กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ , ฝ่ายบริหารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิรเมธี (VISTEC) ร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายเฉพาะทางสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี สพฐ. อบจ.ระยอง เทศบาลนครแหลมฉบัง เมืองพัทยา โรงเรียนเอกชน จ.ชลบุรี สนง.ศึกษาธิการ จ.ระยอง และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมส่งน้อง ๆ ระดับชั้น ม. 1 – 3 จำนวน 200 คน จาก 14 โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมค่าย EEC Innovation Youth Camp : เทคโนโลยีเกษตรยุคใหม่ WiMaRC เซนเซอร์เครือข่ายไร้สายและสร้างเซนเซอร์เตือน รดน้ำต้นไม้ด้วยตนเอง และฝึกปฏิบัติการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabLab) ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อีอีซีไอ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ขยะอาหารกับภาวะโลกร้อน ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง นอกจากนั้น ยังได้ เยี่ยมชม โรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) , ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน EECi และ โรงเรือนเทคโนโลยีขยะเพิ่มทรัพย์ (C-ROS) Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash ,VISTEC
ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สายงานเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สวทช.นางสาวสุภาภรณ์ ศรอำพล ผอ.ฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และ ทีมนักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ ถ่ายภาพร่วมกับคณะครูและนักเรียน |
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน ได้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEAM Education) และเตรียมกำลังคนให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC ได้ต่อไป
|
เทคโนโลยีเกษตรยุคใหม่ WiMaRC เซนเซอร์เครือข่ายไร้สาย โดย คุณมนตรี แสนละมูล นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบและเครือข่ายอัจฉริยะ , NECTEC |
“ไวมาก” เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ของเนคเทคที่รวมเทคโนโลยี IoT Cloud Platform ของ NETPIE และบอร์ดสมองกล เข้าด้วยกัน เป็นตัวช่วยในการมอนิเตอร์และควบคุมสภาวะที่มีผลต่อการทำเกษตรกรรม โดยจะทำการจัดเก็บ จัดการข้อมูล อย่างเป็นระบบเพื่อให้เกษตรกรจัดการแปลงเพาะปลูกได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและเหมาะสม ไวมาก “WiMaRC” ย่อมาจาก Wireless sensor network for Management And Remote Control คือ ระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ ได้มีการนำไปใช้จริงในพื้นที่เกษตรสวนทุเรียนในจังหวัดระยอง
|
ในส่วนของกิจกรรมสร้างเซนเซอร์เตือนรดน้ำต้นไม้ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร ผ่านกิจกรรมจาก “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)” ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงาน โดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “กระบวนการสร้างชิ้นงานจากเครื่องตัดเลเซอร์” ผ่านการสร้างชุดเซนเซอร์แจ้งเตือนรดน้ำต้นไม้ เรียนรู้การต่อวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย และรู้จักพืชจิ๋วไมโครกรีนที่ให้วิตามินสูง ปลูกง่าย และดีต่อสุขภาพ โดยเริ่มจากทำความรู้จักกับเครื่องตัดเลเซอร์ ต่อมาเป็นการวาดรูปด้วยโปรแกรม Inkscape เพื่อเปลี่ยนไอเดียของตนเอง ให้กลายเป็นเส้นร่างหรือเส้นเวกเตอร์ แล้วจึงนำไปตัดด้วยเครื่องตัดเลเซอร์ จากนั้นนำไปประกอบเข้ากับเซนเซอร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นชุดเซนเซอร์แจ้งเตือน รดน้ำต้นไม้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
กิจกรรมสถานการณ์ขยะ..สู่วิกฤตขยะอาหาร วิทยากรโดย ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิรเมธี ดร.ภานุ พิมพ์วิริยะกุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.ชัชฎาภรณ์ พิณทอง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ |
กิจกรรม รู้จักขยะอาหาร (Food waste) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มขยะอินทรีย์ ซึ่งมีปริมาณมากถึง 64% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด โดยขยะอินทรีย์มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ (มีธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลัก ๆ คือคาร์บอน ไนโตรเจน ไฮโดรเจน และออกซิเจน) ที่สามารถย่อยสลายได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ หากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นจากการเน่าเสีย และส่งผลต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าขยะประเภทอื่นๆ โดยทางทีมนักวิจัยจาก VISTEC มีต้นแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาและการจัดการขยะอาหารด้วยการนำมาแปรรูปเปลี่ยนเป็นพลังงาน (Recovery) โดยนำเศษอาหารเหลือทิ้งมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์แบบไร้ออกซิเจน (Anaerobic digestion) ในถังหมักระบบปิด และได้ผลผลิตเป็นแก๊สมีเทน ซึ่งเป็นแก๊สที่นำมาใช้เป็นพลังงงานในการหุงต้มแทนแก๊ส LPG ได้ และได้น้ำหมักที่เกิดจากการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์นำมาเป็นสารบำรุงพืชชีวภาพในรูปแบบของเหลวได้ต่อไปด้วย
เด็กหญิงกชพร แก้วแปงจันทร์ ระดับชั้น ม.2 โรงเรียนกวงฮั้ว จ.ระยอง เล่าว่า กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือการออกแบบลวดลายบนแผ่นอะคริลิก มีโอกาสได้ใช้เครื่องเลเซอร์คัตเตอร์ และได้ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการออกแบบงานศิลปะควบคู่ไปด้วยกัน ได้รับความรู้และสนุกมาก ในอนาคตอยากมาเข้าร่วมกิจกรรมอีก และอยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือการควบคุมโดยใช้หุ่นยนต์ | เด็กหญิงพิชญา พูลพิพัฒน์ ระดับชั้น ม.3 โรงเรียนกอัสสัมชัญ จ.ระยอง บอกถึงความประทับใจที่ได้มาทำกิจกรรมเป็นการเปิดโลกใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ได้มาที่ สถาบันวิทยสิริเมธี เห็นถึงความเจริญ ความพัฒนาของที่นี่ ประทับใจอย่างสอง คือตอนที่ได้ไปเดินชมตึก อาคารสถานที่ เป็นการเปิดโลกมาก ทำให้ทราบว่ามีสถานที่นี่อยู่ในจังหวัดตัวเองด้วย และความประทับใจในเรื่องกิจกรรม กิจกรรมดีทุกอย่าง ได้ความรู้ระยะเวลาเหมาะสมมาก วิทยากรนำเสนอและสอนได้ดีมาก |