จับมือ มทร.ธัญบุรี ขยายเครือข่าย ITAP หนุน SME ในพื้นที่ภาคกลาง เติบโตยั่งยืนด้วยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ในการดำเนินงานเครือข่ายโปรแกรม ITAP ในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวคือ มหาวิทยาลัยฯ จะนำกลไก ITAP ไปใช้ในการสนับสนุน SME ซึ่งประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศจะได้รับ คือ จะเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหา และทำวิจัยพัฒนา ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขามากขึ้น เข้าถึงเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น และจะมีจำนวน SME ที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/news/21892-itap
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ปี 2 ฉ.1 – ก.วิทย์ฯ โดย สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตร โชว์นวัตกรรมระบบราง พัฒนาโดยคนไทย
ก.วิทย์ฯ โดย สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตร โชว์นวัตกรรมระบบราง พัฒนาโดยคนไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) และ Railway Technical Research Institute (RTRI) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแถลงข่าวการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” (The Second Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE2) "Railway Standard and Thai Railway Parts Manufacturing") ระหว่างวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2559 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบรางของประเทศไทยที่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้จริง และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนระบบราง รวมทั้งนำเสนอความก้าวหน้าของการพัฒนาชิ้นส่วนระบบรางในต่างประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนที่ดีในการนำมาประยุกต์และต่อยอดขยายผลในประเทศไทย อันเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งพา ตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/news/21874-nstda
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ฉบับที่ 12 ประจำเดือนมีนาคม 2559
ข่าว
นักวิจัย สวทช. คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2559
นักวิจัย นาโนเทค คว้ารางวัลในงานประชุมวิชาการ Natpro6
สวทช. จับมืออิสราเอล จัดสัมมนาเทคโนโลยีการเกษตรก้าวหน้า และการบริหารจัดการน้ำ
ก.วิทย์ฯ สวทช. ร่วมกับพันธมิตร จากหิ้งสู่ห้างขยายผลโครงการ Thailand Tech Show ครั้งที่ 3
มูลนิธิไอทีตามพระราชดำริฯ และ สวทช. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย ใช้นวัตกรรมไอทีพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก
สภาหอการค้าฯ จับมือ สวทช. และ สทอภ. หนุนเอสเอ็มอีสินค้าผักและผลไม้ไทย ด้วย ThaiGAP'60
บทความ
ไบโอเทคพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม
ปฏิทินกิจกรรม
"Service Innovation: The Future of Value creation" นวัตกรรมบริการ กลยุทธ์เพื่อการสร้างคุณค่าเชิงธุรกิจยุคใหม่
Download เอกสารฉบับเต็ม [5.51 MB]
.
จดหมายข่าว สวทช.

จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – สภาหอการค้าฯ จับมือ สวทช. และ สทอภ. หนุนเอสเอ็มอีสินค้าผักและผลไม้ไทย
สภาหอการค้าฯ จับมือ สวทช. และ สทอภ. หนุนเอสเอ็มอีสินค้าผักและผลไม้ไทย เตรียมความพร้อมสู่เออีซี ด้วย ThaiGAP ในปี 2560 16 ก.พ. 59 ณ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ - สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เผยผลสำเร็จโครงการความร่วมมือ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” ในด้านผลการดำเนินงาน การขยายผล และการเชื่อมโยงไปสู่คณะกรรมการเกษตรสมัยใหม่ นับเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะมีผู้ประกอบการ 50 ราย ได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการบูรณาการความร่วมมือการสร้างความรับผิดชอบด้านความ ปลอดภัยของสินค้า โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของไทย ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โปรแกรม ITAP สวทช. จัดทำโครงการ “ยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” เพื่อพัฒนาผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ในประเทศ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP ยังมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดย QR Code ที่ได้รับความร่วมมือจาก GISTDA ด้วยการสแกน QR Code ที่ติดบนผลิตผล สามารถสอบกลับไปถึงตำแหน่งที่ตั้งของฟาร์มผลิต รายละเอียดของเกษตรกรที่ขอการรับรองระบบการผลิต ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ มาตรฐาน ThaiGAP เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดเป็นมาตรฐานของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนระบบการ ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม มีการนำไปปฎิบัติใช้จริง และได้รับการยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและในตลาดสากล”
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก
ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมนำผลงานวิจัยและพัฒนา เพื่อลดการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก โดยมีผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเกล็ดซีโอไลท์ ชุดตรวจไวรัสเดงกี่ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำ สเปร์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง มุ้งนาโน หินแก้วรูพรุนไล่ยุง โปรแกรมทันระบาด และการฉายรังสีในการทำหมันยุงลาย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตระหนักถึงความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อประชาชน ที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปมีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะช่วงนี้มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ กระทรวงฯ มีงานวิจัยหลากหลายที่ใช้ในการจัดการยุงและโรคที่เกิดจากยุง เช่น การใช้รังสีทำหมันยุง สารชีวภาพกำจัดลูกน้ำยุง สเปรย์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง ชุดตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก วัคซีนไข้เลือดออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเกล็ดซีโอไลท์ ที่บริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งพัฒนาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเกล็ดซีโอไลท์นี้ คือ สามารถนำมาใช้แทนทรายอะเบท ซึ่งมีปัญหาที่ทำให้คนไม่อยากใช้ คือ มีกลิ่นเหม็นและน้ำเป็นฝ้า และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สวทช. มีงานวิจัยภายใต้คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำได้อย่างทันท่วงที และจากการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย และโรคจากไวรัสซิกา โดย สวทช. มีผลงานวิจัยเพื่อรับมือกับยุงและโรคจากยุง เช่น ชุดตรวจโปรตีน NS1 ของไวรัสเด็งกี่ที่แยกซีโรทัยป์ได้ทันที ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ชุดตรวจโปรตีน NS1 จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยโรค ช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้ทันทีในการรักษาหรือให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้เกิดอาการรุนแรง จนถึงขั้นช็อคและเสียชีวิต เทคโนโลยีนี้เปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจขออนุญาตใช้สิทธิหรือร่วมวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ สวทช.โดยไบโอเทค ยังได้ร่วมกับนักวิจัยจาก จุฬาฯ มหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2543 โดยวิจัยทั้งวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ และวัคซีนชนิดอนุภาคเสมือนไวรัส ขณะนี้สร้างวัคซีนตัวเลือก ได้ครบทั้ง 4 ซีโรทัยป์แล้ว และผ่านการทดสอบในหนูทดลองแล้ว พบว่าได้ผลดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในลิง ซึ่งจากผลการทดสอบเบื้องต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวัคซีนที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อทำการทดสอบในอาสาสมัคร ระยะที่ 1 ต่อไปในปี 2560 นี้ ในระหว่างที่นวัตกรรมด้านวัคซีนและยายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ การกำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ตรงจุดและรวดเร็วที่สุด ในขณะนี้ การควบคุมตัวยุงโดยใช้สารเคมีหรือหมอกควันไล่ยุง อาจกำจัดยุงได้ไม่มากนัก การควบคุมประชากรยุงจึงควรควบคุมที่ระยะลูกน้ำควบคู่กันไป การใช้จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการใช้สารเคมี เนื่องจากมีความปลอดภัยและต้นทุนต่ำกว่า Bacillus thuringiensis sub.sp. Israelensis (Bti) Bacillus sphaericus (Bs) เป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษฆ่าลูกน้ำยุงลาย และยุงรำคาญ และยุงก้นปล่องได้ ไม่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงในแหล่งน้ำดื่มและน้ำใช้อย่างปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไม่มีฤทธิ์ตกค้างเหมือนการใช้สารเคมี สามารถควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงได้นาน 2 เดือน ปัจจุบันสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จากบริษัท TFI Green Biotechnology ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์จาก สวทช. แล้ว สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยี ยังได้พัฒนา "สเปรย์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง" โดยใช้เทคโนโลยีป้องกันการระเหยของน้ำมันหอมระเหย หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีการกักเก็บ (Encapsulation Technology) โดยใช้องค์ประกอบนาโนกักเก็บน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพในการไล่ยุง จึงทำให้ได้สูตรตำรับนาโนอิมัลชั่นที่มีฤทธิ์ไล่ยุงและมีความคงตัวของน้ำมันหอมระเหยได้นาน อย่างน้อย 3.5 - 4.5 ชั่วโมง และยังช่วยปกป้องผิวหนังได้อย่างอ่อนโยน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนัง ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการทดสอบทางคลินิกแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง อีกทั้งสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น สเปรย์ไล่ยุงเนื้อเบา โลชั่นไล่ยุง แผ่นแปะไล่ยุง นอกจากนี้ นาโนเทค / สวทช. ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับไล่ยุงอีกหลายหลาย เช่น มุ้งนาโน โดยได้พัฒนาสารสกัดเลืยนแบบสารเก๊กฮวย ดาวเรือง และนำมาเคลือบเส้นใยสำหรับทำมุ้งนาโน ซึ่งเมื่อยุงสัมผัสสารเคลือบดังกล่าว จะทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในที่สุด อีกทั้งยังได้คิดค้น "หินแก้วรูพรุนไล่ยุง" โดยใช้เทคโนโลยีนาโนในการกักเก็บกลิ่นตะไคร้หอมไว้ในหินแก้วรูพรุน ทำให้สามารถไล่ยุงได้นานกว่า 2 เดือน นอกเหนือจากการไล่ยุงแล้ว สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาซอฟต์แวร์สนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดของโรคไข้เลือดออกในเชิงรุก ที่เรียกว่า "โปรแกรมทันระบาด" โดยพัฒนาระบบการสำรวจจำนวนลูกน้ำยุงลายในพื้นที่แบบ mobile application ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบ ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงระบาดวิทยาและข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ตามมุมมองของผู้ใช้งานและจัดทำรายงานได้อย่างอัตโนมัติ โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ ทำงานบนแท็บเล็ตแอนดรอยด์ รองรับการบันทึกข้อมูลการสำรวจในรูปข้อความและภาพถ่าย แบบ On-line และ Off-line อ้างอิงพิกัดสถานที่สำรวจลูกน้ำยุงลายด้วยเทคโนโลยี GPS แสดงผลรายงานพิกัดสถานที่สำรวจลูกน้ำยุงลายบนแผนที่ Google Map พร้อมแสดงบ้านที่พบและไม่พบลูกน้ำยุงลาย ถ่ายโอนข้อมูลการสำรวจไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายอย่างอัตโนมัติ ประมวลผลสถานการณ์การระบาดฯและดัชนีทางกีฏวิทยาแบบ real-time ทั้งนี้ การดำเนินงานสำรวจและทดสอบระบบในเบื้องต้น ได้ดำเนินงานร่วมกับ สคร.13 ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่ทดสอบไปยังจังหวัดอื่นๆ ในด้านการฉายรังสีทำหมันยุงลาย ดร.กนกพร บุญศิริชัย หัวหน้าโครงการวิจัยด้านชีววิทยาประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ได้เปิดเผยว่า หลังจากมีการเผยแพร่เรื่องการทำหมันยุงเพื่อลดปริมาณยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไวรัสซิก้า ไวรัสเดงกี่ ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชนนั้น กระทรวงวิทย์ ฯ โดย สทน. ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อการทำหมันแมลง พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และห้องปฏิบัติการฉายรังสี เพื่อฉายรังสียุงลาย และร่วมทดสอบในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตยุงลายที่เป็นหมันให้เพียงพอต่อการลดจำนวนยุงลายในธรรมชาติ และทำให้การเกิดโรคที่ยุงลายเป็นพาหะลดลง โดย สทน. จะรับผิดชอบในขั้นตอนการฉายรังสีให้ยุงลายเป็นหมัน ซึ่งหน้าที่นี้เป็นขั้นตอนสำคัญ และถือว่าเป็นความเชี่ยวชาญของ สทน. และประสบความสำเร็จในการฉายรังสีแมลงวันผลไม้ จนสามารถพัฒนาพันธุ์แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันที่เป็นพันธุ์เฉพาะของประเทศไทยได้ มีโรงเลี้ยงแมลงและฉายรังสีแมลงขนาดใหญ่พร้อมฉายรังสีแมลงหรือยุงในปริมาณมากๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ห้องปฏิบัติการฉายรังสีแห่งนี้ได้รับการรับรองจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ให้เป็นปฏิบัติการฉายรังสีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย และ สทน. มีความพร้อม 100% ในการร่วมปฏิบัติงานในโครงการทำหมันยุงครั้งนี้
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – มูลนิธิไอทีตามพระราชดำริฯ และ สวทช. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย ใช้นวัตกรรมไอทีพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
มูลนิธิไอทีตามพระราชดำริฯ และ สวทช. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย ใช้นวัตกรรมไอทีพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 3 กุมภาพันธ์ 2559 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 แห่งทั่วประเทศ สานต่อแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประยุกต์ใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาทักษะที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เยาวชน โดยมี บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนโครงการ ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สร้าง Innovation Space : ขยายโอกาสพัฒนาทักษะนวัตกรรมไอที ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ไอทีในการเพิ่มคุณภาพชีวิต การพัฒนาการศึกษาแลการเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ผู้ด้อยโอกาส กระทั่งปัจจุบันในปี 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานในระยะต่อไป และช่วยให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริแนวทางในการดำเนินงานส่วนหนึ่งว่า “ให้เผยแพร่ส่วนที่สำเร็จด้วยดีแก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้รับช่วงต่อในเรื่องของการขยายผลในวงกว้างต่อไป” ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ใกล้ชิดกับโรงเรียนในชนบท และมีพื้นที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในการสานต่อและเผยแพร่กิจกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนยีสารสนเทศในการเรียนการสอนตามแนวทางของโครงการเทคโนยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาโรงเรียนในโครงการ และยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต ช่วยเตรียมความพร้อมของครูยุคใหม่ในการใช้ไอซีทีจัดการเรียนการสอนในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาครูยุคใหม่อย่างน้อย 1,200 คน/ปี และสามารถขยายผลโรงเรียนในท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 120 แห่ง และร่วมสร้างบทเรียนออนไลน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 อย่างน้อย 12 เรื่อง เพื่อเปิดบริการบทเรียนออนไลน์ฯ และฝึกภาคปฏิบัติให้แก่ครูในท้องถิ่นได้ต่อไป ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการขยายผลการประยุกต์ใช้ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จำนวน 4 กิจกรรมคือ กิจกรรมเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (embedded technology) กิจกรรมการใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ (Project-based Learning using ICT) การสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-Printer และบทเรียนบนระบบสื่อสารออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลฯ (MOOC) โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 13 แห่งใน 4 ภูมิภาค และหน่วยงานเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยราชภัฏ 12 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระราชูปถัมภ์ฯ และภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมดำเนินงานโดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้การทำงานของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Inventions Lab) ที่ได้มุ่งออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว และนำไปประยุกต์ใช้กับเยาวชน ให้เยาวชนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวและการเขียนโปรแกรม เพื่อเสริมสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ การคิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร ฝึกตนจนติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต 3. บริษัท อินเทลไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความ สามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ผ่าน Innovation Space นางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ด้วยความเชื่อว่านวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และจะช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน อินเทลจึงมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ด้วยเทคโนโลยี ผ่าน Innovation Space ที่จัดร่วมกับหลายภาคส่วน รวมถึงโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาหรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ได้ลองเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้ออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ที่ประยุกต์ใช้หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ เช่น ชุดอุปกรณ์ อินเทล กาลิเลโอ (Intel Galileo) สร้างอุปกรณ์ที่สามารถรับข้อมูลจากสภาพแวดล้อมแล้วทำงานตามที่นักเรียนออกแบบโปรแกรมไว้ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่อไป ทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะมีคุณค่ามากในวันข้างหน้าที่โลกมุ่งเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things - IoT) ดังนั้น Innovation Space จึงเป็นทั้งพื้นที่และโอกาสที่เยาวชนไทยจะได้ลงมือประดิษฐ์คิดค้นด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านนวัตกรรม เกิดแรงบันดาลใจในการใช้เทคโนโลยีไปทำสิ่งที่มีประโยชน์โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสนองพระราชดำริเป็นช่องทางสำคัญที่จะขยายโอกาสนี้สู่ท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น”
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – ก.วิทย์ฯ สวทช. ร่วมกับพันธมิตร นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างขยายผลโครงการ Thailand Tech Show ครั้งที่ 3
ก.วิทย์ฯ สวทช. ร่วมกับพันธมิตร นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างขยายผลโครงการ Thailand Tech Show ครั้งที่ 3 3 กุมภาพันธ์ 2559 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ – หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือพันธมิตรกว่า 19 แห่ง เดินหน้านำ 153 เทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน ครอบคลุมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น จัดแสดงในงาน Thailand Tech Show ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 23 - 24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการและ SMEs ที่สนใจนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม โดยพิเศษสุดในปีนี้ เตรียมเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้าถึงผลงานวิจัยด้วยการจัดงาน Thailand Tech Show ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโต เกิดความมั่งคั่ง อย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในนาม "ประชารัฐ" เพื่อสร้าง Common Ground ให้ทุกคนมีที่ยืนร่วมกัน และ Common Goal สานฝันร่วมกันนั้น รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐของคณะทำงานด้านยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ โดยมีคุณกานต์ ตระกูลฮุน จากบริษัท เอส ซี จี จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน จากนโยบายและการตั้งคณะทำงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าหากประเทศของ เราจะก้าวผ่านจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้นวัตกรรมเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดการเพิ่มมูลค่าจากการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและเทคโนโลยี โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า “หิ้งสู่ห้าง” เป็นหนึ่งในโครงการที่แสดงให้เห็นถึงการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. หน่วยงานในสังกัดอื่นๆ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาให้เอกชนสามารถเข้าถึงและนำงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย ด้วยขั้นตอนการดำเนินการที่สั้น ลดเวลาในการเจรจา ด้วยค่าธรรมเนียมที่เท่ากันในทุกรายการ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว มีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากครั้งที่ 1 (จาก 12 ราย เป็น 46 ราย) โดยให้ความสนใจเทคโนโลยีกลุ่มเภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอางสูงที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โครงการฯ นี้ถือเป็นแหล่งรวมงานวิจัยที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ในจุดเดียวอย่างแท้จริง โดยการจัดงานในครั้งที่ 2 ที่ผ่านมามีภาคเอกชนทั้งหมดตอบรับและให้ความสนใจจองเทคโนโลยีถึง 72 เทคโนโลยี จากทั้งหมด 82 เทคโนโลยี จาก 9 หน่วยงานพันธมิตร มีผู้ลงนามในสัญญาขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเรียบร้อยแล้ว 2 ราย และอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และรอลงนามอีก 28 ราย อยู่ในกระบวนการหารืออีกกว่า 120 ราย ซึ่งโครงการฯ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ สวทช. ยังคงได้รับเกียรติจากสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาร่วมเป็นพันธมิตรมากขึ้น ถึง 19 หน่วยงาน รวมผลงาน 153 เทคโนโลยี ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น โดยผลงานทั้งหมดจะนำมาจัดแสดงในงาน Thailand Tech Show วันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งหวังว่าภาคเอกชนจะให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากขึ้น จึงอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจมารับฟังข้อมูล สัมผัสกับผลงานวิจัยด้วยตัวท่านเอง โดยจะมีเจ้าของผลงานมาคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดการจัดงาน นอกจากนี้ เรายังได้เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ด้วย โดยมีแผนที่จะจัดงาน Thailand Tech Show ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น และ จ.สงขลา ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2559 นี้ด้วย
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – สวทช. จับมืออิสราเอล จัดสัมมนาเทคโนโลยีการเกษตรก้าวหน้า และการบริหารจัดการน้ำ
สวทช. จับมืออิสราเอล จัดสัมมนาเทคโนโลยีการเกษตรก้าวหน้า และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยในอนาคต 29 มกราคม 2559 ณ อาคารไบโอเทค สวทช. จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานสัมมนา "Technologies for agriculture in dryland: Case study from Israel" โดยเชิญนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำของอิสราเอลมา บรรยาย เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ก้าวหน้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับภัยแล้งของภาคการเกษตรของไทย รวมถึงเพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านวิจัยระหว่างประเทศไทยและประเทศอิสราเอล ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “อิสราเอลเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและทุ่มงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยสำหรับการวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างมากและต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้กลไกสนับสนุนและจูงใจต่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน ซึ่งอิสราเอลมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (มากกว่า 4% ของ GDP) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่ง สวทช. ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2552 จากการริเริ่มผลักดันผ่านช่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรระหว่างสองประเทศที่กว้างขวาง รวมถึงความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการและการวิจัย อาทิ งานสัมมนาวิชาการประจำปี ไทย-อิสราเอล (the Annual Thai - Israeli Science & Technology Cooperation Conference) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การส่งนักวิจัย/นักวิชาการเข้าฝึกอบรมและทำวิจัยระยะสั้นที่อิสราเอล ตลอดจนงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญเป็น พิเศษ เป็นต้น” “เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต สวทช. ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำของอิสราเอล 2 ท่าน คือ รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทช์ (Associate Professor Dr. Naftali Lazarovitch) จาก Ben-Gurion University of the Negev ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง "Water, solute, and heat movement in the root zone: From measurements and models towards optimizing irrigation scheduling" ถือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะนำมาใช้ในการสร้างแบบจำลองระบบการชลประทานให้น้ำ (irrigation) และการให้ปุ๋ยทางระบบการให้น้ำ (fertigation) อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการของการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) โดย รศ.ดร.นัฟตาลี ยังให้ความสนใจงานวิจัยที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนไปด้วย และ ดร.อูหริ เยอมิยาฮู (Dr. Uri Yermiyahu) นักวิทยาศาสตร์จาก Gilat Research Center, Agricultural Research Organization ซึ่งบรรยายเรื่อง "Integrative view of plant nutrition" มุมมองเชิงบูรณาการของธาตุอาหารในพืช ซึ่งมุ่งศึกษาการให้ธาตุอาหารเพื่อการเพิ่มปริมาณ และคุณภาพของผลผลิตในผักและผลไม้ให้สูงขึ้น นอกจากนั้น ดร.อูหริ ยังให้ความสำคัญกับการนำน้ำเสีย (ที่ผ่านกระบวนการบำบัด) น้ำกร่อย และน้ำเค็มมาใช้กับการเพาะปลูกด้วย ซึ่งอิสราเอลเป็นประเทศที่มีอัตราการบำบัดน้ำเสียเพื่อกลับมาใช้งานใหม่สูง ถึง 75% โดยน้ำเสียที่บำบัดแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกนำมาใช้งานในภาคการเกษตร” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่กว่า 2 ใน 3 ของอิสราเอลเป็นพื้นที่แล้งและเป็นทะเลทรายที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมทั้งมีแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติอยู่น้อย อิสราเอลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จ เช่น ระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) การให้ปุ๋ยทางระบบการให้น้ำ (Fertigation) การแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภค-บริโภค (Desalination) การนำน้ำเสียจากการอุปโภคกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม (Wastewater treatment) เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันนอกจากจะสามารถผลิตอาหารเพื่อบริโภคภายในประเทศได้อย่างพอเพียงแล้ว ยังสามารถส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปขายในภูมิภาคต่างๆ ได้อีกด้วย
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – นักวิจัย นาโนเทค คว้ารางวัลในงานประชุมวิชาการ Natpro6
นักวิจัย นาโนเทค คว้ารางวัล ในงานประชุมวิชาการ Natpro6 เมื่อ 21-23 มกราคม ที่ผ่านมา ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและความงาม ครั้งที่ 6 หรือ The 6th International Conference on Natural Products for Health and Beauty (NATPRO6) ณ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเวทีนำเสนองานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัยด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการได้รับความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความงามในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งเปิดโอกาสให้สร้างเครือข่าย ความสัมพันธ์ในการทำงานวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งนี้มีนักวิจัยและผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานในงานดังกล่าว จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1. ดร.สกาว ประทีปจินดา นักวิจัยห้องปฏิบัติการนาโนเวชสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.ได้รับรางวัล "Excellence Oral Presentation Award" ในการนำเสนอผลงานเเบบ oral presentation ในหัวข้อเรื่อง "Characterization of sericin extracted from white raw silk by re-crystallization process" 2. นายคุณัช สุขธรรม ผู้ช่วยวิจัยห้องปฏิบัติการระบบนำส่ง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.ได้รับรางวัล "Excellence Oral Presentation Award" ในการนำเสนอผลงานเเบบ oral presentation ในหัวข้อเรื่อง "Development and Characterization of Hinoki nanoemulsion as a carrier for delivery system" 3. นางสาวพิชชาพร บุญวัชรพันธ์สกุล ผู้ช่วยวิจัยห้องปฏิบัติการนาโนเวชสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.ได้รับรางวัล "Very Good Poster Presentation Award" ในการนำเสนอผลงานเเบบ Poster presentation ในหัวข้อเรื่อง "Comparison of sericin from different types of silk for cosmeceutical products" นอกจากนี้ ศูนย์นาโนเทค ได้นำงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของ Flagship มานำเสนอเช่น ผลิตภัณฑ์ไล่ยุ่ง ผลิตภัณฑ์จากน้ำกาวไหม สิ่งทอ โลชั่นบำรุงผม เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย