สวทช. จัดประชุมผลักดันนวัตกรรมลดฝุ่นจากไอเสียรถยนต์สู่การใช้งานจริง
8 พ.ค. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุมเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการศึกษาการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดฝุ่นจากไอเสียรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันผลผลิตจากงานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. เป็นประธานเปิดงาน และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวรายงานถึงผลผลิตสำคัญที่เกิดขึ้นจากโครงการ ซึ่งประกอบด้วยระบบตรวจวัดปริมาณควันทึบแสงจากยานยนต์ด้วยวิธี Computer vision ซึ่งได้นำเสนอการพัฒนาโดย รศ. ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล และแพลตฟอร์มระบบประมวลผล แสดงผล และบริหารจัดการข้อมูลเพื่อคัดกรองและติดตามรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ที่ปล่อยมลพิษสูง ซึ่งเป็นผลงานที่นำเสนอโดย ดร.มติ ห่อประทุม และ ดร.รุ่งโรจน์ จินตเมธาสวัสดิ์ ซึ่งในส่วนความก้าวหน้าการประยุกต์ใช้ระบบกล้อง CCTV ในมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานครนำเสนอโดย ดร. นุวงศ์ ชลคุป รวมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการสนับสนุนนำเสนอ โดย ดร.พีรวัฒน์ สายสิริรัตน์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ป้องกัน และลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ วช. จึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ภายใต้แผนงาน P24 การแก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมตามแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่เป้าหมายอย่างบูรณาการในหลายมิติ ทั้งการลดปริมาณไอเสียจากการคมนาคม การลดการเผาและจัดการไฟในพื้นที่ป่า การลดมลพิษทางอากาศข้ามแดน การพัฒนานโยบายและการสื่อสารเชิงรุก รวมถึงระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งในมิติของการลดปริมาณไอเสียจากการคมนาคม มีพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนคือเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีการจราจรคับคั่ง อาศัยแนวทางสำคัญในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดปริมาณการปล่อยฝุ่นละอองจากการคมนาคมทางถนน ผ่านการพัฒนาระบบคัดกรองตรวจวัดปริมาณไอเสียรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนารูปแบบโมเดลการจัดการเพื่อจำกัดและควบคุมรถยนต์กลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมกับระดับปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ
การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานภาคปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการในนโยบาย Low Emission Zone ของกรุงเทพมหานคร โดยมีการนำเสนอที่มาและความสำคัญของโครงการ รวมถึงความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้ระบบกล้อง CCTV ในมาตรการเขตมลพิษต่ำ และร่วมผลักดันผลผลิตจากโครงการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของการปล่อยควันดำและฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่น โครงการนี้มุ่งพัฒนาระบบตรวจวัดควันดำด้วยเทคโนโลยี Computer vision และแพลตฟอร์มสำหรับประมวลผลและแสดงผลข้อมูล เพื่อคัดกรองและติดตามรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำ รวมถึงแสดงภาพรวมสถานการณ์การปล่อยมลพิษจากภาคคมนาคม นอกจากนี้ ยังรวบรวมข้อมูลแนวทางการคัดกรองและติดตามรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับหน่วยงานและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดมลพิษ PM2.5 จากภาคขนส่ง เช่น มาตรการ Low Emission Zone (LEZ) ของกรุงเทพมหานคร และแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ตลอดจนรวบรวมแนวทางการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายและข้อเสนอมาตรการสนับสนุนเพื่อลดมลพิษดังกล่าว ได้นำเสนอข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ ผลผลิตจากโครงการนี้จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการควบคุมรถยนต์ที่ปล่อยควันดำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่กระทบการจราจรปกติ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากการบูรณาการความรู้และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ อันจะนำไปสู่การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และสารก่อมะเร็งในอากาศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
8 พ.ค. 2568
0
แชร์หน้านี้: