หน้าแรก ค้นหา
ผลการค้นหา :
หนังสือ 3 ทศวรรษ วิสัยทัศน์การวิจัยของ สวทช.
เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี สวทช. ได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการบันทึกและเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนา และแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่นักวิจัย สวทช. ทำขึ้น และได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ โดยเน้นไปที่การคัดเลือกผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง และสร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศ จนได้รับการเผยแพร่และการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางจากสื่อมวลชน รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาตินอกจากนี้ ยังจัดทำบทสัมภาษณ์ผู้บริหาร เพื่อเป็นการถอดบทเรียน เบื้องหลังการผลักดัน กำหนดทิศทาง และวิสัยทัศน์ ในการดูแลให้งานวิจัยตอบโจทย์ประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ ทิศทางการเกษตรและอาหาร สุขภาพการแพทย์ ดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มีการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของ สวทช. เทียบกับเหตุการณ์สำคัญของประเทศและของโลก เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า สวทช. ปรับตัวมากเพียงใดต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆตลอด 3 ทศวรรษ ปี สวทช. มีการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยจุดแข็งคือ กำลังคนที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญและศักยภาพในระดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือและมีหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง ร่วมงานกันเสมอมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะฉายภาพ “ความเป็น สวทช.” ให้ผู้อ่านได้เห็น ไม่มากก็น้อยตอนที่ 1 ไทม์ไลน์ (Timeline)Download PDF Timeline Flip Book ตอนที่ 2 สวทช. เป็น อยู่ คือ (Where We Are)Download PDF Where We Are Flip Book ตอนที่ 3 สวทช. ในพริบตา (NSTDA@ a Glance)Download PDF NSTDA@ a Glance Flip Book ตอนที่ 4 ทวนอดีต (Retrospective)Download PDF Retrospective Flip Book ตอนที่ 5 มองไปข้างหน้า (From Now Onwards)Download PDF From Now Onwards Flip Book ตอนที่ 6 หอเกียรติยศ (Hall of Fame)Download PDF Hall of Fame Flip Book ตอนที่ 7 จากนวัตกรรมการวิจัยสู่คุณค่าทางเศรษฐกิจ (From Research Innovation to Economic Values)Download PDF From Research Innovation to Economic Values Flip Book ตอนที่ 8 สวทช. เพื่อสังคม (NSTDA's Social Impacts)ตอนที่ 9 เราคือทีมเดียวกับ (You Are Our Team)ตอนที่ 10 พีระมิดการสั่งการ (Pyramid of Orders)Download PDF NSTDA's Social Impacts You Are Our Team / Pyramid of Orders Flip Book ตอนที่ 11 ยินดีให้บริการ (Your Need is Our Service)Download PDF Your Need is Our Service Flip Book ตอนที่ 12 วิสัยทัศน์ ค่านิยมหลัก และการกิจ (Visions, Core Values & Mission)Download PDF Visions, Core Values & Mission Flip Book
เอกสารเผยแพร่
 
นักศึกษาตอบสนองอย่างไรต่อราคาตำราเรียนที่สูงและต้องการทางเลือกใหม่
The Student PIRGs (The Student Public Interest Research Groups) ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อค้นหาผลของราคาตำราเรียนที่สูงที่มีต่อนักศึกษาและการศึกษาในมหาวิทยาลัย และเพื่อประเมินความสนใจของนักศึกษาในทางเลือกใหม่นอกจากตำราเรียนแบบดั้งเดิม สิ่งที่พบจากการศึกษา ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงของปี 2013 the Student PIRGs ทำการสำรวจจากนักศึกษา 2,039 คน จากมากกว่า 150 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย สิ่งที่พบหลัก คือ 1. ราคาตำราเรียนที่สูงขัดขวางนักศึกษาจากการซื้อวัสดุที่ถูกสั่งถึงแม้มีความห่วงใยเกรด - 65% ของนักศึกษา ให้ความเห็นว่า ไม่ซื้อตำราเรียนเพราะว่าแพงเกินไป - 94% ของนักศึกษา ซึ่งไม่ซื้อตำราเรียนรู้สึกกังวลว่าการทำแบบนี้จะมีผลเสียต่อเกรด 2. ราคาตำราเรียนที่สูงมีผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาอื่น ๆ ของนักศึกษา - เกือบครึ่งหนึ่งของนักศึกษาที่ถูกสำรวจ ตอบว่าราคาของตำราเรียนมีผลต่อกี่ชั้นเรียนหรือชั้นเรียนไหนที่นักศึกษาจะเข้าเรียนในแต่ละภาคการศึกษา 3. นักศึกษาเชื่อว่าทางเลือกใหม่ของสิ่งที่พิมพ์ออกมาและใช้ได้ฟรีผ่านออนไลน์นอกจากตำราเรียนแแบบดั้งเดิมจะทำให้การปฏิบัติดีขึ้น - 82% ของนักศึกษารู้สึกว่าจะทำได้ดีขึ้นอย่างชัดเจนในหลักสูตร ถ้าตำราเรียนมีให้ฟรีออนไลน์และการซื้อสิ่งที่พิมพ์ออกมาเป็นทางเลือก - นักศึกษาสนับสนุนตำราเรียนที่มีให้ฟรีออนไลน์และการซื้อสิ่งที่พิมพ์ออกมาเป็นทางเลือก ชี้ให้เห็นโดยตรงว่า ตำราเรียนแบบเปิด (open textbooks) เป็นต้นแบบในอุดมคติเพื่อแทนที่ตำราเรียนแบบดั้งเดิม สรุปจากการศึกษา ราคาตำราเรียนที่สูงจะเป็นปัญหาสำหรับนักศึกษาถ้าราคาตำราเรียนที่ถูกจัดพิมพ์ใหม่ที่สูงไม่ลดลง นอกจากนี้การศึกษาครั้งนี้ยังแสดงว่านักศึกษาพร้อมสำหรับทางเลือกใหม่นอกจากตำราเรียนแบบดั้งเดิมในห้องเรียน ตำราเรียนแบบเปิดเป็นต้นแบบในอุดมคติ ซึ่งนักศึกษาในการสำรวจรู้สึกว่าจะทำให้การปฏิบัติในห้องเรียนดีขึ้น ในขณะที่การจัดให้มีในปัจจุบันของตำราเรียนแบบเปิดกำลังขยายอย่างรวดเร็ว ยังครอบคลุมเพียงส่วนน้อยของหลักสูตรมหาวิทยาลัยทั้งหมด เพื่อให้มีการแข่งขันในตลาดและเพื่อทำให้ตำราเรียนแบบเปิดเป็นทางเลือกใหม่ที่แท้จริงนอกจากตำราเรียนแบบดั้งเดิม ต้องลงทุน start-up มากขึ้นในการสร้างและการพัฒนาตำราเรียนแบบเปิด คำแนะนำจากการศึกษา - นักศึกษาควรสนับสนุนโดยตรงสำหรับการใช้ตำราเรียนแบบเปิดในห้องเรียน - คณะควรพิจารณานำตำราเรียนแบบเปิดไปใช้ในห้องเรียน ควรตรวจสอบ the U. Minnesota Open Textbook Library ว่ามีหนังสือสำหรับชั้นเรียนหรือไม่ - ผู้บริหารวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยควรพิจารณาสร้างโปรแกรมนำร่องตำราเรียนแบบเปิดในวิทยาเขต สามารถดู MOST Initiative ของระบบมหาวิทยาลัยของ Maryland เป็นตัวอย่าง - สภานิติบัญญัติของรัฐและสหรัฐ ควรลงทุนสร้างและพัฒนาตำราเรียนแบบเปิดมากขึ้น ดู Open Course Library ของรัฐวอชิงตัน เป็นตัวอย่าง - สำนักพิมพ์ควรพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถผลิตหนังสือคุณภาพสูงโดยไม่กำหนดราคาที่สูงเกินไปสำหรับนักศึกษา ที่มา: Ethan Senack (January 2014). Fixing the Broken Textbook Market. the Student PIRGs. Retrieved April 19, 2022, from https://uspirg.org/reports/usp/fixing-broken-textbook-market  
นานาสาระน่ารู้
 
เปิดความก้าวหน้างานวิจัยนานาชาติ ผนึกกำลังช่วยหยุดยั้งโควิด-19
  โรคโควิด-19 เป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ที่ท้าทายคนทั้งโลก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตระหนักในความสำคัญของการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรับมือโรคระบาดใหญ่เช่นนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงได้จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ International Webinar on COVID-19 ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีสู้โรคโควิด-19 ของนานาชาติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. ร่วมเป็นผู้บรรยาย ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (17th NSTDA Annual Conference: NAC2022) ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG” ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา   เบื้องหลังความสำเร็จวัคซีน mRNA [caption id="attachment_31352" align="aligncenter" width="350"] ดร.พีเตอร์ คุลลิส (Dr. Pieter Cullis)[/caption]   ดร.พีเตอร์ คุลลิส (Dr. Pieter Cullis) ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีและอณูชีววิทยา (Molecular Biology) จากศูนย์วิทยาศาสตร์ชีวิต (Life Science Centre) เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์นาโน (Nanomedicine) กล่าวถึงการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนา LNP (Lipid Nanoparticle) หรืออนุภาคระดับนาโนที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ เพื่อพัฒนาระบบส่งยาจำพวกกรดนิวคลีอิกไปยังอวัยวะเป้าหมายและเข้าสู่เซลล์ชนิดที่จำเพาะ   การสร้าง LNP ต้องใช้ไขมันที่มีประจุบวก ทว่าในธรรมชาติมีเพียงไขมันที่มีประจุลบและไขมันที่เป็นกลางเท่านั้น อีกทั้ง LNP แบบประจุบวกส่วนใหญ่ยังมีความเป็นพิษสูงอีกด้วย จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะสร้าง LNP แบบประจุบวกที่มีประสิทธิภาพในการนำส่งสารสำคัญแต่มีความเป็นพิษน้อย ซึ่งในที่สุด ดร.คุลลิสก็ทำสำเร็จ โดย LNP ที่สร้างขึ้นสามารถใช้นำส่งส่วนประกอบต่างๆ ของระบบ siRNA ได้ จึงนำมาใช้ในการบำบัดด้วยยีนสำหรับรักษาโรคพันธุกรรมบางอย่าง เช่น โรคอะมีลอยโดซิสชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของยีน (Hereditary Amyloid Transthyretin Amyloidosis; hATTR) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ต่อมาเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการประยุกต์ใช้ LNP ที่มี mRNA เป็นส่วนประกอบ เพื่อใช้เป็นวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 โดย ดร.คุลลิสได้ทำวิจัยร่วมกับ ดร.ดรูว์ ไวส์แมน (Dr. Drew Weissman) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวอเมริกัน และ ดร.คาทาลิน คาริโค (Dr. Katalin Kariko) นักชีวเคมีชาวฮังการี ที่ต้องการวิธีนำส่งสารที่มีประสิทธิภาพดี ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer-BioNTech และ Moderna ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้าน LPN เพื่อพัฒนาระบบนำส่งยาของ ดร.คุลลิส และจากความพยายามร่วมกันเป็นเวลานานของ ดร.ไวส์แมนและ ดร.คาริโค ในการนำ mRNA มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จนเกิดผลสำเร็จเป็นวัคซีน mRNA ดังกล่าว จึงส่งผลให้ทั้ง 3 ท่าน ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2564 สาขาการแพทย์ ร่วมกัน   พัฒนาวัคซีนชนิด Protein Subunit สู้เชื้อกลายพันธุ์ [caption id="attachment_31351" align="aligncenter" width="350"] ดร.จอร์จ เอฟ. เกา (Dr. George F. Gao)[/caption]   ดร.จอร์จ เอฟ. เกา (Dr. George F. Gao) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาไวรัสและวิทยาภูมิคุ้มกัน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention) กล่าวว่า เชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีการเปลี่ยนกรดอะมิโนที่บริเวณโครงสร้างของหนาม (spike) ที่ใช้จับกับตัวรับของเซลล์มากถึง 30 ตำแหน่ง หลายตำแหน่งตรงกับที่พบในไวรัสอื่นก่อนหน้านี้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้หลบรอดระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และพบการเปลี่ยนแปลงของ 3 ตำแหน่งที่ทำให้จับกับตัวรับของสิ่งมีชีวิตได้มากชนิดยิ่งขึ้น     การกลายพันธุ์ของไวรัสกับการรับมือของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คล้ายกับ “ทอมกับเจอร์รี่” ที่หนีกันไปและวิ่งไล่กันไปตลอดเวลา ความท้าทายที่เผชิญกันอยู่ตอนนี้คือการลดลงของระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน และความสามารถในการทำให้ติดเชื้ออย่างก้าวกระโดดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์ย่อย โดยมาตรการที่ใช้รับมือตอนนี้คือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มหลังจากฉีดครบ 2 โดสแล้ว และการฉีดวัคซีนชนิดอื่นที่ต่างจากเดิม ซึ่งวัคซีนที่ผลิตเพื่อใช้ต่อสู้กับโคโรนาไวรัสตอนนี้มี 7 แบบ หนึ่งนั้นคือชนิดใช้หน่วยย่อยโปรตีน (Protein Subunit) กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะนี้มีวัคซีนชนิด Protein Subunit อยู่ 12 ชนิดที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ชนิดที่ใช้กว้างขวางที่สุดคือ Novavax ซึ่งใช้ใน 32 ประเทศ และมีวัคซีนชนิดที่ใช้ในประเทศเดียวอยู่ 7 ชนิด ทั้งนี้ ศ.เกามีส่วนร่วมในการสร้างวัคซีนชนิด Protein Subunit (ชื่อ ZF2001) ที่ออกแบบโดยนำ Receptor ต่อโปรตีนหนามของโคโรนาไวรัส 2 โมเลกุลมาเชื่อมต่อกัน เมื่อทดลองในหนูพบว่าทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 ได้ และได้กลายมาเป็นวัคซีนชนิด Protein Subunit ชนิดแรกของโลก ซึ่งต่อมาพบว่าใช้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ด้วย และจากการทดลองในหนูแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้เป็นเข็มกระตุ้นได้ดี นอกจากนี้มียาหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ชนิดแรกคือ Etesevimab ที่เป็นโมโนโคลนัลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) ชนิดฉีดที่ออกฤทธิ์กับตัวรับของโปรตีนหนามของ SARS-CoV-2 ชนิดที่สองคือ Molnupiravir ของบริษัท Merck เป็นยารับประทานซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ตัดสาย RNA ของไวรัส จึงช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสได้ ชนิดที่สามคือ Paxlovid ของบริษัท Pfizer หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Ritonavir เป็นยารับประทานที่ลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Protease ของไวรัส นอกจากนี้ยังมียาสมุนไพรพื้นเมืองของจีนเรียกว่า TCM Herbs ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ Paxlovid ด้วย   “โมโนโคลนัลแอนติบอดี” เสริมทัพวัคซีนหยุดยั้งโควิด-19 [caption id="attachment_31350" align="aligncenter" width="350"] นพ.เออร์เนสโต โอวีโด-ออร์ตา (Dr. Ernesto Oviedo-Orta)[/caption]   นพ.เออร์เนสโต โอวีโด-ออร์ตา (Dr. Ernesto Oviedo-Orta) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คลินิกของบริษัท Novartis Vaccines & Diagnostics Siena ประเทศอิตาลี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Infectious Disease Lead บริษัท Regeneron Pharmaceuticals, Inc. อธิบายถึงความสามารถของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเข้าสู่เซลล์ได้ดีที่เยื่อบุผิวของปอดและลำไส้เล็ก รวมไปถึงเยื่อบุหลอดเลือด เมื่อไวรัสเข้าเซลล์ได้จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน โดยช่วงที่แบ่งตัวมากที่สุดคือระยะที่เริ่มมีอาการป่วยน้อยไปจนถึงปานกลาง ขณะที่ตอนยังไม่มีอาการหรือเมื่อป่วยหนักแล้วเชื้อไวรัสจะแบ่งตัวน้อย   อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่ชี้ว่าสามารถใช้โมโนโคลนัลแอนติบอดี (mAb) รักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ได้ และเมื่อเปรียบเทียบวัคซีนกับ mAb พบว่ามีส่วนคล้ายกันคือมีความจำเพาะกับเชื้อโรค แต่มีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างกัน ประการแรกคือ mAb ใช้ปกป้องร่างกายจากเชื้อไวรัสได้ทันที ส่วนวัคซีนต้องใช้เวลาสร้างภูมิ ประการที่สอง mAb ออกฤทธิ์ระยะสั้นๆ ตรงข้ามกับวัคซีนที่ออกฤทธิ์ยาวนานกว่า ประการที่สาม วัคซีนกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายคล้ายกับการที่ร่างกายตอบสนองกับเชื้อโรคตามธรรมชาติ แต่ mAb ที่ฉีดเข้าไปจะเป็นตัวไปทำลายเชื้อโรคโดยตรง และประการสุดท้ายคือแอนติบอดีที่เกิดขึ้นในกรณีของวัคซีนนั้น เกิดขึ้นภายในร่างกาย แต่กรณีการฉีด mAb เป็นการรับเข้าไปจากภายนอก และเพื่อป้องกันการเกิดไวรัสที่กลายพันธุ์จนดื้อต่อ mAb ที่ใช้ฉีด ดังนั้นควรใช้ mAb มากกว่า 1 ชนิดในการฉีด ทั้งนี้ องค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา อนุมัติการใช้ mAb แล้วหลายชนิด ทั้งแบบผสมและแบบเดี่ยว ได้แก่ Casirivimab/imdevimab ของบริษัท Regeneron, Bamlanivimab/etesevimab ของบริษัท Eli Lily, Bebtelovimab ของบริษัท Eli Lily, Sotrovimab ของบริษัท GSK และ Evusheld ของบริษัท AstraZeneca ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 แล้ว mAb ยังถือเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยปิดช่องว่างสำหรับคนที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้หรือฉีดแล้วไม่กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน mAb จึงเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ได้   วัคซีนพ่นจมูกแบบ 2-in-1 ใช้งานสะดวก ป้องกันได้ 2 โรค [caption id="attachment_31349" align="aligncenter" width="350"] ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา[/caption]   ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. และผู้เชี่ยวด้านไวรัสวิทยาแถวหน้าของประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถประยุกต์ใช้ไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) ที่เหมาะสมในการผลิตวัคซีนต่อโรคโควิด-19 และการออกแบบวัคซีนที่ชื่อ นาสแว็ก (NASTVAC) โดยอาศัยการนำข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 มาสร้างสารพันธุกรรมเฉพาะที่ใช้สร้างส่วนโปรตีนหนาม (Spike) จากนั้นจึงนำไปใส่ไว้กับสารพันธุกรรมของไวรัสอื่นที่ไม่เป็นอันตราย เช่น อะดีโนไวรัส (Adenovirus)     วัคซีนที่ออกแบบนี้ใช้การฉีดพ่นทางจมูกได้ เพราะไวรัสที่เลือกมาใช้เป็นไวรัลเวกเตอร์ สามารถเกาะกับเซลล์เป้าหมายในทางเดินหายใจได้ดี จึงใช้งานได้สะดวกกว่าวัคซีนชนิดฉีด และการทดลองในหนูแสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถป้องกันหนูไม่ให้ป่วยจากโรคโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ดี โดยไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ของหนูทดลอง และวัคซีนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทั้ง 2 แบบ ทั้ง Humoral Immune Response และ Cell-Mediated Immune Response เมื่อทดลองโดยใช้ไวรัสสายพันธุ์เดลตา พบว่าสามารถป้องกันหนูไม่ให้ป่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การปรากฏตัวของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ต้องปรับโครงสร้างวัคซีน NASTVAC เวอร์ชัน 2 และ 3 ที่จะใช้ป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าวได้ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ยังคงใช้ไวรัลเวกเตอร์ชนิดอะดีโนไวรัสเช่นเดิม นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกชนิด 2-in-1 (Bivalent Vaccine) ที่ป้องกันได้ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่และ SARS-CoV-2 โดยในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะใช้การสร้างโปรตีนเลียนแบบโปรตีน HA ที่อยู่บนผิวของไวรัส ข้อดีของวัคซีน 2-in-1 คือสามารถป้องกันได้ทั้ง 2 โรคพร้อมกัน แพลตฟอร์มที่ใช้ทำให้สามารถปรับสร้างโปรตีนที่ต่างจากเดิมเล็กน้อยได้รวดเร็ว และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทั้ง 2 แบบ แต่ความท้าทายคือยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่และการหาวิธีทำให้สารพันธุกรรมเสถียรในไวรัลเวกเตอร์ยังเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยร่วมกับทีมวิจัยของ Pasteur Institute โดยทดลองในแฮมสเตอร์ แสดงให้เห็นว่าไวรัสโรคหัดน่าจะนำมาใช้เป็น “ไวรัลเวกเตอร์” ได้ดีกับกรณีวัคซีนต่อโควิด-19 เช่นกัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมอง ความคิด และประสบการณ์ระหว่างนานาประเทศจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยเร่งการพัฒนางานวิจัยให้เข้าถึงเส้นชัยได้เร็วยิ่งขึ้น และองค์ความรู้ที่เราพัฒนาขึ้นนี้จะช่วยให้เรามีความพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ และสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สามารถชมคลิปวิดีโอการสัมมนาหัวข้อ International Webinar on COVID-19 ย้อนหลังได้ที่ https://www.nstda.or.th/nac/2022/seminar/international-webinar-on-covid-19/  
BCG
 
ข่าว
 
บทความ
 
เอ็มเทคพัฒนา “Well-Living Systems” ระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยของลูกหลาน
For English-version news, please visit : Well-Living Systems to support independent living for seniors   ผ่านพ้นมาไม่นานสำหรับ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือ วันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายนของทุกปี วันสำคัญที่ชักชวนให้คนไทยหันมาใส่ใจผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งเฉพาะในปี 2565 นี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่าเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นการเร่งปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างมาก ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา “ระบบดูแลผู้พักอาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย หรือ Well-Living Systems” เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัยและอุ่นใจมากขึ้น   [caption id="attachment_31280" align="aligncenter" width="600"] ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช.[/caption] ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทคได้พัฒนาระบบ Well-Living Systems ที่จะเข้ามาเป็น “ผู้ช่วย” ของลูกๆ หลานๆ ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้านภายใต้แนวคิด “ทุกคนที่บ้านสบายดี (All is well at home)” เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทั้งผู้ใหญ่ที่บ้านและลูกหลานที่ต้องออกไปทำงาน โดยระบบมีศูนย์กลาง LANAH (Learning and Need-Anticipating Hub) ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ LANAH AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย และแจ้งเตือนผู้ดูแลเมื่อผู้สูงอายุเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ผ่านแอปพลิเคชัน LANAH App เพื่อช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย “ระบบจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ (Sensors) ที่ไม่มีกล้อง ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย เพราะทีมวิจัยมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เน้นสร้างความมั่นใจว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือได้ทันที เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย สร้างความสบายใจ ลดการพึ่งพาผู้ดูแล สนับสนุนการเป็น “สูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ Active aging” ให้ได้นานที่สุด”     ดร.สิทธา กล่าวว่า สำหรับการทำงานของระบบแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. กรณีไม่ฉุกเฉิน ใช้ AI เรียนรู้รูปแบบพฤติกรรมกิจวัตรประจำวันของผู้อยู่อาศัยเพื่อบ่งบอกถึงปัญหา ซึ่งมีตัวอย่างอุปกรณ์ 4 ระบบในแอปพลิเคชัน ได้แก่ 1) Occupancy sensor เครื่องมือสังเกตการณ์บุคคลที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ของบ้าน เรียนรู้พฤติกรรมการใช้เวลาในบ้านของผู้อยู่อาศัย เช่น ช่วงสายวันอาทิตย์มักมีคนอยู่ในครัว 2) Door sensor เรียนรู้พฤติกรรมการเปิด-ปิดประตูต่างๆ เช่น ปกติประตูห้องน้ำถูกเปิดกี่ครั้งในช่วงดึก 3) Gate sensor ใช้สังเกตระยะเวลาการเข้าไปแต่ละพื้นที่ เช่น ระยะเวลาการอยู่ในห้องน้ำปกติหรือนานกว่าปกติ และ 4) Logger ปุ่มกดช่วยบันทึกเวลาการทำกิจกรรม เช่น เวลากินยา และช่วยเตือนเมื่อผู้อยู่อาศัยอาจลืม ด้วยการส่งเสียงผ่าน Wireless Speakers “ส่วนกรณีฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ได้แก่ 1) Emergency Button ปุ่มฉุกเฉินขนาดเล็กที่พกพาได้สะดวก ใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่อยู่ไกล 2) Bell กระดิ่งเรียกคนอื่นในบ้าน และแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่อยู่ไกล 3) Fall detection sensor ช่วยตรวจจับเมื่อผู้อยู่อาศัยเกิดการหกล้ม เป็นอุปกรณ์รูปแบบสวมใส่ หรือติดผนังแบบไม่มีกล้อง เหมาะใช้งานในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องน้ำ และแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือ 4) Check-In ผู้อยู่อาศัยใช้ทักทายคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่อยู่ไกลแบบเงียบๆ ไม่รบกวนเวลา 5) Wireless Speakers ลำโพงไร้สายที่วางได้ทุกที่ในบ้านทำงานร่วมกับ LANAH App เพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับฟังข้อความเสียงจากผู้ดูแลที่อยู่ไกลมาที่บ้านในกรณีฉุกเฉิน”     ดร.สิทธา กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ LANAH App และอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการและขยายผลสู่ภาคสนาม ซึ่งกำลังมองหาพาร์ทเนอร์เพื่อทดสอบการใช้งานจริง โดยคาดว่าจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ทั้งนี้ตัวระบบนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบ เช่น บ้านผู้สูงอายุ คอนโดที่มีผู้อยู่อาศัยคนเดียว สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล ซึ่งหวังว่าระบบที่พัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้ดูแล และช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในที่พักอาศัยที่อุ่นใจและปลอดภัย นับเป็นตัวอย่างผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทยจาก สวทช. ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) วาระแห่งชาติ ที่มุ่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยและเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
BCG
 
ข่าว
 
บทความ
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
ตอนที่ 33 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ และนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย
รางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ และนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย https://www.youtube.com/watch?v=tkvxTNqy54kเผยแพร่เกียรติคุณและรางวัลของนักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย ประกอบด้วยระดับนานาชาติ และชาติศ.ดร.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้รับรางวัลเกียรติยศและเชิดชูเกียรตินักเคมีอาวุโส จาก สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ได้รับรางวัล 2021 Chinese Government Friendship Award จาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณรัฐประชาชนจีนดร.อัญชลี มโนนุกุล ผลงานโครงการ “การขึ้นฉีดรูปผงโลหะผสมไทเทเนียมชนิดใหม่ที่มีอิลาสติกโมดูลัสต่ำใกล้เคียงกับกระดูกมนุษย์สำหรับการใช้งานทางการแพทย์”ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม และคณะ ผลงานเรื่อง “แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองผ่านระบบพูดคุยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์”ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง และคณะ ผลงานเรื่อง “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช”ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผลงานเรื่อง “หอมข้าว :อุปกรณ์ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิแบบพกพาด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์”ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์ และคณะ ผลงานเรื่อง “อนุภาคนาโนพอลิเมอร์ห่อหุ้มด้วยสารประกอบเอซา-บอดิปี้สำหรับใช้เป็นระบบนำส่งสำหรับรักษามะเร็งแบบใช้แสงกระตุ้น”ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ และคณะ ผลงานเรื่อง “eLysozyme สารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาวสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการเพาะเลี้ยงสัตว์”ดร.ไว ประทุมผาย และคณะ ผลงานเรื่อง “การผลิตเบต้ากลูแคนโพลีแซคคาไรด์ และเบต้ากลูแคนโอลิโกแซคคาไรด์ชนิดใหม่จากเชื้อรา Ophiocodyceps dipterigena BCC 2073 เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ”คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย และคณะ ผลงานเรื่อง “COXY-AMP ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์ เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว”ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแลไวรัสจากออร์แกนิคซิงค์ไอออน”ดร.พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ ผลงานเรื่อง “กระบวนการผลิตโซล่าเซลล์ชนิดเพอร์รอฟสไกต์แบบลายชั้นทีละชั้นที่ควบคุมได้เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีประสิทธิภาพและความทนทานความชื้นสูง”คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ได้รับรางวัลนิสิตเก่าดีเด่น จาก สมาคมนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
30 ปี สวทช.
 
คลัง VDO
 
หนังสือ 3 ทศวรรษ 5 วิสัยทัศน์ สวทช.
หนังสือ 3 ทศวรรษ 5 วิสัยทัศน์ สวทช. Download (40 MB) High Resolution Download (98 MB) Flip Book  
เอกสารเผยแพร่
 
ไบโอเทค สวทช. พัฒนา ‘ไวรัสตัวแทน’ ทดสอบสูตรวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 แบบเชิงรุก
For English-version news, please visit : BIOTEC-NSTDA develops a pseudotyped virus for testing COVID vaccines   ที่ผ่านมาการศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีน ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และยารักษาโรคโควิด-19 นักวิจัยต้องแยกไวรัส SARS-CoV-2 จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยในประเทศและเพิ่มปริมาณไวรัสให้ได้จำนวนมากพอเพื่อใช้ศึกษาทดลอง ซึ่งทราบกันดีว่าไวรัส SARS-CoV-2 ก่อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีความรุนแรง นักวิจัยต้องทำงานบนความเสี่ยงสูง รวมทั้งต้องมีห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (BSL3) ซึ่งในประเทศไทยมีไม่มากนัก จึงทำให้ยากต่อการพัฒนายาและวัคซีนให้ทันต่อการระบาดของโรค อีกทั้งยังไม่นับรวมการเตรียมรับมือกับไวรัสที่กลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา   [caption id="attachment_31106" align="aligncenter" width="750"] ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช.[/caption]   ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนา ‘Pseudotyped Virus’ หรือ ‘ไวรัสตัวแทน’ ที่มีกลไกในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้เหมือนไวรัสตัวจริงแต่ตัวไวรัสเองถูกปรับให้มีคุณสมบัติที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อมนุษย์ เป็นเทคโนโลยีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มาใช้พัฒนา ‘ไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19’ สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้ผลิตไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19’ จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมได้ทุกสายพันธุ์   [caption id="attachment_31107" align="aligncenter" width="650"] Pseudotyped Virus หรือ ไวรัสตัวแทน[/caption]   “ไวรัสตัวแทนเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากที่ทราบกันดีว่าไวรัส SARS-CoV-2 ใช้โปรตีนตรงส่วนหนามในการจับและเข้าสู่เซลล์ ทีมวิจัยได้นำโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 มาใส่ไว้ในไวรัสอีกตัวหนึ่งซึ่งมีความปลอดภัยและไม่อันตราย โดยจุดเด่นของไวรัสตัวแทนที่สำคัญอันดับแรกคือช่วยให้นักวิจัยสามารถทำงาน ‘เชิงรุก’ เมื่อมีการค้นพบการกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 นักวิจัยสามารถนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างไวรัสตัวแทนเพื่อใช้ดำเนินงานได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการติดเชื้อของสายพันธุ์นั้นในประเทศแล้วค่อยแยกออกมาจากผู้ป่วย สองคือ ‘ปลอดภัย’ ไวรัสตัวแทนไม่ก่อให้เกิดโรค นักวิจัยหรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการไม่ต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงสูง และนำไปใช้ในห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลทั่วไปได้ สามคือ ‘ทดสอบได้รวดเร็ว’ ไวรัสตัวแทนสามารถแสดงผลการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ให้เห็นอย่างชัดเจนภายใน 48 ชั่วโมง ต่างจากไวรัสของจริงที่ต้องใช้เวลา 5-6 วัน นอกจากนี้การทดสอบด้วยไวรัสตัวแทนยังทำได้มากถึงครั้งละ 90 ตัวอย่าง ขณะที่การทดสอบด้วยไวรัสของจริงทำได้เพียงครั้งละ 6 ตัวอย่างเท่านั้น สี่คือ ‘ผลิตได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว’ ทำให้มีปริมาณไวรัสมากพอในการทดสอบ วิจัยได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้ายคือ ‘ลดค่าใช้จ่าย’ ในการปฏิบัติงานได้มากถึง 20-30 เท่า” ดร.อนันต์ กล่าวเสริมว่า ด้วยจุดเด่นของไวรัสตัวแทนที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีน สูตรการฉีดวัคซีน รวมถึงยารักษาโรคจากไวรัสต่างๆ ของประเทศไทยนับจากนี้จะมีความราบรื่นและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังใช้สร้างไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่น่ากังวลใหม่ๆ ในการศึกษาวิจัย เพื่อเตรียมรับมือการระบาดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต “ทั้งนี้ที่ผ่านมาไบโอเทคได้นำไวรัสตัวแทนที่พัฒนาขึ้นให้บริการการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว ทั้งการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดภายในประเทศ การทดสอบสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับบุคคลกลุ่มต่างๆ และการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นในประเทศ อาทิ วัคซีน Chula-CoV-19 วัคซีนใบยา และวัคซีน HXP–GPOVac” อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการผลิตไวรัสตัวแทนที่ไบโอเทค สวทช. พัฒนาขึ้น ไม่เพียงนำมาใช้ได้กับการพัฒนายาและวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังใช้ผลิตไวรัสตัวแทนไวรัสก่อโรคชนิดอื่นๆ รวมถึงการป้องกันการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนแบบเชิงรุก ช่วยให้นักวิจัยไทยดำเนินงานสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น  
BCG
 
ข่าว
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
บทความ
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
ตอนที่ 32 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ และนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย
รางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ และนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย https://youtu.be/g1ANXT5b_4w เผยแพร่เกียรติคุณและรางวัลของนักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย ประกอบด้วย ระดับนานาชาติ และชาติ ดร.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร และคณะ ผลงานเรื่อง “NanoFlu AB Duplex Rapid Test (ชุดตรวจสำหรับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่)” ดร.วรายุทธ สะโจมแสง และคณะ ผลงานเรื่อง “Development of Hydrophilic Nanofiltration Membrane for Water Purification” ดร.นิธิ อัตถิ ผลงานเรื่อง “Flexible Polymers with Antifouling Robust Microstructure for Marine and Medical Applications” และ “Fabrication of robust 3-D microstructure with superhydrophobic properties for marine and medical applications” ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติการสหกิจศึกษาในสถานประกอบการดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2563 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ได้รับใบรับรองลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคาร ประจำปี 2563 (Carbon Reduction Certification for Building) ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา และคณะ ผลงานเรื่อง “Investigating the potential adaptive responses of the Thai Rice Resource to biotic and abiotic stresses under future climate change conditions” ดร.จันทร์เพ็ญ ครุวรรณ์ และคณะ ผลงานเรื่อง “ขั้วไฟฟ้าชนิดพิมพ์สกรีนกราฟีนและของเหลวไอออนิกแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับงานเซนเซอร์เคมีไฟฟ้า” ดร.พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ ผลงานเรื่อง “ท่อดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน-ซิลิกาสำหรับระบบพลังงานรวมแสงอาทิตย์เข้มข้น” ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดี และคณะ ผลงานเรื่อง “สารเรืองแสงอินทรีย์ในช่วงใกล้อินฟาเรดที่ตอบสนองต่อค่าพีเอชสำหรับการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าด้วยการกระตุ้นแสง” ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ และคณะ ผลงานเรื่อง “ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า: Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP”
30 ปี สวทช.
 
คลัง VDO
 
นวัตกรรมในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้
เครื่องมือของ Clarivate (Derwent World Patent Index (DWPI) และ Derwent Patent Citation Index (DPCI)) ให้ข้อมูลสิทธิบัตรที่เป็นที่ยอมรับ ใช้ศึกษานวัตกรรมในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ นักวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ทดสอบสิทธิบัตรที่ยื่นจดระหว่างปี 2015 ถึง 2019 โดยหน่วยงานใน 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย, ศรีลังกา, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม หน่วยงานรวมถึงสถาบันวิจัยของรัฐบาล, มหาวิทยาลัย และบริษัท หลังจากการวิเคราะห์มากกว่า 100,000 การประดิษฐ์ที่ยื่นจดโดย 8 ประเทศดังกล่าวข้างต้นระหว่างปี 2015 ถึง 2019 ทำให้ได้ 276 หน่วยงานที่เป็นผู้นำการประดิษฐ์ โดย 58% เป็นสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐบาล ส่วน 42% เป็นบริษัท พบจาก 276 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานในอินเดียเป็นอันดับ 1 จำนวน 167 หน่วยงาน อันดับที่ 2 คือ อินโดนีเซีย จำนวน 44 หน่วยงาน อันดับถัดมา คือ ฟิลิปปินส์ จำนวน 28 หน่วยงาน อันดับที่ 4 คือ สิงคโปร์ จำนวน 19 หน่วยงาน อันดับที่ 5 คือ มาเลเซีย จำนวน 8 หน่วยงาน อันดับ 6 คือ เวียดนาม จำนวน 7 หน่วยงาน อันดับ 7 คือ ไทย จำนวน 2 หน่วยงาน อันดับ 8 คือ ศรีลังกา จำนวน 1 หน่วยงาน รายชื่อของทั้งหมด 276 หน่วยงาน เผยแพร่ไว้ใน https://clarivate.com/lp/2021-innovation-in-south-and-southeast-asia/ สำหรับประเทศไทยพบ 2 หน่วยงาน (เป็นบริษัททั้งหมด) จาก 276 หน่วยงานที่เป็นผู้นำการประดิษฐ์ ได้แก่ 1. Ptt Group และ 2. Siam Cement Group นอกจากนี้ในการศึกษาครั้งนี้ยังได้วิเคราะห์หาหน่วยงานผู้นำการประดิษฐ์ใน 9 ประเทศ คือ 8 ประเทศดังกล่าวข้างต้น และเพิ่มอีก 1 ประเทศ คือ บรูไน ดังข้างล่าง ประเทศที่ไม่สามารถหาหน่วยงานผู้นำการประดิษฐ์ได้ คือ ประเทศที่มีหน่วยงานไม่สามารถผลิตสิทธิบัตรระหว่างปี 2015 ถึง 2019 ได้พอกับเกณฑ์ ประเทศทั้ง 9 ด้านล่างเรียงลำดับตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ สถาบันการศึกษาผู้นำการประดิษฐ์ - บรูไน ไม่สามารถหาสถาบันการศึกษาได้ - อินเดีย Indian Institute of Technology Bombay - อินโดนีเซีย Universitas Diponegoro - มาเลเซีย Universiti Putra Malaysia (UPM) - ฟิลิปปินส์ Cebu Technological University - สิงคโปร์ National University of Singapore (NUS) - ศรีลังกา ไม่สามารถหาสถาบันการศึกษาได้ - ไทย ไม่สามารถหาสถาบันการศึกษาได้ - เวียดนาม Hanoi University of Science and Technology (HUST) สถาบันวิจัยของรัฐบาลผู้นำการประดิษฐ์ - บรูไน ไม่สามารถหาสถาบันวิจัยของรัฐบาลได้ - อินเดีย Council of Scientific and Industrial Research (CSIR) - อินโดนีเซีย The Indonesian Institute of Sciences (LIPI) - มาเลเซีย The Malaysian Palm Oil Board (MPOB) - ฟิลิปปินส์ ไม่สามารถหาสถาบันวิจัยของรัฐบาลได้ - สิงคโปร์ The Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) - ศรีลังกา ไม่สามารถหาสถาบันวิจัยของรัฐบาลได้ - ไทย ไม่สามารถหาสถาบันวิจัยของรัฐบาลได้ - เวียดนาม Vietnam Academy of Science and Technology (VAST) บริษัทผู้นำการประดิษฐ์ - บรูไน ไม่สามารถหาบริษัทได้ - อินเดีย ดูได้จากรายละเอียดด้านล่าง บริษัทผู้นำการประดิษฐ์ในอินเดีย - อินโดนีเซีย PT Pertamina - มาเลเซีย Top Glove Corporation Berhad - ฟิลิปปินส์ ไม่สามารถหาบริษัทได้ - สิงคโปร์ ASM Pacific Technology Limited - ศรีลังกา MAS Holdings - ไทย Siam Cement Group - เวียดนาม Viettel Group บริษัทผู้นำการประดิษฐ์ในอินเดียในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (เรียงลำดับอุตสาหกรรมตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ) - ธุรกิจการเกษตร UPL Limited - ยานยนต์ Mahindra and Mahindra Limited - สารเคมีและพลังงาน Indian Oil Corporation Limited - สินค้าประเภทบริโภค ITC Limited - อุตสาหกรรมหนัก Bharat Heavy Electricals Limited - อื่น ๆ Welspun Group - ยา Suven Life Sciences Limited - ซอฟต์แวร์ Wipro Limited ที่มา: Clarivate. 2021 Innovation in South and Southeast Asia. Retrieved February 14, 2022, from https://clarivate.com/lp/2021-innovation-in-south-and-southeast-asia/
นานาสาระน่ารู้
 
‘Functional Food’ นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต
  วิกฤตการณ์การระบาดโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่สถานการณ์โลกที่กำลังเข้าสู่ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ ล้วนเป็นตัวเร่งให้ประชาชนหันมาตระหนักถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้   เทรนด์ ‘ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ’ และ ‘อาหารฟังก์ชัน (Functional Food)’ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สร้างโอกาสทองให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง หากแต่ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเหล่านั้นมีคุณภาพดีและปลอดภัยสมตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างจริง แน่นอนว่าผลงานการศึกษาวิจัยคือหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันในเรื่องนี้ ทว่าการลงทุนทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวิจัยเชิงคลินิกนั้นต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง จึงอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้จัดทำ ‘โครงการการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิกสำหรับอาหารฟังก์ชัน’ เพื่อสนับสนุนบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันและการวิจัยทางคลินิก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและความเชื่อมั่นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันได้   รัฐร่วมเอกชนวิจัยพัฒนา ‘นวัตกรรมอาหารฟังก์ชัน’ อาหารฟังก์ชัน หรือ Functional Foods คืออาหารที่ประกอบด้วยสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ที่ไม่ได้มีเพียงคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังมีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเรสเตอรอล เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ฟื้นฟูสภาพร่างกาย อาหารฟังก์ชันยังรวมถึงการพัฒนาอาหารที่มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ โดยกลไกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนายกระดับวัตถุดิบที่มีสู่ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันได้สำเร็จคือ ‘การวิจัยพัฒนา’   [caption id="attachment_31002" align="aligncenter" width="750"] รศ. ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[/caption]   รศ. ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า โครงการการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิกสำหรับอาหารฟังก์ชัน นับเป็นโครงการดีๆ ที่เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารได้มีโอกาสมาร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารฟังก์ชันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา “ขั้นตอนการทำงานคือผู้ประกอบการจะมีวัตถุดิบและโจทย์ที่สนใจอยู่แล้วว่าอยากพัฒนาอาหารฟังก์ชันแบบใด เพื่อใช้กับกลุ่มเป้าหมายใด เมื่อทีมวิจัยได้รับโจทย์มาก็จะศึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ยกตัวอย่างโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทไบโอบอร์น จำกัด ทางผู้ประกอบการมีโจทย์ว่า มีวัตถุดิบคือผงไข่ขาว หรือ อัลบูมินอยู่ และต้องการพัฒนาเป็นอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยล้างไต พอได้โจทย์แบบนี้ สิ่งที่นักวิจัยต้องทำคือศึกษาข้อมูลก่อนว่า ผู้ป่วยล้างไตต้องการพลังงานปริมาณเท่าไหร่ นอกจากโปรตีนจากไข่ขาวแล้ว ยังต้องการสารอาหารอะไรในปริมาณสูง หรือต้องจำกัดสารอาหารประเภทใด เพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เหมาะสม” ความท้าทายในการวิจัยไม่ใช่เพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ตัวผลิตภัณฑ์ยังต้อง ‘ได้รับความพึงพอใจ’ จากกลุ่มเป้าหมาย และตรงตามความต้องการของตลาด “ทีมวิจัยต้องไปดูด้วยว่ากลุ่มผู้ป่วยล้างไตชอบรสชาติแบบใด ต้องนำอัลบูมินมาเติมสารอาหารอะไรบ้าง เติมรสชาติอย่างไร ความเข้มข้นเท่าไหร่ กระทั่งเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเสร็จ เรามีการนำไปทดสอบกับกลุ่มคนปกติก่อนว่า รสชาติ ความข้นหนืด เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ ถ้าเป็นที่ยอมรับจะนำไปทดสอบในผู้ป่วยล้างไตอีกครั้งว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมา ซึ่งปัจจุบันมี 5 รสชาติ และมีทั้งรูปแบบชงดื่มและซุปนั้น ผลิตภัณฑ์แบบใด รสชาติแบบไหน ที่เข้ากับผู้ป่วยล้างไตได้ดีที่สุด”   [caption id="attachment_30997" align="aligncenter" width="500"] ผลิตภัณฑ์ Albupro Plus ซุปไข่ขาวสำหรับผู้ป่วยล้างไต ชนิดผง[/caption]   ผลจากการร่วมวิจัยนำมาสู่ ผลิตภัณฑ์ Albupro Plus ซุปไข่ขาวสำหรับผู้ป่วยล้างไต ชนิดผง ซุปจากไข่ขาวเจ้าแรกในท้องตลาด โดยใช้ไข่ขาวสกัดด้วยกระบวนการพิเศษ ขจัดสารอะวิดินและไลโซไซม์ ทำให้ไม่ขัดขวางกระบวนการดูดซึมวิตามินบี รวมถึงมีโปรตีนอัลบูมินสูง ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยล้างไต รศ. ดร.สุวิมล เล่าว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ Albupro Plus คือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยล้างไตโดยเฉพาะ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีแค่โปรตีนสูง แต่ยังมีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ในปริมาณที่เหมาะสม ตอบโจทย์ผู้ป่วยล้างไตที่มักจะเกิดภาวะ ทุพโภชนาการ อีกทั้งยังมีรสชาติอร่อย รับประทานง่าย และเป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้ป่วย “การที่ ITAP สวทช. และ TCELS สนับสนุนทุนวิจัยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้วิจัยร่วมกัน มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้ผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ไม่ต้องเก็บไว้บนหิ้ง อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันที่เกิดขึ้นยังเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไข่ก็ได้รับประโยชน์ ผู้ประกอบการได้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ผู้ป่วยล้างไตได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดี มีสารอาหารครบถ้วนในการเสริมโภชนาการ ขณะที่นักวิจัยก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์” ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ Albupro Plus อยู่ระหว่างการขอรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Trial) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตของโครงการฯ ต่อไป     ‘วิจัยเชิงคลินิก’ พิสูจน์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ทุกวันนี้คุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารฟังก์ชันและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพส่วนใหญ่ล้วนมาจากการอ้างอิงงานวิจัยหรือข้อมูลสารสำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น หากผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของขิง จะเชื่อว่ามีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์จะมีผลต่อร่างกายเช่นนั้นจริงหรือไม่ ต้องอาศัย ‘การวิจัยทางคลินิก’   [caption id="attachment_31000" align="aligncenter" width="750"] ผศ. ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล[/caption]   ผศ. ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า การนำผลงานวิจัยถึงสารสำคัญต่างๆ มาใช้อ้างอิงไม่สามารถยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการจะนำสาระสำคัญหรือวัตถุดิบ ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน มาผสมกับส่วนผสมต่างๆ และยังผ่านกระบวนการผลิต รวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกายอาจจะแตกต่างกันไปด้วย การวิจัยเชิงคลินิกกับผลิตภัณฑ์โดยตรงจึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีผลต่อร่างกายตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ “งานวิจัยเชิงคลินิกเป็นงานวิจัยที่ศึกษาในมนุษย์ เป็นการศึกษาว่าหลังจากที่รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าไปแล้ว ในระยะเวลาต่างๆ อาจเป็นการศึกษากลไกการดูดซึมหรือศึกษาผลที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับเข้าไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง เช่น 30 วัน 60 วัน หรือ 120 วัน จะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อระบบต่างๆ ของร่างกายอย่างไรบ้าง มีความปลอดภัยหรือไม่ มีผลต่อตับ ไต หรือเปล่า ยกตัวอย่างโครงการที่ทีมวิจัยทำร่วมกับบริษัทฟอร์แคร์ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของ ITAP และ TCELS ต้องการวิจัยว่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิก (เมล็ดโกโก้ดิบ) มีผลช่วยพัฒนาในเรื่องของการผ่อนคลายสมอง ร่างกาย และช่วยให้ความทรงจำได้ดีขึ้นตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่” ในการทำงาน ทีมวิจัยได้ร่วมกันวางแผนออกแบบกระบวนการวิจัยเชิงคลินิกซึ่งต้องมีความรอบคอบอย่างมาก รวมทั้งยังมีการทดสอบและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในส่วนต่างๆ จากอาสาสมัครต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ “กลุ่มอาสาสมัครจะต้องบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น การรับประทานอาหาร การขับถ่าย การนอนหลับ รวมทั้งเรามีการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ความจำ การเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ การตอบสนองของสมอง การเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีต่างๆ เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ไขมัน ตัวชี้วัดการอักเสบของร่างกายอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้วิเคราะห์ผล ซึ่งผลการวิจัยในเชิงคลินิกของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิกที่นำมาทดสอบพบว่า ได้ผลค่อนข้างดี ที่เห็นได้ชัดคือช่วยให้ความจำดีขึ้น ความเหนื่อยล้าลดลง ความดันโลหิตลดลง แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ยังไม่เห็นผลชัดเจนตามที่ผู้ประกอบการตั้งเป้าไว้ ซึ่งทีมวิจัยได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางปรับสูตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามเป้าหมายในอนาคต”   [caption id="attachment_30998" align="aligncenter" width="750"] ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มดาร์กช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิก[/caption]   อย่างไรก็ดีกว่าจะได้ผลวิจัยเชิงคลินิกของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผศ. ดร.ฉัตรภา สะท้อนถึงความยากในการวิจัยให้ฟังว่า ด้วยเป็นงานวิจัยในมนุษย์จึงต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมก่อน ถึงจะทำการทดสอบได้ ซึ่งกว่างานวิจัยจะผ่านออกมาได้ต้องมีการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย มีงานวิจัยที่รองรับสนับสนุน อีกทั้งกระบวนการต่างๆ มีทั้งการเจาะเลือด การบันทึกผลอย่างละเอียด ผู้เข้าร่วมโครงการต้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การออกแบบงานวิจัยต้องมีความรัดกุม กลุ่มเป้าหมายต้องมีจำนวนมากพอ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ต้องการและมีความน่าเชื่อถือ “กระบวนการวิจัยเชิงคลินิกต้องใช้ระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่ายในงานวิจัยสูง จึงเป็นเรื่องยากในการลงทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนภาคเอกชนในการวิจัยเชิงคลินิกนับว่าเป็นประโยชน์มากที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาอาหารฟังก์ชันที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย มีผลวิจัยที่ยืนยันถึงความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยรับรองถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการได้ร่วมทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ยังช่วยให้กลุ่มวิจัยและพัฒนาของบริษัทได้ร่วมเรียนรู้ และนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต”     นวัตกรรมสร้างความต่าง เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ในโลกยุคปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบเดิมคงไม่เพียงพอ การใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่อาหารฟังก์ชันอาจเป็นหนทางที่สร้างความแตกต่างและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจอย่างก้าวกระโดด   [caption id="attachment_31001" align="aligncenter" width="450"] ดร.สรวง สมานหมู่ ผู้เชี่ยวชาญดำเนินโครงการวิจัย[/caption]   ดร.สรวง สมานหมู่ ผู้เชี่ยวชาญดำเนินโครงการวิจัย (ปัจจุบันเป็นอนุกรรมการสภาความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งประเทศไทย (MPCT) / คณะกรรมการบริษัท Cannabi Biosciences (ฮ่องกง ประเทศจีน) เล่าว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราแตกต่างจากสินค้าในตลาดทั่วไปก็คืองานวิจัย ซึ่ง ITAP สวทช. ได้ให้ทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์มาโดยตลอด และสำหรับการพัฒนาอาหารฟังก์ชัน พิเศษกว่า เมื่อ ITAP ได้ร่วมกับ TCELS ให้ทุนผู้ประกอบการในการพัฒนาส่วนผสมเชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) จากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ได้สารชีวภาพที่ให้คุณสมบัติพิเศษสำหรับนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเสริมสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน เครื่องสำอางและยา ซึ่งตรงตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ “ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้พัฒนาให้ บริษัทแอดวาเทค จำกัด คือ Cell Synapse Enhancer เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นสาร Co-Supplement สำหรับใช้เติมในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ซึ่ง Cell Synapse Enhancer มีสมบัติช่วยเพิ่มการดูดซึมสารสกัดจากธรรมชาติให้เข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ดังนั้นในกลุ่มผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ เมื่อมีการเติม Cell Synapse Enhancer ลงในผลิตภัณฑ์แล้ว จะช่วยให้เติมสารสกัดจากธรรมชาติหรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในปริมาณที่น้อยลง เพราะร่างกายดูดซึมได้มากขึ้น เรียกว่ารับประทานน้อยได้มาก ประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นที่นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย”   [caption id="attachment_30999" align="aligncenter" width="750"] Cell Synapse Enhancer[/caption]   Cell Synapse Enhancer ได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานประกวดนวัตกรรมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งได้มีการต่อยอดนำผลิตภัณฑ์ Cell Synapse ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทรีวาน่าของบริษัทอินนาเธอร์ จำกัด ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนของบริษัท มานา เนเจอร์อินโนเวชั่น จำกัด  และมีพันธมิตรที่สนใจจะนำสาร Cell Enhancer ไปต่อยอดใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายผลิตภัณฑ์ ดร.สรวง เล่าว่า จากทุนของโครงการ ITAP สวทช. และ TCELS ช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการวิจัย ทำให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยร่วมกันผลักดันงานวิจัยให้ก้าวข้ามหุบเหวมรณะ (Valley of Death) สามารถพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ และยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกกิ่งก้านสาขาได้เยอะมาก เป็นการเพิ่มมูลค่าความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ให้กลายเป็นสินค้า ที่นำรายได้กลับเข้าประเทศได้สำเร็จ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระของชาติ “หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เราเริ่มเห็นผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการวิจัยมากขึ้น ถามว่าทำไมต้องทำงานวิจัย เพราะว่างานวิจัยจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นและแตกต่าง จากที่เคยแข่งขันกันในตลาดที่เรียกว่า Red Ocean ซึ่งเป็นตลาดที่มีของคล้ายๆ กัน มุ่งแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งต้องบอกว่าใครสายป่านยาวคนนั้นก็ชนะ แต่วันนี้เราจะไม่พูดแบบนั้นแล้ว เพราะเราจะทำให้คนที่มีสายป่านสั้นๆ สามารถชนะในตลาดนี้ได้ด้วยนวัตกรรม เป็น Blue Ocean ฉะนั้นวันนี้ต้องถามตัวเองแล้วว่า เราจะยืนในพื้นที่ไหนระหว่างทะเลเลือด หรือว่ามหาสมุทรสีฟ้าที่กว้างใหญ่” ปลายทางความสำเร็จในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาอาหารฟังก์ชันใหม่ๆ คงไม่ใช่แค่ตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่จะสร้างกำไรหรือโอกาสทางการตลาดให้แก่อุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดประชาชนจะได้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย และมั่นใจถึงความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง  
BCG
 
ข่าว
 
บทความ
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
ตอนที่ 31 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ และนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย
รางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติ และนักวิจัยดีเด่นระดับชาติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย https://www.youtube.com/watch?v=DgbIchJIzjE เผยแพร่เกียรติคุณและรางวัลของนักวิจัยอาวุโส และนักวิจัย ประกอบด้วย ระดับนานาชาติ และชาติ ดร.นิธิ อัตถิ ผลงานเรื่อง “FleXARs: antifouling film to protect your surface and shift the world” ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบริหารสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย The Asia Nano Forum (ANF) ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ผลงานเรื่อง “Polymer-Based Nanomaterials and Applications” ดร.อัชฌา กอบวิทยา ได้รับคัดเลือกให้เป็น SPIE Women in Optics ประจำปี 2022 ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผลงานเรื่อง “G.O. –SENSOR Screening for kidney disease” คุณสิรินทร อินทร์สวาท และคณะ ได้รับรางวัล ASEAN Energy Efficiency and Conservation Best Practice Awards 2020 ดร.คทาวุธ นามดี ผลงานเรื่อง “นาโนวัคซีนแบบจุ่ม โดยเลียนแบบเชื้อก่อโรคในปลา”
30 ปี สวทช.
 
คลัง VDO
 
REMI แชตบอตติดตามสุขภาพหญิงตั้งครรภ์จากทางไกล
จากปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีหญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งหลุดจากระบบการตรวจติดตามสุขภาพโดยแพทย์ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งการขาดการประเมินสุขภาพและการได้รับคำแนะนำจากสูตินารีแพทย์ตามการนัดหมาย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่ทั้งแม่และทารกในครรภ์ อาทิ ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด การแท้ง   [caption id="attachment_30790" align="aligncenter" width="750"] ดร.พิมพ์วดี เชาวลิต อาหวาด ทีมวิจัยพฤติกรรมมนุษย์ เนคเทค สวทช.[/caption]   [caption id="attachment_30791" align="aligncenter" width="750"] ทีมวิจัยแชตบอต "REMI"[/caption]   ดร.พิมพ์วดี เชาวลิต อาหวาด ทีมวิจัยพฤติกรรมมนุษย์ กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าว่า หลังจากทีมวิจัยได้มีโอกาสรับทราบปัญหาจากสูตินารีแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงได้ร่วมมือกันนำความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาวิจัยและพัฒนาระบบติดตามสุขภาพหญิงตั้งครรภ์จากทางไกล (Telemedicine) จนได้เป็น “REMI (Robot for Expecting Mother’s Information) ระบบตอบกลับอัตโนมัติ (แชตบอต) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์” “REMI แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือระบบสำหรับให้บริการหญิงตั้งครรภ์​ โดยหลังจากการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้แนะนำการใช้งานระบบแชตบอตเพื่อใช้ติดตามประเมินสุขภาพตลอดช่วงตั้งครรภ์ การเริ่มต้นใช้งานผู้ใช้จะต้องลงทะเบียนและใส่รายละเอียดที่สำคัญ อาทิ น้ำหนัก ส่วนสูง อายุครรภ์ โรคประจำตัว หลังจากนั้นทุกสัปดาห์จึงเข้ามาบันทึกข้อมูลน้ำหนัก อาหารที่บริโภค รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อให้ระบบช่วยประเมินความเหมาะสมของน้ำหนักตามอายุครรภ์ เพราะน้ำหนักที่น้อยหรือมากเกินเกณฑ์อาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงการมีโรคแทรกซ้อนหรือการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสมได้ สำหรับการบริโภคของหญิงตั้งครรภ์ระบบจะช่วยแนะนำปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน รวมถึงประเภทอาหารที่ควรบริโภคตามความเหมาะสมของแต่ละคน นอกจากนี้หากผู้ใช้งานมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ อาทิ อาหารที่ไม่ควรบริโภค การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ การบริโภคยา หรืออาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ สามารถพูดคุยกับแชตบอตเสมือนพูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่งเพื่อให้แชตบอตแนะนำข้อมูลทางด้านการแพทย์ รวมถึงข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตามแชตบอตไม่สามารถทำหน้าที่ประเมินอาการผิดปกติหรือโรคแทนแพทย์ผู้ดูแล”​     ดร.พิมพ์วดี อธิบายต่อว่า ส่วนที่สองของระบบ REMI คือส่วนของแพทย์ผู้ดูแล หลังจากหญิงตั้งครรภ์บันทึกข้อมูลเข้าระบบแล้ว เซิร์ฟเวอร์จะประมวลผลข้อมูลและแสดงผลไปยังแดชบอร์ด โดยจะแสดงข้อมูลของหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในการดูแลทุกคนพร้อมโคดสีที่สื่อถึงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ อิงตามเกณฑ์การประเมินสุขภาพทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามผล และหากแพทย์ผู้ดูแลพบความผิดปกติสามารถแชตเพื่อพูดคุยกับหญิงตั้งครรภ์ผ่านระบบนี้ได้   “ระบบ REMI เป็นระบบการตรวจสุขภาพที่เหมาะแก่การใช้ประเมินสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เบื้องต้นในช่วงที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้หญิงตั้งครรภ์ดูแลตนเองได้มีประสิทธิภาพ ลดเวลา ค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงในการติดโรคจากการเดินทางมายังสถานพยาบาล โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แล้ว ยังช่วยลดภาระงานให้กับแพทย์ได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการทดสอบการใช้งานระบบ REMI แล้วที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และจะมีการประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการ รวมถึงพัฒนาให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป” ดร.พิมพ์วดี ทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่สนใจทั้งผู้ประกอบการและสถานพยาบาล เนคเทคพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมถึงร่วมทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบ Telemedicine สำหรับให้บริการผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อหนุนเสริมให้คนไทยเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทยตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในปัจจุบัน          ผลงาน ‘REMI (Robot for Expecting Mother’s Information) ระบบตอบกลับอัตโนมัติ (แชตบอต) สำหรับหญิงตั้งครรภ์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์’ เป็นหนึ่งในผลงานที่เผยแพร่ในงานการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC2022) ภายใต้หัวข้องาน ‘พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG’ ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดงานแบบออนไลน์ในวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 ติดตามงานได้ที่ www.nstda.or.th/nac     เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. อาร์ตเวิร์คโดย : ภัทรา สัปปินันทน์
BCG
 
ข่าว
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
บทความ
 
ผลงานวิจัยเด่น