หน้าแรก ถอดรหัสอนาคต AI ประเทศไทย: “แผนคม-คนพร้อม-ทีมเวิร์คแกร่ง” ถึงจะรอดในสนามแข่งโลก

ถอดรหัสอนาคต AI ประเทศไทย: “แผนคม-คนพร้อม-ทีมเวิร์คแกร่ง” ถึงจะรอดในสนามแข่งโลก

11 เม.ย. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาพเปิดข่าวถอดรหัสอนาคต AI ประเทศไทย: "แผนคม-คนพร้อม-ทีมเวิร์คแกร่ง" ถึงจะรอดในสนามแข่งโลก

เวทีสัมมนา “Decoding Thailand’s AI Future Strategy for Competitive Edge ” โดย สวทช. ร่วมกับ Techsauce ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC2025) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงการอัปเดตเทรนด์ AI ทั่วไป แต่เปรียบเสมือนการ “เปิดอกคุย” ครั้งสำคัญของผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และภาคธุรกิจชั้นนำ ถึงทิศทางอนาคต AI ของไทย ท่ามกลางคำถามใหญ่ว่า แผน AI แห่งชาติที่วางไว้ก่อนยุค ChatGPT จะไปต่ออย่างไร และไทยจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันยุคใหม่ที่ AI เขย่าทุกวงการได้อย่างไร …

โจทย์ท้าทาย AI ไทย ในวันที่ GenAI เปลี่ยนโลก

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. เปิดประเด็นโดยย้ำว่า สวทช. ได้ริเริ่มขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ แผน AI แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งวางรากฐานไว้ก่อนยุค Generative AI จะเฟื่องฟู แต่การมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT ได้พลิกเกม ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งการปรับแผน AI ชาติให้ทันโลก การรับมือภาวะขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง การหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการกำกับดูแล รวมถึงโจทย์ใหญ่เรื่องสร้างหรือซื้อเทคโนโลยี เมื่อการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบระยะยาว

ภาพ ดร.ชัย พูดถึงบทบาทของ สวทช. ที่มองต่อ AI

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ดร.ชัย ชี้ว่า บทบาทของ สวทช. ไม่ได้มอง AI ในมิติของ GenAI เท่านั้น แต่ครอบคลุมการวิจัยและประยุกต์ใช้ AI ในหลากหลายสาขาตามความเชี่ยวชาญของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้ สวทช. ทั้งไบโอเทค, เอ็มเทค, นาโนเทค เอ็นเทค และเนคเทค โดย สวทช. มุ่งเน้นเป็นตัวกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านงานวิจัยและทรัพยากร ส่งเสริมการเปิดเผยเทคโนโลยี (Open Technology) ให้มากขึ้น สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างคลังข้อมูล  (Data Bank) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนนำไปต่อยอด

ท้าทายแนวคิดเดิม แผน AI ให้ตั้งต้น “โจทย์จริง” ต่อยอดเสริมจุดแข็งประเทศ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนะว่า แผน AI ไทยควรเปลี่ยนจากการมุ่งสร้างปัจจัยพื้นฐาน (Supply-side) ไปสู่การตั้งต้นจาก “โจทย์จริง” หรือปัญหาเร่งด่วนของประเทศ (Demand-side) เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว สังคมสูงวัย และคุณภาพการศึกษา โดยเน้นการนำ AI ที่มีอยู่และราคาเข้าถึงได้มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ยกระดับทักษะ และต่อยอดจุดแข็งของประเทศ เช่น การแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาในสิ่งที่จำเป็นและไม่มีใครทำแทนได้ การพัฒนา LLM ภาษาไทยที่มีคุณภาพ การสร้างคลังข้อมูล (Corpus) ภาษาไทย การทำให้ AI เข้าใจบริบทความเป็นไทย เป็นต้น

ภาพ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ภาคธุรกิจกับ AI: ทำอย่างไรให้เกิด ‘Business Impact’ อย่างแท้จริง เปิดอินไซต์จาก Bluebik & AIS

หลายองค์กรกระโดดเข้าสู่การใช้งาน AI แต่กลับไม่เห็น Business Impact อย่างที่คาดหวัง ดร.พชร อารยะการกุล ซีอีโอ บลูบิค กรุ๊ป เผยอินไซต์จากประสบการณ์ตรง 3 อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ AI ยังไม่เวิร์กเต็มที่ ประเด็นแรก ดร.พชร เปรียบ AI เป็น ‘สมอง’ การลงทุนด้าน AI โดยไม่พัฒนาองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ควบคู่เหมือนคาดหวังให้สมองทำงานโดยไม่มีแขนขา ดังนั้น การลงทุนใช้ AI ระบบนิเวศเทคโนโลยีโดยรวมต้องพร้อม ทั้งแอปพลิเคชัน  โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของข้อมูล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ประเด็นต่อมา คือ การขาด Process ที่ใช่ ด้วยการนำ AI มาปรับใช้ในองค์กรจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงาน และออกแบบกระบวนการดูแล AI ให้เหมาะสม เพื่อให้โมเดล AI ยังคงประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์องค์กร และท้ายสุด ‘คน’ ยังเป็นคีย์แมน แม้ AI เก่งขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพาทักษะและการกำกับดูแลโดยมนุษย์ (Human Oversight) นอกจากนี้ ดร.พชร ยังเน้นย้ำถึงการจัดลำดับความสำคัญของ Use Case ที่จะใช้งาน AI ให้สอดคล้องกับความคุ้มค่าในการลงทุน โดยผู้นำขององค์กรในทุกระดับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้งาน AI ในองค์กรให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจได้จริง

ภาพดร.พชร อารยะการกุล ซีอีโอ บลูบิค กรุ๊ป

ด้าน AIS โดย คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ Head of Nationwide Operations and Support Business Unit ได้แชร์ Blueprint for Success ของการทำ AI Transformation ในสเกลใหญ่ จากวิสัยทัศน์ของ AIS ‘Cognitive Tech-co’ สู่การสร้าง Autonomous Network ที่ไม่ได้ทำแค่ตั้งไข่ แต่ทำอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล มีการประเมิน ตั้งเป้า พัฒนา และวัดผลชัดเจน ที่สำคัญคือการทำ Talent Transformation ควบคู่กันไป เพื่อลดความกังวลและสร้างสกิลใหม่ให้พนักงาน จนเกิดเป็น Use Case ที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจได้จริง ตั้งแต่ Predictive Maintenance, Self-Optimizing Network, การจัดการพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำ AI มาสร้าง Impact ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ภาพคุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ Head of Nationwide Operations and Support Business Unit

Future of Work: เมื่อ AI เขย่าตลาดงาน สกิลไหนคือทางรอด?

ผลกระทบต่อคนและแรงงานจาก AI เป็นอีกประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Vialink มองว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค AGI หรือ AI ที่เก่งเทียบเท่ามนุษย์ได้เร็วกว่าที่คิด ซึ่งจะปฏิวัติโลกการทำงานในฐานะ “ทุนทางปัญญา” (Capital Intelligence) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถาม คือ ไทยจะทำอย่างไรให้ AI เข้ามา ‘ส่งเสริม’ มากกว่า ‘ทดแทน’ คน

ภาพดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)

คำตอบอยู่ที่การพัฒนาทักษะใหม่ที่ AI ทำแทนไม่ได้ หรือ ‘Y-Shaped Skills’  ที่ผสมผสานความเข้าใจ AI (AI Literacy) เข้ากับ ทักษะซอฟต์สกิล เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการคน และ ทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่ง AI ยังทำแทนไม่ได้ ข้อเสนอสำหรับประเทศไทยจึงเน้นไปที่ การลงทุนในมนุษย์แบบนอกกรอบ พัฒนาคนให้กว้างกว่าแค่การศึกษาแบบเดิม โดยเน้นปัจจัยพื้นฐานอื่นที่สำคัญ เช่น สุขภาพ โอกาสทางสังคม เพื่อสร้างคนให้เก่งและพร้อมปรับตัวทันยุค AI รวมถึงการทำให้ตลาดแรงงานยืดหยุ่น เอื้อต่อการปรับตัวและเรียนรู้ตลอดชีวิต

ภาพการเสวนา

มุมมองนี้สอดคล้องกับวงเสวนา ” AI & Workforce 4.0: Shaping the Talent of the Future” ที่ผู้ร่วมเสวนาอย่าง ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ดร.พิณนรี ธีร์มกร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณภาพเพรง เลี้ยงสุข จาก เทคซอส มีเดีย  ตอกย้ำความจำเป็นในการพัฒนาทักษะ AI ที่ไม่ใช่แค่เชิงเทคนิค แต่ต้องเชื่อมโยงกับธุรกิจได้จริง ผ่านความร่วมมือภาครัฐและเอกชน การสร้างแรงจูงใจ และนโยบายที่สนับสนุนการเรียนรู้ เช่น การลดหย่อนภาษี พร้อมเสนอให้มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เน้นกำกับการนำไปใช้ที่อาจสร้างความเสียหาย แทนที่จะควบคุมตัวเทคโนโลยี

พลัง Co-Creation และ Partnership:  เมื่อ AI ซับซ้อนเกินทำคนเดียว

เมื่อโจทย์ AI มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็ว การลุยเดี่ยวอาจไม่ใช่คำตอบ วงเสวนา “The Power of Co-Creation” ที่มีตัวแทนผู้บริหารจากองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล – KBTG , ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ – AI9 และ คุณณัฐพล ไกรสิงขร – Amity Solutions ได้ฉายภาพความสำคัญของการมีพันธมิตรตลอด Supply Chain ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ไปจนถึงการนำไปใช้จริงในธุรกิจ กุญแจสู่ความสำเร็จ คือ การตั้งเป้าหมายร่วมกัน การสร้างความไว้วางใจ ความเข้าใจในบทบาทของแต่ละฝ่าย และการสื่อสารที่ชัดเจน ความร่วมมือนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยภาคเอกชนพร้อมร่วมมือกับภาครัฐเพื่อนำโจทย์จากอุตสาหกรรมมาพัฒนาร่วมกัน และเสนอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร (Talent Development) ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

ภาพการเสวนาบนเวที

AI ไม่ใช่แค่ทฤษฎี: ส่องงานวิจัยจริงจาก สวทช.

นอกเหนือจากมุมมองเชิงนโยบายและธุรกิจ งานสัมมนาครั้งนี้ยังได้นำเสนอตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ที่เป็นรูปธรรมจากผลงานวิจัยของศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. สะท้อนให้เห็นศักยภาพของ AI ในหลากหลายมิติ

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ จาก เอ็มเทค สวทช. นำเสนอการผสานเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ การออกแบบ และ AI สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมสูงวัย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต เช่น วัสดุทดแทน ‘Gunther IMU’ อุปกรณ์ตรวจจับการล้มที่เรียนรู้การเคลื่อนไหวและแจ้งเตือนได้ทันที และ AI ช่วยทันตแพทย์วินิจฉัยโรคในช่องปากจากภาพถ่ายได้แม่นยำขึ้น

ภาพ ดร.ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ จาก เอ็มเทค สวทช. นำเสนอการผสานเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ การออกแบบ และ AI

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา จาก ไบโอเทค สวทช. แสดงให้เห็นพลังของ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม (Genomics) โครงการ Genomics Thailand ความสำเร็จในการวินิจฉัยโรคหายากอย่าง qmrs-dee แสดงให้เห็นศักยภาพในการนำไปสู่การป้องกันและรักษาที่ตรงจุดยิ่งขึ้นสำหรับคนไทย

ภาพ ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา จาก ไบโอเทค สวทช.

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. โชว์พลัง Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับแจ้งปัญหาเมืองผ่าน LINE ที่มี AI เป็นแกนหลักในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อความ/ภาพจากประชาชนนับล้านเรื่อง ช่วยสรุปประเด็นปัญหา เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้หน่วยงานรัฐตอบสนองได้เร็วขึ้นกว่า 100 เท่า เปลี่ยนเสียงเล็กๆ สู่การพัฒนาเมือง

ภาพ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พูดถึง Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับแจ้งปัญหาเมืองผ่าน LINE

ดร.จันทร์เพ็ญ ครุวรรณ์ จาก นาโนเทค สวทช. สาธิตการใช้ AI ขับเคลื่อนนาโนเซนเซอร์ ในการพัฒนาเครื่องตรวจวัดไมโครพลาสติกอัจฉริยะ ที่จำแนกชนิดพลาสติกจากสีเรืองแสงได้อย่างแม่นยำ

ภาพ ดร.จันทร์เพ็ญ ครุวรรณ์ จาก นาโนเทค สวทช.

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล จาก เอ็นเทค สวทช. อธิบายบทบาทสำคัญของ AI รับมือความท้าทายด้าน Energy Transition โดยใช้ AI พยากรณ์การผลิตพลังงานหมุนเวียนให้แม่นยำขึ้น ช่วยบริหารจัดการ Grid ไฟฟ้าอัจฉริยะ และทำ Predictive Maintenance ให้อุปกรณ์สำคัญ เช่น แบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์สายส่ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานสะอาดในอนาคต

ภาพ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล จาก เอ็นเทค สวทช.

ไกลกว่าที่คิด! AI ไทยติดปีก ‘ดาวเทียม’ ทะยานสู่อวกาศ

คุณสุปิติ บูรณวัฒนาโชค จาก EOS Orbit และ Looloo Technology ฉายภาพอนาคตที่ AI ไทยกำลังทะยานสู่อวกาศ ผ่านดาวเทียมจิ๋วแต่แจ๋วอย่าง “LOGSATS” (CubeSat) ที่พัฒนาโดยคนไทย AI เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ช่วยดูแลสถานีภาคพื้นดินอัจฉริยะ ไปจนถึงการเป็น “สมองกลบนดาวเทียม” (Edge Computing) ช่วยประมวลผลข้อมูล ณ วงโคจร ลดภาระการส่งข้อมูลมหาศาลกลับโลก นี่คืออีกหมุดหมายสำคัญของศักยภาพเทคโนโลยีไทย

ภาพ คุณสุปิติ บูรณวัฒนาโชค จาก EOS Orbit และ Looloo Technology

การถอดรหัสอนาคต AI ไทย ในสัมมนา Decoding Thailand’s AI Future: Strategy for Competitive Edge เวที NAC2025  ชี้ชัดว่า สูตรสำเร็จของ AI ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่อยู่ที่ “แผน” ยุทธศาสตร์ซึ่งต้องคมชัด มุ่งแก้ปัญหาจริงของประเทศ, “คน” ที่ต้องมีทักษะพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง และ “ทีมเวิร์ค” ที่แข็งแกร่งไร้รอยต่อระหว่างภาครัฐ เอกชน เมื่อรหัสสู่ความสำเร็จถูกถอดแล้ว ขั้นต่อไปที่สำคัญยิ่งกว่าคือการ “ลงมือทำ” อย่างจริงจังและผนึกกำลังกัน เพื่อให้ AI กลายเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวทันและแข่งขันได้บนเวทีโลก สวทช. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจนี้

 

ชมคลิปสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://www.nstda.or.th/nac/2025/seminar/nac-01/

11 เม.ย. 2568
0
แชร์หน้านี้: